พรรคการเมืองหลักของฝ่ายอนุรักษนิยมในเยอรมนี นำโดย ฟรีดริช เมร์ซ ซึ่งน่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศ ประกาศลั่นในวันจันทร์ (24 ก.พ.) ว่า จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อพยายามจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมา ภายหลังทางพรรคชนะได้เสียงโหวตมากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาระดับชาติที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (23) ซึ่งยังได้เห็นพวกพรรคฝ่ายขวาจัดและพรรคฝ่ายซ้ายจัด ได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นเป็นกอบเป็นกำจากผู้ออกเสียงซึ่งรู้สึกผิดหวังกับบรรดาพรรคกระแสหลัก
เยอรมนีซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรป กำลังตกอยู่ในสภาพอ่อนปวกเปียก และเวลาก็ไม่คอยท่า จากการที่สังคมเกิดความแตกแยกด้วยปัญหาผู้อพยพ และความมั่นคงของประเทศก็ตกอยู่ตรงกลางระหว่างสหรัฐฯที่มีท่าทีท้าทายเผชิญหน้า และรัสเซียกับจีนซึ่งอุดมไปด้วยความแข็งกร้าว
ผลลัพธ์ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การจับมือเป็นรัฐบาลผสมกันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม กับ พรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD) แนวทางกลาง-ซ้าย ของ โอลาฟ ชอลซ์ ผู้ซึ่งได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 3 ตามหลังพรรคขวาจัด อัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี (AfD) ที่ได้เสียงโหวตพุ่งแรงเป็นประวัติการณ์ จนขึ้นสู่อันดับ 2
“จากทัศนะมุมมองของเรา การพูดจากันสามารถเริ่มต้นได้อย่างเร็วมากๆ” เป็นความเห็นของ เยนส์ สปาห์น นักการเมืองอาวุโสของพรรค CDU ที่เป็นแกนหลักของฝ่ายอนุรักษนิยม
“การพูดจานัดแรกๆ แน่นอนทีเดียวว่าควรจัดขึ้นในสัปดาห์นี้เลย ในอีกสองสามวันข้างหน้านี้แหละ เราได้เห็นกันแล้วถึงสถานการณ์ในโลก, ยูเครน, รัสเซีย, และเสหรัฐฯ” เขากล่าว “ความเป็นผู้นำของเยอรมันกำลังเป็นที่ต้องการ”
เมร์ซ ผู้ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อนเลย ก็กล่าวเอาไว้ว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะตั้งรัฐบาลให้สำเร็จภายในวันอีสเตอร์ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 20 เมษายน
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นก่อนกำหนด ภายหลังการพังครืนของรัฐบาลผสม 3 พรรคของชอลซ์ ระหว่าง SPD ของเขา กับพรรคกรีนส์ และพรรคฟรี เดโมแครต (FDP) ที่เป็นพรรคโปรธุรกิจ
ในการแสดงท่าทีแรกๆ เกี่ยวกับเจตนารมณ์ทางนโยบายของเขา เมร์ซ พุ่งเป้ามุ่งเล่นงานสหรัฐฯภายหลังเป็นที่แน่ชัดว่าพรรคของเขาชนะที่ 1 โดยกล่าววิพากษ์วิจารณ์เมื่อวันอาทิตย์ (23) ถึงการแสดงความคิดเห็น “ที่ชวนให้รู้จักโกรธเกรี้ยว” จากวอชิงตัน ระหว่างที่เยอรมนีกำลังรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกัน โดยเขาเปรียบเทียบว่า มันเป็นคำพูดที่ทำให้รู้สึกขุ่นเคืองพอๆ กับการแทรกแซงอย่างมุ่งร้ายจากรัสเซียทีเดียว
“สำหรับผมแล้ว เรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด ต้องเป็นเรื่องการทำให้ยุโรปเข้มแข็งยิ่งขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่เราจะสามารถบรรลุความเป็นเอกราชเป็นอิสระจากสหรัฐฯอย่างแท้จริงไปทีละก้าวๆ” เมร์ซ พูดในวันอาทิตย์
ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กลุ่มอนุรักษนิยมของเขาที่ประกอบด้วยพรรค CDU และพรรค CSU เข้าป้ายเป็นที่หนึ่งด้วยคะแนนเสียง 28.5% นำหน้าพรรคขวาจัด AfD ที่ได้ 20.8% ซึ่งเป็นคะแนนดีที่สุดเท่าที่พรรคนี้เคยได้มา ทั้งนี้ตามผลการนับคะแนนที่ยังไม่เป็นทางการ
อย่างไรก็ดี พวกพรรคกระแสหลักทั้งหลาย ต่างแสดงท่าทีปฏิเสธไม่ขอร่วมรัฐบาลกับ AfD ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ถูกจับตามองจากหน่วยงานความมั่นคงของเยอรมนีด้วยความข้องใจสงสัยว่าเป็นพวกสุดโต่ง ทว่าได้รับการยอมรับจากบุคคลสำคัญๆ ในสหรัฐฯรวมทั้งมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์
เรื่องที่อาจกลายเป็นเรื่องปวดเฮดครั้งใหญ่ ได้แก่ การที่ AfD และพรรค “เลฟต์” ซึ่งเป็นพวกซ้ายจัดหัวรุนแรงของเยอรมนี เวลานี้รวมกันแล้วน่าจะได้ที่นั่งถึงราวหนึ่งในสามของสภา ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถขัดขวางการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นี่ย่อมจะเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางความพยายามในการผ่อนปรนกฎเกณฑ์อันเข้มงวดเกี่ยวกับภาระหนี้สินของประเทศ ตลอดจนการหาทางเพิ่มงบประมาณกลาโหมพิเศษใดๆ ขึ้นมา
เห็นกันว่าการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมนี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และ SPD ที่แม้ได้คะแนนโหวตเลวร้ายที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นั่นคือแค่ 16.4% ก็เตือนแล้วว่า การเข้าร่วมในรัฐบาลผสมที่นำโดย เมร์ซ ของพวกเขาจะไม่เป็นไปในแบบอัตโนมัติแน่นอน
เรื่องที่ถือเป็นข่าวดีสำหรับ เมร์ซ ซึ่งกลุ่ม CDU/CSU ของเขาแม้ชนะได้ที่ 1 ในการเลือกตั้งคราวนี้ ทว่าคะแนนเสียงที่ได้กลับย่ำแย่เลวร้ายเป็นอันดับ 2 สำหรับตลอดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกลุ่มนี้ ก็คือว่า เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา จะได้เป็นรัฐบาลผสมที่มั่นคงสักหน่อย เขาจะไม่ต้องพึ่งพาอาศัยความสนับสนุนจากพรรคกรีนส์ ซึ่งได้คะแนนโหวต 11.6%
เนื่องจากพรรค BSW ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่โดย ซาฮารา วาเกนคเนชต์ อดีตผู้นำของพรรค “เลฟต์” และชูแนวทางที่ได้ชื่อว่าเป็นสายอนุรักษนิยมในหมู่ฝ่ายซ้าย ซึ่งหมายถึงสามารถร่วมหัวลงโรงได้ง่ายขึ้นมากกับฝ่ายอนุรักษนิยม ได้คะแนนโหวตถึงระดับ 5% อย่างเฉียดฉิว จึงไม่ถูกตัดสิทธิในการเข้าสู่สภา และทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมของเมร์ซน่าจะกระทำได้ง่ายขึ้นมาก
(ที่มา: รอยเตอร์)