xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มเสียที! ทรัมป์โทรศัพท์คุยปูติน-เซเลนสกี้ เปลี่ยนนโยบายยูเครนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แนะนำเคียฟเลิกฝันหวานได้ดินแดนคืน หรือเข้าเป็นสมาชิกนาโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หนังสือพิมพ์รายวันในรัสเซียที่วางแผงจำหน่ายบนถนนสายหนึ่งในกรุงมอสโกเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) พากันอุทิศหน้าหนึ่ง ให้แก่รายงานข่าวการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ในวันพุธ (12)
ทรัมป์ แสดงท่าทีเมื่อวันพุธ (12 ก.พ.) กลับหัวกลับหางนโยบายสหรัฐฯที่ใช้มา 3 ปีในเรื่องยูเครน พูดคุยทางโทรศัพท์แยกต่างหากกับทั้ง ปูติน และ เซเลนสกี้ โดยแม้เขาระบุว่าผู้นำของรัสเซียและยูเครนต่างต้องการสันติภาพ และเขาพร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงเริ่มการเจรจาเพื่อยุติสงครามของ 2 ประเทศนี้ ทว่าประมุขสหรัฐฯก็เออออกับรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกาซึ่งประกาศชัดเจนก่อนหน้านั้นในวันเดียวกันว่า เคียฟควรล้มเลิกเป้าหมายลวงตาที่จะได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต ตลอดจนได้ดินแดนที่มอสโกยึดไปกลับคืนมา

ทรัมป์แถลงกับพวกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวในวันพุธ (12) ว่า เขาได้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และ “ผมคิดว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางของการไปสู่สันติภาพ” ทรัมป์ยังชี้ด้วยว่า ในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน เขาได้คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครนเช่นกัน แต่ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวจี้ถามว่า ยูเครนจะได้เป็นผู้เข้าร่วมอย่างมีฐานะเท่าเทียม ในการเจรจาที่สหรัฐฯกระทำกับรัสเซียหรือไม่ ทรัมป์ก็ใช้วิธีตอบเลี่ยงๆ ว่า “เป็นคำถามที่น่าสนใจ ผมคิดว่าพวกเขาต้องทำสันติภาพกันนะ”

“ผมคิดว่าประธานาธิบดีปูตินต้องการสันติภาพ และประธานาธิบดีเซเลนสกี้ต้องการสันติภาพ และผมก็ต้องการสันติภาพ” ทรัมป์กล่าว “ผมเพียงต้องการที่จะเห็นผู้คนหยุดการถูกฆ่ากันเสียที”

เมื่อถูกถามถึงการสนทนากับปูติน ทรัมป์ตอบว่า “คนเขาไม่ทราบกันจริงๆ หรอกว่าความคิดของประธานาธิบดีปูตินนั้นเป็นยังไง แต่ผมคิดว่าผมสามารถพูดได้ด้วยความมั่นอกมั่นใจอย่างยิ่งว่า เขาต้องการเห็นมัน (สงครามยูเครน) จบลงเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดี และเราก็กำลังจะทำงานกันเพื่อมุ่งทำให้มันจบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทรัมป์บอกด้วยว่า เขา “บางที” จะได้พบหารือแบบพบหน้ากันกับปูตินในช่วงใกล้ๆ นี้ พร้อมชี้ด้วยว่ามันอาจจะเกิดขึ้นที่ซาอุดีอาระเบีย

ทางฝ่ายทำเนียบเครมลินนั้นก็แถลงว่า ปูตินกับทรัมป์ตกลงนัดพบกัน โดยที่ปูตินยังเชิญประมุขทำเนียบขาวไปเยือนมอสโกด้วย เช่นเดียวกับที่ทรัมป์ก็เชิญปูตินเยือนวอชิงตัน ส่วนสถานที่พบกันครั้งแรกนั้น เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามในวันพฤหัสบดี (13) ถึงเรื่องที่ทรัมป์บอกว่าอาจจะเป็นที่ซาอุดีอาระเบีย โฆษกเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ กล่าวตอบว่ายังไม่ได้มีการหารือกันเกี่ยวกับรายละเอียดของการพบปะนี้ นอกจากนั้นเขายังไม่ตอบอะไรเมื่อถูกถามว่าการสนทนากันทางโทรศัพท์นี้ ฝ่ายไหนเป็นผู้ริเริ่มก่อน

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอพีชี้ว่า การที่ทรัมป์พูดจากับปูตินครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นการส่งสัญญาณอันน่าตื่นตาตื่นใจที่ว่า วอชิงตันกับมอสโกอาจทำงานกันเพื่อให้เกิดข้อตกลงที่จะยุติการสู้รบในยูเครน โดยที่มองเมินรัฐบาลของประเทศนั้น การทำเช่นนี้จะเป็นการกลับทิศทางกับคณะบริหารไบเดน ซึ่งยืนกรานอย่างเด็ดเดี่ยวว่า เคียฟจะต้องเป็นผู้เข้ามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการตกลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้น

ในวันพุธ (12) ไม่เพียงยูเครนจะประสบกับการตีกระหน่ำอย่างแรงจากอเมริกาด้วยท่าทีเช่นนี้ของทรัมป์เท่านั้น ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยังกล่าวระหว่างปราศรัยในสำนักงานใหญ่นาโตที่กรุงบรัสเซลส์ โดยระบุวา เคียฟไม่ควรคาดหวังว่า จะได้ดินแดนต่างๆกลับคืนจากรัสเซียหรือเข้าร่วมนาโต และสำทับว่า การไล่ตามเป้าหมายที่เป็นภาพลวงตารังแต่ทำให้สงครามยืดเยื้อและสร้างความทุกข์ยากมากขึ้น

นายใหญ่เพนตากอนเสริมว่า สันติภาพที่ยั่งยืนต้องครอบคลุมการรับประกันความมั่นคงที่เข้มแข็งเพื่อให้มั่นใจว่า สงครามจะไม่ปะทุขึ้นอีก แต่เขายืนยันว่า อเมริกาจะไม่ส่งทหารไปประจำการในยูเครนเพื่อรับประกันความมั่นคง

ด้านทรัมป์ก็ได้กล่าวในเวลาต่อมาของวันเดียวกันที่ทำเนียบขาว โดยระบุว่า ในทางส่วนตัวแล้ว เขาไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องทำได้ในทางปฏิบัติที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกนาโต เขากล่าวเสริมว่า รัฐมนตรีกลาโหมของเขาบอกว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้หรือไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ “ผมก็คิดว่าบางทีนั่นคือความจริง”

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังโพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ, จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ), ไมเคิล วอลซ์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ และสตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนด้านตะวันออกกลางของสหรัฐฯ จะเป็นแกนนำทีมเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครน

ในอีกด้านหนึ่ง รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศรูบิโอ และ คีธ เคลล็อกก์ พลโทเกษียณราชการ ที่เป็นผู้แทนพิเศษว่าด้วยยูเครน-รัสเซียของทรัมป์ ต่างกำหนดเดินทางไปเยอรมนีสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมความมั่นคงมิวนิกประจำปี โดยที่เซเลนสกี้ ก็จะเข้าร่วมด้วยเช่นกัน

ในระยะหลังๆ มานี้ เซเลนสกี้วาดหวังจะโน้มน้าวให้ทรัมป์สนใจให้การสนับสนุนยูเครนต่อไป ด้วยการเสนอทำข้อตกลงให้อเมริกาเข้าลงทุนในเรื่องทรัพยากรแร่ต่างๆ ของยูเครน โดยที่ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเคียฟเมื่อวันพุธ เพื่อติดตามเรื่องนี้ และได้แถลงว่าการทำข้อตกลงกันในเรืองนี้ อาจเป็น “โล่ความมั่นคง” สำหรับยูเครนภายหลังสงคราม

ทางด้านเซเลนสกี้นั้น แม้ต้องเผชิญกับสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากในยูเครนจะต้องมองว่าเป็นความผิดหวังครั้งสำคัญ เขาก็เลือกที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างหน้าชื่น

ภายหลังจากทรัมป์พูดคุยกับปูติน ก็ได้คุยโทรศัพท์กับเซเลนสกี้ ซึ่งสำนักประธานาธิบดียูเครนระบุว่า ทั้งคู่หารือกันราวครึ่งชั่วโมง ขณะที่เซเลนสกี้โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า ได้คุยกับผู้นำสหรัฐฯ เกี่ยวกับโอกาสในการบรรลุข้อตกลง ความพร้อมของยูเครนในการให้ความร่วมมือ และศักยภาพด้านเทคโนโลยีของเคียฟที่รวมถึงโดรนและอุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆ พร้อมกันนั้น เขายังแสดงความขอบคุณทรัมป์อีกด้วย

ขณะที่เซเลนสกี้ที่หวังว่า จะโน้มน้าวให้ทรัมป์สนใจให้การสนับสนุนยูเครนต่อไปนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ได้เสนอข้อตกลงให้อเมริกาเข้าลงทุนในแร่ต่างๆ ของยูเครน

รายงานระบุว่า สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่เดินทางไปเคียฟเมื่อวันพุธ กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็น “โล่ความมั่นคง” สำหรับยูเครนภายหลังสงคราม

สำหรับทางฝั่งมหาอำนาจยุโรปที่รวมถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี แสดงท่าทีค่อนข้างตรงไปตรงมามากกว่า โดยประกาศเมื่อวันพุธว่า ต้องการมีส่วนร่วมในการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตของยูเครนด้วย และตอกย้ำว่า มีเพียงข้อตกลงที่เป็นกลางพร้อมการรับประกันด้านความมั่นคงเท่านั้นที่จะรับประกันสันติภาพที่ยืนนาน นอกจากนั้นมหาอำนาจเหล่านี้ยังระบุว่าพร้อมให้การสนับสนุนต่อเพื่อส่งเสริมสถานะในการเจรจาของยูเครน

(ที่มา: เอพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น