อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีคนดังซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ให้เข้ามาคุมภารกิจลดค่าใช้จ่ายสื้นเปลืองของรัฐบาล เอ่ยย้ำคำขู่ "ไล่ออก" เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องให้ส่งอีเมลชี้แจงผลงานตัวเองเมื่อวานนี้ (24 ก.พ.) แม้ว่ารัฐบาล ทรัมป์ จะออกมายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความจำเป็นต้องตอบสนองก็ตาม
สำนักงานบริหารบุคคลแห่งสหรัฐฯ (OPM) แถลงในวันจันทร์ (24) ว่าเจ้าหน้าที่สามารถเพิกเฉยต่ออีเมลที่ มัสก์ ส่งไปถึงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ โดย มัสก์ นั้นขอให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ส่งรายงานสรุปผลงานที่ทำ หรือไม่ก็เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง
คำสั่งดังกล่าวสร้างความสับสนไปทั่วทุกหน่วยงานรัฐ และทำให้คนยิ่งตั้งคำถามถึงอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงของ มัสก์ ในรัฐบาลชุดนี้ว่ามากมายขนาดไหนกันแน่
เมื่อกำหนดเส้นตายใกล้เข้ามา มัสก์ ซึ่งถูก ทรัมป์ มอบหมายให้มาคุมกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ดูเหมือนจะยอมรับกลายๆ ว่าแผนการล่าสุดของเขาท่าจะไปไม่รอด
"การร้องขอผ่านอีเมลเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เนื่องจากมาตรฐานของการผ่านบททดสอบก็แค่พิมพ์คำตอบนิดหน่อยแล้วส่งกลับมา... แต่กระนั้นหลายคนก็ยังไม่ผ่านบททดสอบซึ่งอาจถูกผู้จัดการของพวกเขาร้องขอได้ในบางกรณี" มัสก์ กล่าวผ่าน X
เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า "ภายใต้ดุลพินิจของท่านประธานาธิบดี พวกเขาจะได้รับโอกาสอีกครั้ง หากยังไม่ตอบอีเมลเป็นครั้งที่ 2 จะนำไปสู่การเลิกจ้าง"
ทำเนียบขาวยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประกาศล่าสุดของ มัสก์
ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า มัสก์ รับรู้หรือไม่เกี่ยวกับบันทึกข้อความของ OPM เมื่อวันจันทร์ (24) ที่แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของหน่วยงานต่างๆ ว่า ลูกจ้างทุกคนจะไม่ถูกไล่ออกเพียงเพราะไม่ตอบอีเมลของ มัสก์ และพวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตอบด้วย
OPM ย้ำว่า การตอบอีเมลเป็นเรื่องของความสมัครใจ และยังเตือนให้เจ้าหน้าที่อย่าแชร์ข้อมูลที่เป็นความลับ ข้อมูลเปราะบาง หรือเป็นข้อมูลที่ถูกจัดอยู่ในชั้นความลับของรัฐบาลผ่านคำตอบของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจารณ์เคยออกมาแสดงความกังวล
กระนั้นก็ตามที บางหน่วยงานก็ยังคงกระตุ้นเตือนให้เจ้าหน้าที่ของตนตอบสนองข้อเรียกร้องของ มัสก์
แหล่งข่าวในสำนักงานบริการทั่วไปของสหรัฐฯ (General Services Administration - GSA) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลอาคารของรัฐระบุว่า GsA มีการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของตนว่าควรที่ตอบอีเมล แม้เป็นแค่เรื่องความสมัครใจก็ตาม เช่นเดียวกับรักษาการผู้อำนวยการ OPM ที่ส่งอีเมลถึงพนักงานของตัวเองว่า การส่งคำตอบนั้นไม่บังคับ แต่สนับสนุนให้ทำอย่างยิ่ง
ด้านกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์แห่งสหรัฐฯ แนะนำเจ้าหน้าที่ว่า หากพวกเขาเลือกที่จะตอบอีเมลก็ขอให้เป็นการตอบเรื่องทั่วๆ ไป และอย่าได้ระบุชนิดของยา หรือประเภทของสัญญาที่พวกเขาได้รับการว่าจ้าง
"ให้คิดเสียว่า สิ่งที่พวกคุณเขียนอาจจะถูกอ่านโดยผู้ไม่ประสงค์ดีจากต่างชาติ และขอให้ระมัดระวังคำตอบ" อีเมลของทางกระทรวง ระบุ
ความพยายามลดขนาดองค์กรของ DOGE ยังก่อแรงกระเพื่อมไปถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมด้วย เนื่องจากบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาของรัฐหลายแห่งก็จำเป็นต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน และเลื่อนการจ่ายเงินให้ผู้ขาย
แหล่งข่าวของรอยเตอร์ยืนยันว่า ข้อความของ มัสก์ เมื่อวันเสาร์ (22) สร้างความตกตะลึงต่อเจ้าหน้าที่หลายคนในรัฐบาล และยิ่งสับสนกันเข้าไปอีกเมื่อ ทรัมป์ ออกมาแสดงท่าทีหนุน มัสก์ เต็มที่
"ผมว่ามันยอดเยี่ยมนะ" ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์สื่อที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ (24) "มันเป็นการกระทำที่เฉลียวฉลาด เพราะเรากำลังพยายามตรวจสอบดูว่าใครทำงานหรือไม่"
การดำรงตำแหน่งผู้นำ DOGE ของ มัสก์ นั้นไม่ได้ผ่านกระบวนการรับรองจากวุฒิสภาเหมือนอย่างแคนดิเดตรัฐมนตรีหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐบาลกลางอื่นๆ
จนถึงขณะนี้มีลูกจ้างของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถูกเลย์ออฟไปแล้วมากกว่า 20,000 คน ภายใต้แผนลดขนาดของค์กรของ DOGE
เมื่อวานนี้ (24) ผู้พิพากษาศาลส่วนกลางคนหนึ่งได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ DOGE เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อนของกระทรวงการศึกษาและ OPM ขณะเดียวกัน กลุ่มสหภาพแรงงานที่ไปฟ้องศาลขอให้สั่งยับยั้งคำสั่งไล่ออกหมู่ก็เพิ่มเติมคำร้องขอให้ศาลประกาศว่าอีเมลของมมัสก์ เป็น "โมฆะ" ด้วย
ที่มา : รอยเตอร์