xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปรู้สึกช็อกอยู่ในอาการ‘ลมใส่’เมื่อทรัมป์เริ่มขยับเดินเกมเรื่องยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขณะพูดในการแถลงข่าวภายหลังเข้าร่รวมการประชุมรัฐมนตรกลาโหมขององค์การนาโต้ ที่กองบัญชาการของนาโต้ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
Europe gasping for air as Trump makes his Ukraine move
by Stephen Bryen
13/02/2025

สหรัฐฯประกาศชัดๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา: ยูเครนจะไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้, สหรัฐฯจะไม่ส่งทหารเข้าไปในยูเครน. เคียฟลืมไปได้เลยเรื่องหวนกลับไปมีเขตแดนเหมือนเมื่อก่อนปี 2014, และสหรัฐฯไม่มีการจัดหาจัดส่งอาวุธไปให้อีกต่อไปแล้ว

พวกผู้นำยุโรปที่กำลังสนับสนุนอย่างแข็งขันให้สงครามยูเครนยังคงดำเนินต่อไปอีก ถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรัฐมนตรีกลาโหม พีท เฮกเซธ ของสหรัฐฯฯ ตีกระหน่ำเอาอย่างรุนแรงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในอาการช็อก รู้สึกหายใจไม่ค่อยออกอย่างแน่นอน

มาเริ่มต้นกันที่เฮกเซธ เขาออกมาประกาศถึงสิ่งต่อไปนี้อย่างฉะฉาน ได้แก่

1.เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดกันเลย ยูเครนจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมนาโต้

2.สหรัฐฯจะไม่ส่งกองทหารใดๆ ไปยังยูเครนไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงการเข้าไปในฐานะเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพก็ไม่เอา

3.สหรัฐฯจะไม่มีการจัดหาหรือการจ่ายเงินเพื่อส่งอาวุธและความสนับสนุนต่างๆ ให้แก่ยูเครนอีกต่อไปแล้ว มันจะต้องขึ้นอยู่กับพวกชาติสมาชิกนาโต้ในยุโรปที่จะต้องเป็นผู้จัดหาความสนับสนุนต่างๆ ให้แก่ยูเครน

4.ขณะที่สหรัฐฯยังคงให้ความสนับสนุนนาโต้ แต่การเข้าร่วมของอเมริกันต้องเป็นไปอย่างยุติธรรมและเสมอภาค ซึ่งหมายความว่าชาติสมาชิกนาโต้อื่นๆ ทั้งหลายจะต้องเพิ่มการร่วมลงขันของพวกเขาให้มากขึ้นอย่างสำคัญ

5.ยูเครนจะไม่สามารถหวนกลับไปมีเขตพรมแดนอย่างที่เคยมีเมื่อก่อนปี 2014 อีกแล้ว นี่หมายความว่าสหรัฐฯคาดหมายว่ายูเครนจะต้องยอมสละดินแดนอย่างเป็นกอบเป็นกำทีเดียว

เวลาใกล้เคียงกันนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้พูดจาทางโทรศัพท์เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย สาระสำคัญของการสนทนากันคราวนี้ก็คือ ปูติน บอกว่าเขายินดีที่จะเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องยูเครนและประเด็นทางด้านความมั่นคงอื่นๆ

การพูดจากันระหว่างทรัมป์-ปูตินครั้งนี้ครอบคลุมหัวข้อจำนวนมาก เป็นต้นว่า พวกประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง, พลังงาน, ปัญญาประดิษฐ์, และ “พลังอำนาจของเงินดอลลาร์”

ภายหลังการหารือกับปูตินครั้งนี้แล้ว ทรัมป์ดูเหมือนอยู่ในอาการต่อโทรศัพท์ “ไปแจ้ง” ประธานาธิบดีเซเลนสกี ให้ทราบถึงการสนทนาระหว่างตัวเขากับผู้นำรัสเซียนี้ ทรัมป์ยังเร่งจัดตั้งทีมงานเจรจากับฝ่ายรัสเซียของเขาขึ้นมาอย่างฉับพลันทันด่วนอีกด้วย โดยที่เขาแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โค รูบิโอ, ผู้อำนวยการซีไอเอ จอห์น แรตคลิฟฟ์ (John Ratcliffe), ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ไมเคิล วอลซ์ (Michael Waltz), และ เอกอัครราชทูตและผู้แทนพิเศษ สตีฟ วิตคอฟฟ์ (Steve Witkoff) ให้เป็นผู้นำในการเจรจา

จุดสำคัญที่ควรต้องจับตามองก็คือ รายชื่อของพวกผู้ทำหน้าที่เจรจาเหล่านี้ ไม่มีชื่อของ คีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) อดีตนายทหารยศพลโทที่ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว

(หมายเหตุผู้แปล - โดยตำแหน่งหน้าที่แล้ว สตีฟ วิตคอฟฟ์ ได้รับแต่งตั้งจากทรัมป์ให้เป็นผู้แทนพิเศษดูแลตะวันออกกลาง ขณะที่ คีธ เคลล็อกก์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษดูแลเรื่องยูเครน-รัสเซีย)

ก่อนหน้านี้เคลล็อกก์คือผู้ที่แสดงความพากเพียรอย่างเปิดเผยในการเสนอไอเดียให้เพิ่มการแซงก์ชั่นรัสเซียมากขึ้นอีกเยอะๆ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการทำให้แดนหมีขาวต้องยอมอ่อนข้อเรื่องยูเครน ดังที่เขาพูดเองว่า หากเทียบเป็นมาตรวัดที่มีระดับตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 10 แล้ว การแซงก์ชั่นรัสเซียในปัจจุบันก็อยู่ที่แค่ระดับ 3 เท่านั้น เขาเสนอให้เพิ่มระดับขึ้นไปอีกเยอะๆ เลย (โดยเขามีข้อสมมุติฐานว่าการเพิ่มแซงก์ชั่นรัสเซียนี้ยังคงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำอย่างได้ผล)

ความคิดเห็นเช่นนี้ คือการบ่อนทำลายวิธีการที่ทรัมป์ใช้ในการติดต่อกับปูตินและรัสเซียอย่างโต้งๆ และดูเหมือนว่าไอเดียของ เคลล็อกก์ (นอกจากนี้แล้ว ยังมีคนอื่นๆ อีก) นี่แหละที่มุ่งมั่นต้องการทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่าสงครามยูเครนจะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้น หลังจากนี้แล้ว เคลล็อกก์จะได้ปรากฏตัวออกมาอีกคำรบในฐานะเพลเยอร์คนหนึ่งในยูเครนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

สำหรับพวกผู้นำยุโรปที่เชียร์ให้ทำสงครามต่อไปนั้น –เฉกเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (ในฐานะองค์การ) ที่ก็มีความคิดไปในแนวทางเดียวกัน-- พวกเขาคงจะต้องใช้เวลาในการตรึกตรองพิจารณาอนาคต ในเมื่อความช่วยเหลือสนับสนุนอันสำคัญยิ่งที่ได้พึ่งพาอาศัยมาโดยตลอด บัดนี้ได้ถูกตัดขาดเสียแล้ว

ทางยุโรปนั้นไม่มีทั้งอาวุธ, กองทหาร, หรือเงินทอง สำหรับการประคับประคองให้สงครามในยูเครนดำเนินต่อไป นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังดูไม่มีทางได้รับความสนับสนุนอะไรมากมายอีกต่อไปถ้าหากสหรัฐฯจะไม่ร่วมเล่นเกมนี้แล้ว มิหนำซ้ำในความเป็นจริง หากยุโรปต้องการที่จะเดินหน้าต่อไปด้วยตัวพวกเขาเอง โดยปราศจากสหรัฐฯแล้ว มันก็จะเป็นการนำเอาอนาคตของกลุ่มพันธมิตรนาโต้เข้ามาเสี่ยงอีกด้วย

พวกผู้นำจำนวนมากในยุโรปเวลานี้ ฐานะภายในประเทศของพวกเขาเองก็ประสบความยากลำบากหนักหนาสาหัสกันอยู่แล้ว ไม่ว่าเยอรมนี, ฝรั่งเศส, โปแลนด์—และแม้กระทั่งโรมาเนีย ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีถูกยกเลิกไปเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครคนสำคัญของฝ่ายค้านได้รับเลือกตั้ง— ต่างก็คือตัวอย่างของความไร้เสถียรภาพที่กำลังแผ่ลามไปทั่วในหมู่ชนชั้นนำของยุโรป

แถมเรื่องราวซึ่งถูกเปิดโปงออกมา ที่ว่าสหรัฐฯและอียูเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งทั้งในจอร์เจีย, เซอร์เบีย, และสโลวาเกีย, และบางทีอาจจะที่มอลโดวา อีกด้วย กลายเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงสภาพสกปรกโสมมของการเมืองในยุโรปปัจจุบันนี้

คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ตอนนี้กำลังพยายามสลาย ยูเอสเอด (USAID) ซึ่งที่ผ่านมาแสดงบทบาทเป็นองค์การบังหน้าประเภทหนึ่งให้แก่ซีไอเอ ในการปฏิบัติภารกิจในประเทศต่างๆ จำนวนมากที่ได้เอ่ยไว้ข้างบนนี้ รวมทั้งในยูเครนด้วย เมื่อแหล่งที่มาของเงินทองและความสนับสนุนเช่นนี้ก็ถูกตัดขาดไป อียูจึงกำลังเผชิญหน้ากับปัญหารุนแรงซึ่งบาดลึกลงไปเกินกว่าเรื่องทางการเงินเสียอีก เหตุผลข้อโต้แย้งอันเป็นเท็จที่สร้างกันขึ้นมา ในเรื่องที่ว่าอียู (และพร้อมๆ ไปกับอียู ก็คือ นาโต้) คือผู้ที่กำลังพยุงประชาธิปไตยในยุโรปเอาไว้ เวลานี้จึงถูกเปิดโปงอย่างล่อนจ้อน การสูญเสียความชอบธรรมเช่นนี้ถือเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อพวกชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครองทั้งหลาย

ทรัมป์นั้นมีทัศนะมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง มันมีลักษณะทำนองนี้ นั่นคือ ความมั่นคงของยุโรปนั้นมีความสำคัญ ทว่าจริงๆ แล้วยุโรปไม่ได้ถูกคุกคามจากรัสเซียหรอก ขณะที่สหรัฐฯนี่แหละที่กำลังเผชิญหน้ากับจีนซึ่งฟื้นชีพขึ้นมาอีกครั้ง โดยที่แดนมังกรมีทั้งฐานทางอุตสาหกรรมซึ่งทันสมัยอย่างยิ่ง (โดยที่ส่วนใหญ่แล้ว ฝ่ายตะวันตกคือผู้ที่จัดหาจัดส่งให้), แล้วยังมีกำลังแรงงานขนาดใหญ่โตมโหฬาร, และมีกำลังทหารที่ประกอบอาวุธชั้นดีและทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ

จากทัศนะของทรัมป์แล้ว เขาจำเป็นต้องมีรัสเซียที่มีความเป็นมิตรกันมากขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ในระดับโลก แล้วเพื่อไปให้ถึงตรงนั้น เขาจำเป็นต้องหาวิธีการที่จะนิยามความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียเสียใหม่ จากที่เวลานี้อยู่ในภาวะวุ่นวายระส่ำระสายอย่างร้ายแรงและเอิบอาบด้วยความเป็นปรปักษ์ระหว่างกัน ในช่วง 90 นาทีที่เขาสนทนากับปูตินนี้เอง ทรัมป์กำลังขุดคุ้ยเสาะหาสมรรถนะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งอาจใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต

ขณะนี้ยังไม่มีใครพูดได้ว่า จะสามารถค้นพบวิธีการที่จะทำข้อตกลงกันในเรื่องยูเครนให้สำเร็จได้หรือไม่ กระนั้นก็มีเหตุผลที่จะมองโลกในแง่ดีมากขึ้นว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะทำงานด้วยกันเพื่อให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา

เราจำเป็นที่จะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า ฝ่ายยุโรปจะหาทางตอบโต้กลับตลอดจนพยายามก่อวินาศกรรมการทำความตกลงในเรื่องยูเครนอย่างไรหรือไม่ แต่ถึงยังไงความเป็นจริงก็ยังคงมีอยู่ว่า ยุโรปนั้นแทบไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าหากปูตินกับทรัมป์เห็นชอบเห็นพ้องที่จะทำข้อตกลงกันอย่างจริงจัง

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษของเอเชียไทมส์ และเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายของสหรัฐฯ ข้อเขียนชิ้นนี้ทีแรกสุดปรากฏอยู่บนจดหมายข่าว Weapons and Strategy ในแพลตฟอร์ม Substack ของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น