xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีที่ไปแล้ว! เซเลนสกีแบะท่ายังพร้อมทำข้อตกลงแร่ธาตุกับสหรัฐฯ แต่พันธมิตรทรัมป์ ‘ยัวะ’ กดดันยูเครนหาผู้นำคนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ของสหราชอาณาจักร โปรดเกล้าฯ ให้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักซานดริงแฮม ในนอร์โฟล์ก ทางตอนเหนือของแคว้นอิงแลนด์ เมื่อวันอาทิตย์ (2 มี.ค.) เหตุการณ์นี้ถูกตีความกันว่า เป็นการปลอบขวัญเซเลนสกี หลังจากเขาผ่านการปะทะคารมที่ทำเนียบขาวซึ่งทำให้จิตตกอย่างแรงมาในวันศุกร์ (28 ก.พ.)
เซเลนสกี แสดงความเชื่อว่ายังสามารถปรับความสัมพันธ์กับทรัมป์ได้ และตอนนี้พร้อมแล้วที่จะทำข้อตกลงเรื่องแร่ธาตุกับอเมริกา ขณะที่เหล่าพันธมิตรของทรัมป์ในวอชิงตันออกมากดดันหนักให้ผู้นำยูเครนคนนี้ลาออก

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (2 มี.ค.) ขณะอยู่ในกรุงลอนดอนเพื่อร่วมประชุมกับเหล่าผู้นำยุโรป โดยย้ำท่าทีเดิมว่า ยูเครนจะไม่ยอมยกดินแดนให้รัสเซียเพื่อแลกกับข้อตกลงสันติภาพ

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (28 ก.พ.) เซเลนสกี ได้เดินทางไปเยือนทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน โดยเหตุผลหลักอย่างเป็นทางการคือเพื่อลงนามข้อตกลงร่วมสำรวจแหล่งแร่ธาตุของยูเครนกับอเมริกา ทว่าในการประชุมพิเศษที่มีการถ่ายทอดสดจากทำเนียบขาว กลับเกิดการโต้เถียงกันอย่างดุเดือด ระหว่างเขา กับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ ของสหรัฐฯ โดยทรัมป์กล่าวตำหนิเซเลนสกีว่า ไม่สำนึกบุญคุณความช่วยเหลือจากอเมริกาและไม่เคารพต่ออเมริกา อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมา โดยไม่ยอมเข้าร่วมการสร้างสันติภาพ ซึ่งอเมริกากำลังทำตัวเป็นคนกลาง ด้วยการจัดประชุมหารือโดยตรงกับทางรัสเซีย ชนิดที่ไม่มียูเครนหรือทางยุโรปเข้าร่วม

ถึงแม้เขาได้รับการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น ระหว่างการประชุมกับพวกผู้นำยุโรปที่กรุงลอนดอนเมื่อวันอาทิตย์ แต่เห็นชัดว่าเซเลนสกียังคงพยายามที่จะเกาะเกี่ยวรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เอาไว้ให้ได้ กระทั่งภายหลังเกิดเหตุการณ์ชวนตกใจในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ ด้วยการประกาศชัดเจนว่า เขายังคงต้องการหารือกับวอชิงตันต่อไป

เขาบอกว่า ไม่คิดว่า อเมริกาจะยุติการช่วยเหลือยูเครน เนื่องจากด้วยตำแหน่งผู้นำโลกอารยะ อเมริกาจะไม่ต้องการช่วยเหลือประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก่อนสำทับว่า เขาพร้อมรับผลลัพธ์ใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น

เซเลนสกียังคาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับทรัมป์จะยังดำเนินต่อไป และเขายังคงยินดีลงนามข้อตกลงแร่ธาตุกับอเมริกา และเชื่อว่า อเมริกาก็พร้อมเช่นเดียวกัน

ทรัมป์นั้นมองว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นวิธีที่ยูเครนจะจ่ายคืนความช่วยเหลือหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่อเมริกามอบให้ในการทำสงครามกับรัสเซีย แต่พิธีลงนามข้อตกลงนี้ซึ่งจัดเตรียมเอาไว้แล้ว กลับล่มลงจากการปะทะคารมที่ห้องทำงานรูปไข่ และจากนั้นทำเนียบขาวก็ประกาศยกเลิกพิธี พร้อมกับเชิญเซเลนสกีและคณะให้ออกจากทำเนียบขาวไป โดยที่ทรัมป์บอกว่า พร้อมเชิญเซเลนสกีกลับมาใหม่ เมื่อผู้นำยูเครนมีความต้องการสันติภาพแล้ว

อย่างไรก็ดี แม้ไม่อยากบาดหมางกับอเมริกามากขึ้นอีกและระบุว่าเขาก็ต้องการข้อตกลงให้มีการหยุดยิงในยูเครน แต่เซเลนสกียืนกรานว่า จะไม่ยอมยกดินแดนให้รัสเซีย เวลาเดียวกันก็ยังหวังว่า ยูเครนจะได้รับการรับประกันความมั่นคง โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ เพื่อป้องกันรัสเซียยกทัพกลับไปรุกรานอีกในอนาคต

เขาเสริมว่า มีการติดต่อระหว่างเคียฟกับวอชิงตันหลังจากเกิดเรื่องในทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ แต่ไม่ใช่ระดับผู้นำ พร้อมยืนยันว่า ตนเองจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจุดยืนและจะไม่ลาออกตามที่มีกระแสกดดันอยู่ขณะนี้

เซเลนสกีระบุว่า การปลดตนเองออกจากตำแหน่งจะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเข้าอ้างอิงสถานการณ์ปัจจุบันและการสนับสนุนที่ตนเองได้รับ ทั้งยังบอกอีกว่า แม้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ ตนก็จะลงสมัครอีก อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า พร้อมถอนตัวถ้าเป้าหมายในการทำให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประสบความสำเร็จ

ทว่า ทรัมป์ประกาศชัดเจนตั้งแต่เดือนที่แล้วว่า ยูเครนควรลืมเรื่องเข้าเป็นสมาชิกนาโต เพราะเขาคิดว่า เรื่องนี้เป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามขึ้นในยูเครน ซึ่งตรงกับที่รัสเซียพูดมาตลอดว่า การที่นาโตขยายชาติสมาชิกมาทางตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สงครามเย็นยุติลง และทำท่ายอมรับพวกชาติที่เคยใกล้ชิดกับรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก โดยเฉพาะยูเครน เป็นแผนการของฝ่ายตะวันตกที่มุ่งหวังทำลายรัสเซีย ซึ่งรัสเซียจะต้องต่อสู้ต้านทานเพื่อความอยู่รอดของตนเอง และนี่เป็นเหตุผลหลักที่รัสเซียยกทัพบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022

ในอีกด้านหนึ่ง ภายหลังการปะทะคารมในทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ พวกผู้นำรีพับลิกันที่เป็นพันธมิตรของทรัมป์หลายคนเสนอแนะว่า เซเลนสกีต้องลาออก

ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นในวันอาทิตย์ว่า อเมริกาต้องการผู้นำยูเครนที่คุยกันรู้เรื่อง รวมทั้งคุยกับรัสเซียและทำให้สงครามยุติลงได้ ซึ่งถ้าเห็นได้ชัดเจนว่า แรงจูงใจส่วนตัวและแรงจูงใจทางการเมืองของเซเลนสกีนั้นเบี่ยงเบนไปจากการยุติสงครามในยูเครน เขาคิดว่า นั่นคือปัญหาอย่างแท้จริง

ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตั้งคำถามว่า ควรรอให้เซเลนสกีจะได้สติและกลับสู่โต๊ะเจรจาด้วยความซาบซึ้งในความช่วยเหลือของอเมริกา หรือว่ายูเครนควรหาผู้นำใหม่ดีกว่า

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น