xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก‘การประชุมสหรัฐฯ-รัสเซีย’ครั้งสำคัญที่ซาอุฯ ซึ่งประเมินกันว่าประสบความสำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


การเจรจาทวิภาคีของคณะผู้แทนจากสหรัฐฯและรัสเซียคราวนี้ ดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง
US-Russia meeting in Riyadh successful, more to follow
by Stephen Bryen
19/02/2025

บรรยายกาศของการประชุมเจรจากันที่ซาอุดีอาระเบียคราวนี้ มีลักษณะแบบมืออาชีพ ไม่ใช่เน้นที่อุดมการณ์แนวความคิด

ทั้งฝ่ายรัสเซียและฝ่ายสหรัฐฯต่างบอกว่า การพบปะหารือทางการทูตระดับสูงซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จ

สตีฟ วิตคอฟฟ์ (Steve Witkoff) ซึ่งกำลังกลายเป็นนัมเบอร์หนึ่งในหมู่ผู้ทำหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหายุ่งยากต่างๆ ให้ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า การประชุมคราวนี้ “เป็นไปในทางบวก, ให้ความหวัง, สร้างสรรค์, และหนักแน่นมีเหตุมีผลมาก” ขณะที่เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย และถือเป็นผู้นำทีมเจรจาของฝ่ายรัสเซีย คู่เคียงกับรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โค รูบิโอ ของฝ่ายสหรัฐฯ บอกว่าการหารือในริยาดครั้งนี้ “มีประโยชน์มาก”

โดยทางการแล้ว คณะผู้แทนสหรัฐฯชุดนี้นำโดย รูบิโอ ส่วนคนอื่นๆ ยังประกอบไปด้วย ไมค์ วอลซ์ (Mike Waltz) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ และ วิตคอฟฟ์ เราไม่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคนอื่นๆ ของทางฝ่ายสหรัฐฯที่เข้าร่วมเจรจาด้วย

รูบิโอแถลงว่า การพบปะครั้งนี้ได้ตกลงกันในเรื่องหลักๆ รวม 3 เรื่อง ซึ่งได้แก่

**การจัดตั้งทีมงานทางการทูตขึ้นมา ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานทางการทูตในมอสโกและในวอชิงตัน

**การก่อตั้งทีมงานระดับสูงขึ้นมาเพื่อสะสางทำความกระจ่างเกี่ยวกับ “ขนาดขอบเขตในด้านต่างๆ ของความขัดแย้ง” ในยูเครน

**การเสาะแสวงหาเส้นทางใหม่ๆ ที่จะระบุถึงโอกาสต่างๆ สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ ภายหลังจากการสู้รบขัดแย้งในยูเครนได้รับการคลี่คลาย โดยที่ฝ่ายสหรัฐฯบรรยายถึงความสำคัญของเรื่องนี้เอาไว้ว่า “มีศักยภาพที่จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์” ทีเดียว สำหรับรัสเซีย

ขณะที่ ลาฟรอฟยังอธิบายด้วยว่า จากนี้ไปจะมีการนัดประชุมกันในระดับรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย เพื่อจัดทำรายละเอียดสำหรับการพบปะเจรจากันระหว่างทรัมป์กับปูติน ถึงแม้ยังไม่มีการกำหนดวันเวลานัดหมายที่แน่นอนชัดเจนสำหรับการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองก็ตาม

คณะผู้แทนฝ่ายรัสเซียคราวนี้ที่เป็นบุคคลระดับท็อป นอกเหนือจาก เซียร์เก ลาฟรอฟ แล้ว ยังประกอบด้วย ยูริ อูชาคอฟ (Yury Ushakov) ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการต่างประเทศของประธานาธิบดีปูติน นอกจากนั้นในคณะผู้แทนฝ่ายรัสเซียยังมี คิริลล์ ดมิตรีฟ (Kirill Dmitriev) ทั้งนี้ เวลานี้ ดมิตรีฟ เป็นซีอีโอของกองทุนการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย (Russian Direct Investment Fund หรือ RDIF)ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) ของแดนหมีขาว บุคคลที่ปรากฏตัวอยู่กับทางฝ่ายรัสเซีย ยังมี วลาดิมีร์ ปรอสคูรีอาคอฟ (Vladimir Proskuryakov) และ ดมิตริ บาลาคิน (Dmitry Balakin)

ปรอสคูรีอาคอฟ ทำงานอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำแคนาดา และมีความชำนาญพิศษในเรื่องกิจการอาร์กติก ความเป็นเป็นได้ที่จะมีความร่วมมือกันในภูมิภาคอาร์กติก เป็นหัวข้อหนึ่งสำหรับการสนทนากันในริยาดคราวนี้ ขณะที่เวลานี้ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ แต่เป็นไปได้ทีเดียวว่าการเจรจาครั้งนี้มีการแตะเรื่องการสำรวจค้นหาทรัพยากรต่างๆ ในแถบอาร์กติก รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางเดินเรือทะเล ถ้าหากน้ำแข็งแถบอาร์กติกยังคงละลายต่อไปเรื่อยๆ โดยเป็นผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

มีรายงานว่า ดมิตรีฟ ได้จัดการประชุมข้างเคียงขึ้นในริยาด ในประเด็นทางด้านการเงินและการลงทุน แต่เราไม่ทราบว่าใครคือผู้ทำหน้าที่เป็นคู่เจรจาฝ่ายอเมริกันของดมิตรีฟ ถึงแม้มีความเป็นไปได้มากที่จะเป็น สตีฟ วิตคอฟฟ์

เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติงานทางการทูตนั้น ทั้งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงมอสโก และสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียในกรุงวอชิงตัน เวลานี้ต้องทำงานกันภายใต้ข้อจำกัดกีดขวางเป็นอย่างมาก สิ่งขัดขวางเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการยกเลิก อันจะกลายเป็นการเดินหน้าไปอย่างสำคัญ เพื่อกลับคืนสู่ความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติในปริมณฑลการทูต เรื่องที่กล่าวมานี้ครอบคลุมส่วนประกอบต่างๆ จำนวนมากทีเดียว ลาฟรอฟก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยกล่าวภายหลังการหารือว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องปลดเปลื้องพวกกำแพงกีดขวางต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยคณะบริหารไบเดน ซึ่งกำลังกลายเป็นตัวขวางกั้นการทำงานของเหล่านักการทูต ทั้งนี้รวมไปถึงการคอยสั่งขับไล่นักการทูตออกนอกประเทศอยู่เป็นประจำ และการเข้ายึดพวกอสังหาริมทรัพย์”

เกี่ยวกับเรื่องยูเครน ไม่ได้มีการแถลงว่าบรรลุข้อสรุปอย่างเฉพาะเจาะจงใดๆ กระนั้น ลาฟรอฟก็ได้บอกเล่าขยายความหลายๆ เรื่อง ในระหว่างการแจกแจงให้รายละเอียดกับพวกผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการพูดจาหารือครั้งนี้ ทั้งนี้ลาฟรอฟบอกว่า “เราไม่เพียงแค่ได้ยินเท่านั้น แต่เรายังฟังคำพูดของกันและกันอย่างแท้จริงอีกด้วย”

เคียฟนั้นไม่ได้มีผู้แทนเข้าร่วมการเจรจาคราวนี้ เช่นเดียวกับที่ไม่มีรัฐยุโรปแห่งใดๆ หรือองค์การของยุโรปแห่งไหนเลยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม การที่ไม่ได้มีส่วนร่วมเช่นนี้ กระตุ้นให้เกิดความร้อนอกร้อนใจเหมือนตกอยู่ท่ามกลางทะเลเพลิงขึ้นในยุโรป จนนำไปสู่การนัดหมายจัดการประชุมซัมมิต “ฉุกเฉิน” ซึ่งมีฝรั่งเศสเป็นตัวตั้งตัวตี (ทว่ามีการคัดกรองไม่เชื้อเชิญชาติสมาชิกนาโต้บางรายที่เป็นพวกคัดค้านการให้ความสนับสนุนสงครามยูเครน)

เลขาธิการขององค์การนาโต้ มาร์ก รึตเตอ (Marc Rutte) นั้น ได้เข้าร่วมการหารือที่ปารีสนี้ด้วย ทว่าไม่มีความชัดเจนเอาเสียเลยว่าทำไมเขาจึงไปร่วม ในเมื่อชาติสมาชิกนาโต้บางรายไม่ได้รับเชิญด้วยซ้ำ รวมทั้งไม่มีความกระจ่างว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนี้ โดยที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐฯ

การหารือกันที่ปารีสคราวนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปก็เข้าร่วมในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับเชิญรายหนึ่ง ไม่ได้มีการออกคำแถลงร่วมอย่างเป็นทางการใดๆ แต่ผลลัพธ์ประการหนึ่งก็คือพวกที่เข้าประชุมได้ออกมาแถลงออกมาพูดแสดงความคิดเห็นกันด้วยถ้อยคำแรงๆ โดยพุ่งเป้าหมายสำคัญที่สุดไปที่วอชิงตัน นอกจากนั้นสหราชอาณาจักรได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดส่งทหารไปยังยูเครน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการ “รักษาสันติภาพ” ในบางลักษณะที่อาจจะมีการตัดสินใจดำเนินการกันต่อไป อย่างไรก็ดี เยอรมนี, อิตาลี, และโปแลนด์ ต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับความริเริ่มเช่นนี้ของสหราชอาณาจักร

ขณะที่ฝ่ายรัสเซียแสดงท่าทีอย่างชัดเจนทั้งในการประชุมกับฝ่ายสหรัฐฯที่ริยาด และในการแถลงต่อสาธารณชนว่า ไม่ต้อนรับ “กองกำลังรักษาสันติภาพ” เช่นนี้ของนาโต้

ในการแถลงอธิบายผลการประชุมครั้งนี้ของเขา ลาฟรอฟยังระบุด้วยว่า สิ่งที่เรียกกันว่า แผนการ 3 ขั้นสำหรับยูเครน ซึ่งมีผู้เผยแพร่ออกมานั้น เป็นข่าวปลอม แผนการปลอมๆ ที่ถูกปล่อยออกมานี้ ระบุกันว่ามาจาก มาร์โค รูบิโอ ทั้งนี้ในข่าวเท็จนี้ มีการอ้างอิงว่า “รูบิโอ กล่าวว่า แผนการนี้ครอบคลุมไปถึงการประชุมเจรจาระดับสูงที่มียูเครนและพวกชาติยุโรปเข้าร่วม และมีการกำหนดให้ทุกๆ ฝ่ายต่างต้องยอมอ่อนข้อให้แก่กัน” ขณะที่แผนการ 3 ขั้นที่ถูกระบุถึงนี้ ประกอบด้วย (1) การหยุดยิง (2) การจัดการเลือกตั้งขึ้นในยูเครน และ (3) การทำข้อตกลงขั้นสุดท้าย

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จริงๆ แล้วการประชุมที่ริยาดได้มีการหารือเรื่องการหยุดยิงหรือการจัดเลือกตั้งในยูเครนหรือไม่ แต่ตามรายงานข่าวน่าเชื่อถือที่ปรากฏออกมาทั้งหมด ชี้ว่าสหรัฐฯกับรัสเซียได้เห็นพ้องต้องกัน ที่จะทำการประเมินเงื่อนไขความเป็นไปได้ทั้งหลายแหล่ เพื่อให้เกิดการตกลงกัน โดยที่ถ้าหากเห็นชอบร่วมกันแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีปูตินก็จะนำมาพูดจาหารือกัน

ในสื่อหลายๆ สื่อ มีการเผยแพร่ภาพกราฟฟิกต่างๆ จำนวนมาก ที่มุ่งวาดภาพให้เห็นว่าข้อตกลงที่สหรัฐฯกับรัสเซียจะทำกันนั้นน่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และกระทั่งเสนอแนะว่ามีประเด็นสำคัญๆ อะไรบ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคุยกันที่ริยาด

ตรงนี้ต้องขอแนะนำท่านผู้อ่านทั้งหลายว่า ภาพกราฟฟิกเหล่านี้ไม่มีชิ้นไหนเลยที่ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นภาพการเจรจากันจริงๆ ที่เกิดขึ้นในริยาด ซึ่งมีการกล่าวถึงทัศนะของฝ่ายรัสเซียและของฝ่ายสหรัฐฯเกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ ทว่าไม่ได้มีการลงรายละเอียดใดๆ หรือระบุขั้นตอนใดๆ นอกเหนือจากการให้อำนาจแก่การประชุมที่จะจัดตามมาหลังจากนี้ ในการแผ้วถางเวทีสำหรับให้มีการพบปะเจรจากันระหว่างทรัมป์กับปูติน

ตัวอย่างของภาพกราฟฟิกว่าด้วย “ข้อตกลง” เรื่องยูเครน ที่สื่อจำนวนมากจัดทำขึ้นมา โดยในภาพนี้เป็นของหนังสือพิมพ์ เดลี่เมล ของสหราชอาณาจักร
การประชุมที่ริยาดครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบของมืออาชีพ โดยที่ไม่มีการมุ่งประโคมสร้างข่าวหรือการมุ่งกล่าวหาโจมตีกัน เรื่องนี้ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากภาษาถ้อยคำที่เคยครอบงำคณะบริหารไบเดนอยู่ในอดีต ถึงแม้ว่าภาษาถ้อยคำดังที่ว่านี้ ยังคงเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของการพูดจาของทางยุโรปจวบจนกระทั่งเวลานี้

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษของเอเชียไทมส์ และเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายของสหรัฐฯ ข้อเขียนชิ้นนี้ทีแรกสุดปรากฏอยู่บนจดหมายข่าว Weapons and Strategy ในแพลตฟอร์ม Substack ของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น