บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (TEPCO) ผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่น เริ่มทำการรื้อถอนแท็งก์กักเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีในวันนี้ (14 ก.พ.) โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าซึ่งเคยเผชิญภัยพิบัตินิวเคลียร์ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
การเคลื่อนย้ายแท็งก์น้ำเหล่านี้ออกจากโรงไฟฟ้าถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการรื้อถอนที่คาดว่าจะต้องใช้เวลานานหลายสิบปี หลังจากที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเมื่อปี 2011
“งานรื้อถอนแท็งก์น้ำเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 8.05 น. วันนี้ (14) ทัตสึยะ มาโตบะ โฆษกของ TEPCO ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี 2011 ทาง TEPCO ได้ติดตั้งแท็งก์เพื่อใช้เก็บกักน้ำประมาณ 1.3 ล้านตัน ซึ่งมีทั้งน้ำใต้ดิน น้ำทะเล น้ำฝน รวมถึงน้ำที่ใช้สำหรับหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
น้ำปนเปื้อนเหล่านี้ได้ถูกกรองเพื่อแยกเอาสารกัมมันตรังสีที่อันตรายออกไปแล้ว ทว่ายังคงถูกเก็บอยู่ในแท็งก์มากกว่า 1,000 แท็งก์ซึ่งกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้
หลังจากกำจัดแท็งก์น้ำออกไปจนหมดแล้ว โรงไฟฟ้ามีแผนที่จะสร้างอาคารขึ้นเพื่อเก็บเศษแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อันตรายที่จะถูกเคลื่อนย้ายออกมาจากเตาปฏิกรณ์
ทั้งนี้ การกำจัดแท็งก์น้ำเริ่มเป็นไปได้หลังจากที่ TEPCO มีการระบายน้ำบางส่วนออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในเดือน ส.ค. ปี 2023
รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำที่บำบัดแล้วนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็ออกมาแถลงรับรองในเรื่องนี้
กระนั้นก็ตาม การตัดสินใจปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงทะเลของญี่ปุ่นได้สร้างความไม่พอใจต่อเพื่อนบ้านอย่าง “จีน” ซึ่งตอบโต้ด้วยการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทันทีในช่วงแรก ก่อนจะประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าจะค่อยๆ ฟื้นฟูการนำเข้าอาหารทะเลจากแดนปลาดิบอีกครั้ง
ที่มา : เอเอฟพี