โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันพุธ (12 ก.พ.) หารือสงครามในยูเครน ในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับทั้งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญด้านการทูตก้าวย่างแรกของผู้นำอเมริกา เกี่ยวกับสงครามนี้ที่เขารับปากว่าจะทำให้มันสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ยอมรับไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่ยูเครนจะเข้าร่วมนาโต และรวมถึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ยูเครนจะได้ดินแดนทั้งหมดกลับไปอยู่ในครอบครอง
ในข้อความที่โพสต์บนแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของเขาเอง หลังจากพูดคุยกับ ปูติน ทางประธานาธิบดีทรัมป์ เผยว่าพวกเขา "เห็นพ้องกันที่จะมีคณะทำงานเป็นลำดับขั้นในการเริ่มเจรจาในทันที" และบอกว่าเขาจะเริ่มพูดคุยทางโทรศัพท์กับ เซเลนสกี เช่นกัน
หลังจากพูดคุยกับผู้นำยูเครน ทรัมป์เผยว่า "การสนทนาเป็นไปด้วยดีอย่างมาก เขาก็เหมือนกับประธานาธิบดีปูติน ต้องการทำสันติภาพ"
ทำเนียบประธานาธิบดีของเซเลนสกี บอกว่าทรัมป์และเซเลนสกี พูดคุยทางโทรศัพท์กับราว 1 ชั่วโมง ส่วน เครมลิน เผยว่าการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง ปูติน กับ ทรัมป์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง
"ผมมีการพูดคุยอย่างมีความหมายกับ @POTUS เราพูดกันเกี่ยวกับโอกาสบรรลุสันติภาพ หารือเกี่ยวกับความพร้อมของเราในการทำงานร่วมกัน และศักยภาพทางเทคโนโลยีของยูเครน ซึ่งรวมถึงโดรนและอุตสาหกรรมล้ำสมัยอื่นๆ" เซเลนสกีเขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์
วังเครมลินเผยว่า ปูติน และ ทรัมป์ เห็นพ้องพบปะกัน และ ปูติน ได้เชิญ ทรัมป์ เดินทางเยือนมอสโก อย่างไรก็ตามทางรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าว รายงานมีการคาดการณ์ว่าผู้นำทั้ง 2 อาจประชุมกันในประเทศที่ 2 โดยอาจเป็นที่ซาอุดีอาระเบียหรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทรัมป์ พูดมานานว่าเขาอยากจบสงครามในยูเครนอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้บอกถึงแนวทางที่เขาจะใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน บอกว่าชะตากรรมของยูเครนต้องไม่ถูกตัดสินโดยปราศจากการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นของเคียฟ ในขณะที่ ฌอง-โนเอล บาร์โรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เผยว่ายุโรปจะมีบทบาทในการมอบข้อเสนอรับประกันความมั่นคงแห่ยูเครน แม้ว่าสถานภาพความเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนคงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
เซเลนสกี แสดงความหวัง ทรัมป์ จะยังคงความสนใจเดินหน้าให้การสนับสนุนประเทศของเขา โดยในช่วงท้ายได้เสนอข้อตกลงเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแร่ธาตุของยูเครน
ในข้อความที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ ทรัมป์เผยด้วยว่าเขาและเซเลนสกี ยังได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ประชุมเกี่ยวกับสงครามยูเครน ซึ่งจะมีขึ้นในเมืองมิวนิกในวันศุกร์ (14 ก.พ.) ซึ่งทางอเมริกา จะส่ง เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีและ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมด้วย
นอกเหนือจากการที่ ปูติน เชิญ ทรัมป์ เดินทางเยือนมอสโกแล้ว ยังมีสัญญาณอื่นๆ ที่ทั้ง 2 ประเทศ อาจพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์อันตึงเครียด ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการเจรจาเกี่ยวกับยูเครน
วังเครมลินเผยว่ากำลังดำเนินการแลกเปลี่ยนนักโทษในวันอังคาร (11 ก.พ.) ซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่าง 2 ชาติ โดยรัสเซียปล่อยตัว มาร์ก โฟเกล ครูโรงเรียนสหรัฐฯ ซึ่งกำลังชดใช้โทษจำคุก 14 ปีในรัสเซีย แลกกับหัวหน้าองค์กรอาชญากรรมทางไซเบอร์ชาวรัสเซียรายหนึ่ง ที่ถูกคุมขังอยู่ในอเมริกา
การเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเดือนแรกๆ ของความขัดแย้ง ซึ่งเวลานี้ใกล้ครบรอบปีที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนหน้า ทรัมป์ และบรรดาผู้นำตะวันตกเกือบทั้งหมดไม่ได้ติดต่อกับ ปูติน โดยตรง หลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ปัจจุบัน รัสเซีย ยึดครองดินแดนราวๆ 1 ใน 5 ของยูเครน และเรียกร้องให้เคียฟยอมสละดินแดนเพิ่มเติม รวมถึงแสดงจุดยืนเป็นกลางอย่างถาวร ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพที่จะมีขึ้น ส่วนทาง ยูเครน เรียกร้องให้ รัสเซีย ถอนกำลังออกจากดินแดนที่ยึดครอง และพวกเขาจำเป็นต้องได้รับสถานะความเป็นสมาชิกนาโต หรือได้รับการรับประกันด้านความมั่นคงเทียบเท่ากัน เพื่อป้องกันไม่ให้มอสโกโจมตีอีกรอบ
เมื่อเร็วๆ นี้ เคียฟ ดูเหมือนจะยอมรับแล้วว่าพวกเขาคงยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตในอนาคตอันใกล้ แต่เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องได้รับแรงสนับสนุนด้านการทหาร ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพใดๆ
"ถ้ายูเครนไม่ได้อยู่ในนาโต เราต้องการกองทหารมหึมาแบบเดียวกับที่รัสเซียมีในวันนี้" เซเลนสกี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อีโคโนมิสต์ที่เผยแพร่ในวันพุธ (12 ก.พ.) "และสำหรับทั้งหมด เราต้องการอาวุธและเงิน และเราจะร้องขอสหรัฐฯ สำหรับสิ่งนี้" เซเลนสกีกล่าว พร้อมให้คำจำกัดความแผนดังกล่าวของเขาว่าเป็น "แผนบี"
(ที่มา : รอยเตอร์)