(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Tech bros back in
China’s official spotlight as Jack Ma meets Xiby Yong Jian
22/02/2025
กล่าวกันว่าปักกิ่งกำลังใช้ แจ็ก หม่า และ “6 มังกรน้อยแห่งหางโจว” มาบอกกล่าวกับพวกนักลงทุนต่างประเทศว่า จีนยิ้มแย้มยินดีต้อนรับพวกบริษัทเทคทั้งหลายแล้วในเวลานี้
แจ็ก หม่า อดีตผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบากรุ๊ป ที่หายหน้าหายตาในลักษณะเหมือนถูกเนรเทศออกไปจากสังคมจีนมาระยะหนึ่ง ได้ออกมาปรากฏตัวในงานประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเร็วๆ นี้ เรื่องนี้ได้รับการตีความว่าคือการที่ปักกิ่งมุ่งส่งสัญญาณเน้นย้ำแสดงความแน่วแน่ที่จะใช้พวกเทคโนโลยีซึ่งอุดมด้วยนวัตกรรม มาประคับประคองความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมังกร
หลังจากบีบบังคับให้ แอนต์ กรุ๊ป (Ant Group) กิจการด้านการเงินในเครือของอาลีบาบา ต้องยกเลิกการเสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (initial public offering หรือ IPO) ที่ฮ่องกงในเดือนพฤศจิกายน 2020 ปักกิ่งก็ใช้เวลาราวๆ 1 ปีครึ่งถัดจากนั้นในการจัดระเบียบตรวจสอบควบคุมภาคอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น
พวกแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึง โต่วอิน (Douyin) , ไคว่โส่ว (Kuaishou), อาลีบาบา, และ เทนเซนต์ (Tencent) ล้วนแล้วแต่เผชิญกับการถูกคุมเข้มกฎระเบียบ ขณะที่พวกแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิแรงงาน ส่วนพวกบริษัทแอปเรียกรถก็ถูกปรับด้วยความผิดฐานเก็บรวบรวมข้อมูลยูสเซอร์อย่างผิดกฎหมาย
ระหว่างระยะเวลาเหล่านี้ มหาเศรษฐีหม่าไปพำนักในกรุงโตเกียวพร้อมกับครอบครัวของเขา, หรือไม่ก็พบปะเจอะเจอเพื่อนฝูงบนเรือยอชต์หรูหราของเขาในยุโรป, ตลอดจนไปเยี่ยมชมพวกบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรในทั่วโลก
ในเดือนมิถุนายน 2022 หลี่ เต้าขุย (Li Daokui) อดีตที่ปรึกษาของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China ซึ่งคือ แบงก์ชาติของแดนมังกร) ออกมากล่าว [1] ว่า การกวดขันควบคุมเหล่ายักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจีนทั้งหลาย ถึงตอนนั้นถือว่ายุติลงโดยพื้นฐานแล้ว
เขาอธิบายว่าที่มีการบีบคั้นให้ยกเลิกแผนการไอพีโอของ แอนต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2020 นั้น เป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลทางการเมือง สืบเนื่องจากพวกผู้นำของจีนรู้สึกช็อกเมื่อเห็นชื่อของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนมากปราฏอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทแห่งนั้น
ในเดือนมีนาคม 2023 มีรายงานว่า หม่า ได้เดินทางกลับมาประเทศจีนภายหลังการเนรเทศตัวเอง ในเดือนกรกฎาคม 2024 เขาไปกล่าวปราศรัยที่สำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา กรุ๊ป ในเมืองหางโจว
ผู้สังเกตการณ์บางคนกล่าวว่า การ “เนรเทศตัวเอง” ในช่วงตั้งแต่ปลายปี 2020 จนถึงต้นปี 2023 เช่นนี้ของหม่า แสดงให้เห็นการที่ สี มีทัศนคติในทางลบต่อพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตจีน ตลอดจนบริษัทเอกชนจำนวนมาก พวกเขามองว่ามาถึงตอนนี้ ปักกิ่งกำลังพยายามใช้ หม่า และกลุ่มผู้นำภาคบริษัทเอกชนที่ตั้งฐานอยู่ในหางโจว มาป่าวประกาศแก่โลกภายนอกว่า จีนมีความยินดีต้อนรับบรรดาบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย
การส่งสัญญาณเช่นนี้ของทางการจีน ส่งผลให้หุ้นของอาลีบาบา ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง พุ่งพรวดขึ้นไป 138.5 ดอลลาร์ฮ่องกง (หรือ 17.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อหุ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ สูงขึ้น 11.6% จาก 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น หุ้นของเทนเซนต์ก็กระโจนขึ้น 8.9% มาอยู่ที่ 517 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้น พร้อมกันนั้น หุ้นของ ไคว่โส่ว เทคโนโลยี สูงขึ้น 9.2% มาอยู่ที่ 58.4 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหุ้นในระยะเวลาเดียวกันนี้
“การประชุมสัมมนาใหญ่คราวนี้ ของ สี มีความสำคัญอย่างยิ่ง” เป็นความเห็นของคอลัมนิสต์ชาวจีนที่ใช้นามปากกาว่า “เฟิงเย่” (Fengye แปลว่า ใบเมเปิล Maple Leaf) กล่าวเช่นนี้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่ง [2] ซึ่งเผยแพร่ทาง เจิ้งซ่าง ชันเย่ (Zhengshang Canyue) ที่ตั้งฐานอยู่ในปักกิ่ง ผู้เขียนผู้นี้กล่าวต่อไปว่า
การพัฒนาของภาคเศรษฐกิจเอกชนในยุคใหม่นี้ และในการเดินทางครั้งใหม่ มีลู่ทางอนาคตที่กว้างขวางและศักยภาพอันมหาศาล ภายหลังการเลือกตั้งในสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกอยู่ในอาการปั่นป่วนผันผวนอย่างต่อเนื่อง และพวกบริษัทยุโรปตลอดจนบริษัทอเมริกันจำนวนมากก็อยู่ในสภาพอลหม่านวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทจีนมุ่งโฟกัสอยู่ที่เทคโนโลยีซึ่งอุดมด้วยนวัตกรรมและล้ำสมัย และคอยเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ
การทำงานได้อย่างสูงล้ำของพวกโมเดลปัญญาประดิษฐ์ของจีนทำให้โลกตื่นตาตื่นใจ, พวกหุ่นยนต์ของจีนเริงระบำได้อย่างน่าทึ่งในรายการแสดงฉลองฤดูใบไม้ผลิ (Spring Festival คำเรียกเทศกาลตรุษจีนอย่างเป็นทางการของแดนมังกรในปัจจุบัน -ผู้แปล), และยานยนต์ไฟฟ้าจีนก็ค่อยๆ ชนะใจได้รับความสนับสนุนในตลาดระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยคุณภาพและการทำงานอันยอดเยี่ยม”
เขากล่าวต่อไปว่า เป็นเรื่องดีมากที่มี แจ็ก หม่า เข้าร่วมงานประชุมสัมมนาใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจาก หม่า เป็น ไอคอนที่เป็นตัวแทนกิจการอินเทอร์เน็ตจีนกลุ่มแรกๆ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น และวางรากฐานอันแข็งแรงให้แก่การผงาดขึ้นตามมาของพวกบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัปจำนวนมาก
นอกจากนั้น เขาชี้ว่า การหวนกลับมาจีนของ หม่า ยังสามารถตีความได้ว่า มหาเศรษฐีผู้นี้ไม่ได้ค้นพบพวกโปรเจ็คต์ในต่างแดนใดๆ ซึ่งสามารถดึงดูดเขาได้อย่างอยู่หมัด ทว่าเขากลับมองเห็นลู่ทางความเป็นไปได้ของการเติบโตอย่างเข้มแข็งในภาคเทคโนโลยีของจีน โดยเฉพาะภายหลังจากที่ “6 มังกรน้อยในหางโจว” (Six Little Dragons in Hangzhou) ปรากฏตัวขึ้นมา
6 มังกรน้อย
ตามรายงานของพวกสื่อจีน 6 มังกรน้อยในเมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย ดีปซีค (DeepSeek), ยูนิทรี โรบอติกส์ (Unitree Robotics), เกม ไซแอนซ์ (Game Science), ดีป โรบอติกส์ (Deep Robotics), เบรน-คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เฟซ หรือ บีซีไอ (Brain-Computer Interface หรือ BCI), และ แมนีคอร์ เทค (Manycore Tech)
ดีปซีค ก่อตั้งโดย เหลียง เหวินเฟิง (Liang Wenfeng) บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) เมื่อเดือนธันวาคม 2023 ในวันที่ 20 มกราคมปีนี้ บริษัทแห่งนี้ได้เปิดตัว ดีปซีค-อาร์ 1 (DeepSeek-R1) ซึ่งภายในเวลาไม่กี่วันก็แซงหน้า แชตจีพีที (ChatGPT) ขึ้นเป็นอันดับ 1 บนชาร์ตดาวน์โหลดแอปฟรีในสหรัฐฯ
ขณะที่ หางโจว อี้ว์ซู่ เทคโนโลยี (Hangzhou Yushu Technology) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่า ยูนิทรี ก่อตั้งขึ้นโดย หวัง ซิงซิง (Wang Xingxing) ในปี 2016 ทั้งนี้ หุ่นยนต์เต้นระบำของบริษัทได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง ณ รายการแสดงฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิของสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (China Central TV หรือ CCTV) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา
สำหรับ เกม ไซแอนซ์ เป็นบริษัทผู้พัฒนาวิดีโอเกมสัญชาติจีน ที่ก่อตั้งขึ้นโดย เฝิง จี้ (Feng Ji) และ หยาง ฉี (Yang Qi) ในปี 2014 (เกม ไซแอนซ์ เป็นที่รู้จักโด่งดังจากผลงานเกมเรื่อง แบล็กมิธ: อู้คง Black Myth: Wukong -ผู้แปล)
ส่วน ดีป โรบอติกส์ ก่อตั้งร่วมกันโดย จู ชิวกั๋ว (Zhu Qiuguo) และ หลี่ เชา (Li Chao) ในปี 2017
ทางด้าน บีซีไอ ซึ่งมีผลงานในด้านการแปลข้อมูลที่เข้ารหัสไว้ ให้อยู่ในฟอร์แมตที่สามารถเข้าใจได้ในทันที (real-time thought decoding), การควบคุมหุ่นยนต์, และกระบวนการสมอง-เครื่องจักรวิวัฒนาการไปด้วยกัน (brain-machine co-evolution) ก่อตั้งขึ้นโดย หาน ปี้เฉิง (Han Bicheng) ในปี 2015
และ แมนีคอร์ เทค บริษัทผู้จัดทำ ซอฟต์แวร์ ดีไซน์ 3 D ร่วมก่อตั้งขึ้นมาโดย 3 ผู้สำเร็จการศึกษาชาวจีนจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญ (University of Illinois Urbana-Champaign) ในปี 2011
หวัง ปิน (Wang Bin) คอลัมนิสต์ที่เขียนเผยแพร่อยู่ในบัญชีสื่อสังคมของหนังสือพิมพ์เจ้อเจียงเดลี่ (Zhejiang Daily) เขียนเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งว่า “การประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ของ สี คราวนี้ ทำให้ไฟสปอตไลต์สาดแสงจรัสจ้ามาที่เจ้อเจียง เนื่องจากมณฑลแห่งนี้มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีมาก”
“เจ้อเจียงคือสถานที่ซึ่งอุดมไปด้วยคุณสมบัติความดีงามแห่งความเป็นมนุษย์ ทุกๆ คนสามารถรู้สึกเรื่องนี้ได้ในการทำงานและการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่” หวัง บอก “เมื่อสถานที่แห่งนี้มีสภาพเหมือนกับเป็นอู่ที่คอยฟูมฟักและปกป้องคุ้มครองผู้คน มันก็เป็นเรื่องง่ายดายมากขึ้นที่สถานที่แห่งนั้นจะสามารถรักษาผู้คนและธุรกิจต่างๆ ให้ยังคงปักหลักอยู่ ณ ที่แห่งนั้น”
ตั้งแต่ยุติกฎระเบียบเกี่ยวกับโควิดของตนไปในตอนต้นปี 2023 แล้ว จีนก็ต้องประสบกับระลอกคลื่นแห่งเงินทุนไหลออกไปจากประเทศ นักเศรษฐศาสตร์บางรายให้ความเห็นว่ามีสาเหตุมาจากการบริโภคภายในจีนอยู่ในภาวะอ่อนแอ, ความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐฯกับจีน, และอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงในสหรัฐฯ
ตามตัวเลขข้อมูลของสำนักงานบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งรัฐ (State Administration of Foreign Exchange) ยอดการลงทุนโดยตรงต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) สุทธิของจีนได้ลดต่ำลงมา [3] ราว 168,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่แล้ว ถือเป็นการหนีหายของเงินทุนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ทั้งนี้การลงทุนต่างประเทศเข้ามายังจีนขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์โดยอยู่ที่ 344,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2021 ทว่าจากนั้นมีลดต่ำลงเรื่อยมา
ในปี 2024 นั้น พวกนักลงทุนต่างประเทศส่งเงินเข้ามายังประเทศจีนเพียงแค่ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ขณะที่พวกกิจการของจีนนำเงินไปลงทุนในต่างแดนเป็นจำนวน 173,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สืบเนื่องจากความตึงเครียดที่ขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐฯกับจีน พวกบริษัทระหว่างประเทศจำนวนมากได้นำเอายุทธศาสตร์ที่เรียกกันว่า “จีนบวกหนึ่ง” (China-plus-one) มาใช้ นั่นคือจะทำการลงทุนไม่เฉพาะในจีนเท่าน้น และยังในสถานที่อื่นๆ อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น พวกบริษัทจีนจำนวนมากเวลานี้ก็กำลังสร้างโรงงานต่างๆ ขึ้นในต่างแดน ด้วยความหวาดกลัวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากประเทศจีน
แผนเอไอของอาลีบาบา
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การรณรงค์เพื่อโน้มน้าวชักชวนพวกกิจการไฮเทคของปักกิ่งคราวนี้ สามารถที่จะช่วยประคับประคองการลงทุนต่างประเทศตลอดจนดึงดูดการลงทุนเพิ่มเข้ามาได้หรือไม่ แต่มันส่งผลอย่างเห็นชัดเจนในการทำให้ราคาหุ้นอาลีบาบาทะยานขึ้นไป
ราคาหุ้นของอาลีบาบายังได้รับแรงสนับสนุนแข็งขัน หลังจากที่ ดิ อินฟอร์เมชั่น (The Information) รายงาน [4] เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ว่า แอปเปิล อิงค์ ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกับอาลีบาบา ในการนำเอาพวกฟีเจอร์ด้านเอไอเข้าไปในเครื่องโทรศัพท์ไอฟน ทั้งนี้ แอปเปิลตั้งเป้าหมายเริ่มเปิดตัวไอโฟนรุ่นที่เติมพลังไอเอของบริษัทในประเทศจีนในเดือนพฤษภาคมนี้
ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เอ็ดดี้ อู๋ (Eddie Wu) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาลีบาบา กล่าว [5] ในการแถลงกับพวกนักลงทุนผ่านทางออนไลน์ว่า ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (artificial generative intelligence หรือ AGI) คือสิ่งที่อยู่ตรงส่รวนแกนกลางแห่งยุทธศาสตร์เอไอของบริษัท เขาบอกว่าบริษัทจะทุ่มลงทุนอย่างหนักๆ ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเอไอ, พวกโมเดลรากฐาน, และการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจโดยอาศัยพลังเอไอ ในระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป
ทางด้าน ยูริซอน แคปิตอล (Eurizon Capital) หนึ่งในบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป กล่าวเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งว่า นักลงทุนทั้งหลายควรที่จะมีทัศนะในทางบวกเกี่ยวกับหลักทรัพย์จีน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ดังนี้
**ในประเทศจีนมีการผ่อนคลายด้านกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา นับตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2023
**ความสามารถที่ดีเยี่ยมของอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีของจีนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นจากการได้เปรียบดุลการค้าซึ่งขยายตัวมากขึ้นอีกในปี 2024 และการผงาดขึ้นมาของ ดีปซีค ในระยะไม่นานมานี้
**ภาคอสังหาริมทรัพย์และอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภคกำลังเข้าสู่ภาวะมีเสถียรภาพ
**พันธบัตรและเงินตราของจีนมีความหยุ่นตัว
พวกนักวิเคราะห์ของ ยูริซอน บอกว่านับตั้งแต่ปลายปี 2023 เป็นต้นมา บรรยากาศทางการเมืองและด้านนโยบายของปักกิ่งมีการปรับเปลี่ยนออกห่างมาจากท่าทางมุ่งลงโทษเอาผิดกับภาคเอกชนกันแรงๆ ที่เริ่มใช้ในช่วงฤดูร้อนของปี 2021 และเรื่อยมาต่อจากนั้น โดยหันมาใช้จุดยืนที่มุ่งผลในทางปฏิบัติและเป็นมิตรกับตลาดมากยิ่งขึ้น
พวกเขากล่าวเสริมด้วยว่า ขณะที่ระดับราคาของพวกหลักทรัพย์จีนไม่ได้แพงอะไรเลย แต่โลกก็ยังคงให้น้ำหนักกับหลักทรัพย์เหล่านี้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากกลายเป็นพวกที่มีความคิดจิตใจแบบ ABC ซึ่งย่อมาจาก “anything but China” (อะไรก็ได้ยกเว้นจีน)
มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) บางรายกล่าว [6] ว่า เป็นการฉลาดหลักแหลมทีเดียวสำหรับจีนที่หันมาเน้นหนักเชิดขูภาคเทคโนโลยีของตัวเอง ซึ่งกำลังมีผลประกอบการที่ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ กระนั้นพวกเขาก็มองโลกในแง่ร้ายอยู่ดีว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้มีหวังจะเร่งรัดให้พวกสายเหยี่ยวมุ่งเล่นงานจีนในสหรัฐฯ มุ่งผลักดันให้ดำเนินการแซงก์ชั่นพวกสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยีของจีน
หย่ง เจี้ยน เป็นผู้ร่วมเขียนรายงานข่าวส่งให้แก่เอเชียไทมส์ เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนที่ชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องเทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, และการเมืองของจีน
เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2022/06/ant-ipo-revival-may-signal-end-of-tech-clampdown/
[2] https://baijiahao.baidu.com/s?id=1824386675788083259&wfr=spider&for=pc
[3] https://finance.yahoo.com/news/china-record-foreign-investment-outflow-102033913.html
[4] https://www.theinformation.com/articles/apple-partners-with-alibaba-to-develop-ai-features-for-iphone-users-in-china
[5] https://uk.finance.yahoo.com/news/alibabas-ai-ambitions-wu-says-112326312.html
[6] https://www.youtube.com/watch?v=Wdc3TJtf_HY
หมายเหตุผู้แปล
การประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่อ้างอิงอยู่ในข้อเขียนชิ้นนี้ จัดขึ้นอย่างเป็นการภายในไม่ได้ให้คนนอกรับฟัง ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ โดยที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานข่าวเรื่องนี้เอาไว้ ดังนี้:
ประธานาธิบดีสีของจีนจัดประชุมหารือแบบนานทีปีหนกับพวกผู้นำภาคธุรกิจแดนมังกร ท่ามกลางการแข่งขันชิงชัยทางด้านเทคกับสหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
China's Xi holds rare meet with business leaders amid US tech rivalry
By Reuters
17/02/2025
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน จัดการพบปะหารือกับพวกบิ๊กเนมทรงอิทธิพลที่สุดในภาคเทคโนโลยีของจีนบางราย เป็นต้นว่า แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ชนิดที่นานๆ จะจัดขึ้นสักครั้งหนึ่ง เมื่อวันจันทร์ (17 ก.พ.) ที่ผ่านมา โดยเน้นหนักเร่งเร้าให้ผู้ประกอบการคนสำคัญในภาคเอกชนเหล่านี้ “แสดงความรู้ความสามารถของพวกเขา” รวมทั้งมีความเชื่อมั่นในพลังอำนาจของโมเดลการพัฒนาของจีนและตลาดจีน
การจัดการชุมนุมหารือเพื่อเชิดชูส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนแบบที่มีการวางแผนจัดวางกรอบเอาไว้ล่วงหน้าอย่างเคร่งครัดคราวนี้ ถือเป็นการหันหัวเลี้ยวกลับในแบบแผนวิธีการที่ปักกิ่งนำมาใช้กับพวกยักษ์ใหญ่เทคแดนมังกร ภายหลังตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเอาแต่คอยมุ่งหน้าควบคุมให้พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
เวลาเดียวกันนั้น มันยังเป็นการสะท้อนถึงความวิตกกังวลของพวกผู้วางนโยบายของจีนต่อภาวะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว และต่อการที่สหรัฐฯพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในการจำกัดสกัดกั้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีของแดนมังกร พวกนักวิเคราะห์หลายรายกล่าวให้ความเห็นเช่นนี้
ความเคลื่อนไหวของสี ในการจัดชุมนุมเหล่าผู้นำภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งรวมไปถึงพวกที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันน่าตื่นตาตื่นใจถึงแม้เผชิญแรงบีบคั้นขัดขวางสหรัฐฯในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ยังเป็นการตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมจากภาคเอกชนต่อการที่แดนมังกรจักสามารถยืนหยัดเดินหน้าในทางเทคโนโลโลยีต่อไปได้อีกด้วย นักวิเคราะห์เหล่านี้บอก
“มันเป็นการยอมรับรู้อย่างเป็นนัยๆ ว่า รัฐบาลจีนนั้นจำเป็นต้องมีกิจการภาคเอกชนในการออกศึกแข่งขันด้านเทคกับสหรัฐฯ” เป็นคำกล่าวของคริสโตเฟอร์ เบดดอร์ (Christopher Beddor) รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านจีน ของ กาเวคัล ดราโกโนมิกส์ (Gavekal Dragonomics) ในฮ่องกง
“รัฐบาลจีนไม่มีทางเลือกอื่นหรอก นอกจากต้องให้ความสนับสนุนพวกเขา ถ้าหากต้องการที่จะแข่งขันชิงชัยกับสหรัฐฯ” เขากล่าวต่อ
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนในจีน ซึ่งภายในประเทศต้องแข่งขันกับพวกรัฐวิสาหกิจต่างๆ ยังคงสามารถกลายเป็นผู้เสียภาษีสร้างรายได้ให้ภาครัฐเป็นจำนวนสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเงินภาษีทั้งหมดที่รัฐจัดเก็บได้ในแต่ละปี, รวมทั้งเป็นผู้สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า 60%, และเป็นผู้สร้างนวัตกรรมด้านเทคถึงราว 70% ตัวเลขประมาณการของทางการระบุเอาไว้เช่นนี้
เวลานี้ สหรัฐฯในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังใช้คำขู่ขึ้นภาษีศุลกากรมาสร้างแรงบีบคั้นมากยิ่งขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่างประเทศจีน ซึ่งก็อยู่ในอาการยากลำบากอยู่แล้วจากการที่การบริโภคภายในประเทศกำลังอ่อนปวกเปียกลงมาก อีกทั้งมีวิกฤตการณ์หนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคอยเป็นตัวบ่อนทำลายเสถียรภาพ
เหลียง เวินเฟิง (Liang Wenfeng) ผู้ก่อตั้ง ดีปซีค (DeepSeek) สตาร์ทอัปที่กำลังกลายเป็นภัยคุกคามสร้างความหวั่นผวาให้แก่โมเดลการทุ่มเทลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของอเมริกัน ด้วยการใช้โมเดลทางเอไอซึ่งใช้ต้นทุนต่ำกว่ากันมาก ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาใหญ่เป็นการภายในครั้งนี้ด้วย แหล่งข่าว 2 รายที่คุ้นเคยกับการหารือคราวนี้บอกกับรอยเตอร์
สี นัดประชุมสัมมนาใหญ่คราวนี้ที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง สถานที่เดียวกับที่เขาเคยใช้จัดการพบปะทำนองเดียวกันนี้เมื่อปี 2018 ระหว่างช่วงทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันของทรัมป์
การแสดงความเห็นของ สี ซึ่งพวกสื่อภาครัฐของจีนได้สรุปย่อนำมารายงานภายหลังเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ได้เน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนยังคงอยู่ในลักษณะของการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่เขากล่าวด้วยว่า ภาคธุรกิจเอกชนมี “ลู่ทางอันกว้างขวางและความเป็นไปได้อันใหญ่หลวง” สำหรับการสร้างความมั่งคั่งและการสร้างโอกาส
ธรรมาภิบาลของจีน และขนาดที่ใหญ่โตของตลาดจีน ทำให้ภาคเอกชนจีนมีความได้เปรียบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว สำหรับการพัฒนาพวกอุตสาหกรรมใหม่ๆ สี กล่าว
“เป็นเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับธุรกิจภาคเอกชนและพวกผู้ประกอบการภาคเอกชนส่วนข้างมาก ที่จะแสดงให้เห็นความรู้ความสามารถของพวกเขา” สื่อภาครัฐจีนอ้างคำพูดของ สี จากคำปราศรัย ณ งานประชุมสัมมนาใหญ่ครั้งนี้ ที่สื่อพวกนี้ระบุว่าเป็น “คำปราศรัยสำคัญ”
ขณะที่ภาพแรกๆ ที่สื่อภาครัฐนำออกมาเผยแพร่ แสดงให้เห็น สี กำลังพูดกับพวกผู้บริหารภาคเอกชนที่ตั้งแถวทั้งจากด้านหลังและบริเวณด้านหน้า รอคอยการสัมผัสมือทักทายกับเขา ภาพเหล่านี้ทำให้พวกนักลงทุนเร่งสาละวนระบุตัวกันจ้าละหวั่นว่า ในหมู่ผู้นำภาคธุรกิจระดับท็อป ใครบ้างที่อยู่ในห้องประชุม และใครที่ดูเหมือนขาดหายไป
จากภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย และ หวัง ฉวนฝู (Wang Chuanfu) ของ บีวายดี ได้นั่งอยู่ในแถวหน้า ประจันหน้าโดยตรงกับ สี ซึ่งถือเป็นที่นั่งของผู้ทรงเกียรติ ทั้งนี้น่าจะสืบจากการที่พวกเขาเป็นผู้นำระดับชาติในเรื่องการพัฒนาอุปกรณ์การสื่อสาร และในด้านยานยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่หุ้นของ ไป่ตู้ (Baidu) หล่นลงไปกว่า 8% ทำให้บริษัทยักษ์ให้บริการต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตและเอไอรายนี้ กลายเป็นหุ้นตัวที่ราคาตกมากที่สุดในดัชนีหุ้นหั่งเส็งของฮ่องกง ภายหลังจากในภาพและคลิปซึ่งเผยแพร่ออกมาเหล่านี้ไม่ปรากฏผู้บริหารระดับท็อปของกิจการในเครือนี้คนไหนเลย แหล่งข่าว 2 รายที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ก็ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า ทั้งผู้ก่อตั้งของ ไป่ตู้ และ ของ ไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของติ๊กต็อก รวมทั้งเป็นเจ้าของ โต่วอิน แพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นในจีนที่เป็นต้นแบบของติ๊กต็อก ต่างไม่ได้เข้าร่วมการประชุมคราวนี้
“สปุตนิก โมเมนต์” และหุ่นยนต์เริงระบำ
นอกเหนือจากผู้บริหารของ ดีปซีค ซึ่งความสำเร็จในการเจาะทะลุทะลวงด้านเอไอของสตาร์ทอัปแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า เป็น “สปุตนิก โมเมนต์” สำหรับประเทศจีนแล้ว ผู้เข้าร่วมการประชุมคราวนี้คนอื่นๆ ก็มีเรื่องราวความสำเร็จทางธุรกิจในช่วงหลังๆ นี้ ซึ่งเป็นที่เล่าขานของสาธารณชนอย่างกว้างขวางในประเทศจีนเช่นเดียวกัน
(สปุตนิก โมเมนต์ SPUTNIK MOMENT หมายถึงชั่วขณะที่ประเทศหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่งๆ ตระหนักรับรู้ถึงความเป็นจริงที่ว่าตนจำเป็นต้องเร่งไล่ตามให้ทันพัฒนาการทางเทคโนโลยีและทางวิทยาศาสตร์ซึ่งดูเหมือนประเทศอื่นๆ นำหน้าทำได้ไปก่อนแล้ว โดยที่มาของวลีนี้ มาจากเหตุการณ์ที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียม “สปุตนิก 1” ขึ้นโคจรรอบโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปี 1957 โดยที่สหรัฐฯไม่ได้คาดคิดมาก่อน และไม่ทันระวังตั้งตัว ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wiktionary.org/wiki/Sputnik_moment - ผู้แปล)
เป็นต้นว่า เหลย จิว์น (Lei Jun) ซีอีโอที่กลายเป็นคนดังระดับ เซเลบฯ ของเสียวหมี่ ซึ่งผลักดันบริษัทสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเขาเข้าสู่อุตสาหกรรมรถอีวี และ หวัง ซิงซิง (Wang Xingxing) ผู้ก่อตั้งบริษัทยูนิทรี
ในรายการเฉลิมฉลองตรุษจีนซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (ซีซีทีวี) ประจำปีนี้ หนึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมชื่นชอบมากที่สุด ได้แก่ การแสดงของหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์จำนวนหลายสิบตัวของ ยูนิทรี ที่ออกมาแสดงการเต้นระบำได้อย่างพิเศษสุด โดยดูเหมือนมุ่งหมายที่จะขันแข่งกับความพยายามก่อนหน้านี้ของบริษัทเทสลา ของอีลอน มัสก์ จึงได้รับการเชิดชูถือเป็นการอวดโอ่นวัตกรรมซึ่งจีนสามารถสร้างขึ้นมาด้วยตนเอง
ผู้บริหารคนอื่นๆ ที่ปรากฏตัวในการประชุมพบปะครั้งนี้ ยังมี โรบิน เจิง (Robin Zeng) ประธานของ คอมเทมโพแรรี แอมเปอเรกซ์ เทคโนโลยี Contemporary Amperex Technology Co., Limited หรือ CATL บริษัทโรงงานผลิตและผู้นำด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี, หวัง ซิง (Wang Xing) แห่ง เม่ยถวน (Meituan) ยักษ์ใหญ่ด้านการจัดส่งอาหาร, เหลิง โหย่วปิน (Leng Youbin) แห่ง ไชน่า เฟยเหอ (China Feihe) ผู้ผลิตนมผงเลี้ยงทารกรายใหญ่ที่สุดในจีน, และ ผู้ก่อตั้ง วิลล์ เซมิคอนดักเตอร์ (Will Semiconductor) อี๋ว์ เหรินหรง (Yu Renrong) ทั้งนี้ตามวิดีโอที่เผยแพร่ทางซีซีทีวี Chinese dairy
โพนี หม่า (Pony Ma) แห่ง เทนเซนต์ (Tencent) ก็เข้าร่วมการประชุมหารือคราวนี้ด้วยเช่นกัน แหล่งข่าว 2 รายที่คุ้นเคยกับการหารือนี้กล่าว
“อัดฉีดความเชื่อมั่น”
ราคาหุ้นพวกบริษัทเทคจีนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงพุ่งแรงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งจากปัจจัยการมองโลกแง่ดีสืบเนื่องจากการทะลุทะลวงด้านเอไอของ ดีปซีค และจากการที่ทางการแดนมังกรแสดงท่าทีเป็นมิตรกับพวกยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ดัชนีหุ้นเทคโนโลยีของหั่งเส็ง พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 3 ปีทีเดียวในการซื้อขายตอนเช้าวันจันทร์ (17 ก.พ.) แม้ตอนปิดตลาดจะลดต่ำลงมาไม่ถึง 1%
สี นั้นเคยนั่งเป็นประธานของการประชุมสัมมนาใหญ่สำหรับภาคเอกชนที่มีการประโคมข่าวเกรียวกราวแบบนี้หนแรกเมื่อปี 2018 หรือ 6 ปีหลังเขาขึ้นครองอำนาจ ในเวลานั้น เขาให้คำมั่นที่จะลดภาษีและทำให้บริษัทเหล่านี้เข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินได้ง่ายขึ้น
สำหรับการประชุมล่าสุดนี้ เสี่ยวเหยียน จาง (Xiaoyan Zhang) ศาสตราจารย์ด้านการเงินของมหาวิทยาลัยชิงหัว ในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นว่า การพบปะพูดจาครั้งนี้มีความตั้งใจให้เป็นการส่งข้อความในทำนองเดียวกัน โดยครั้งนี้เน้นหนักเกี่ยวกับความสำคัญของภาคเอกชน รวมทั้งเป็นความพยายามที่จะ “อัดฉีดความเชื่อมั่น”
“ดิฉันคิดว่าวัตถุประสงค์ก็คือบอกกับพวกเขาว่าเราต้องการสนับสนุนพวกคุณ เราต้องการพวกคุณให้เพิ่มพูนนวัตกรรม, นวัตกรรมทางเทคโนโลยี, และเราต้องการพวกคุณให้เพิ่มพูนการบริโภค” อาจารย์จางบอกกับรอยเตอร์
ยังมีนักวิเคราะห์หลายรายที่ชี้ว่า การที่ แจ็ก หม่า เข้าร่วมด้วยในคราวนี้ เป็นเรื่องที่มีศักยภาพอย่างมากที่จะช่วยเพิ่มพูนความเชื่อมั่น
(เก็บความจาก https://www.reuters.com/world/china/chinas-xi-attends-symposium-private-enterprises-delivers-speech-2025-02-17/)