(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
DeepSeek’s revelation was only a matter of time
by Henry Kressel
11/02/2025
การปรากฏตัวขึ้นมาของ ดีปซีค บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติจีน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ทว่าเมื่อพิจารณาจากสภาพที่เวลานี้ผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรม เพิ่มจำนวนและกระจายตัวออกไปทั่วโลกแล้ว เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาก็ไม่ควรถึงกับสร้างเซอร์ไพรซ์อะไรมากมาย
ดีปซีค (DeepSeek) บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติจีน สร้างผลงานซอฟต์แวร์เอไอที่โดดเด่น ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดหลักทรัพย์สั่นสะท้านอย่างแรง โดยดึงเอาราคาหุ้นของพวกบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯชั้นนำ รวมทั้ง เอ็นวิเดีย (Nvidia) ด้วย หล่นฮวบลงมาเป็นแถว
หลายๆ คนหลายๆ ฝ่ายเวลานี้ แสดงความสงสัยว่า ทีมงานเล็กๆ ในประเทศจีนทีมหนึ่งทำอย่างไรหนอ จึงใช้ระยะเวลาสั้นๆ แค่นี้ ก็สามารถท้าทายพวกผลิตภัณฑ์เอไอล้ำยุคของประดาบริษัทอเมริกันที่มีทั้งทรัพยากรด้านต่างๆ มากมายมหาศาล, บุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถระดับดีเลิศ, อีกทั้งมีฐานะตำแหน่งแห่งที่ในตลาดซึ่งหยั่งรากมั่นคง
อันที่จริง ในอดีตก็เคยมีทีมงานวิศวกรรมเล็กๆ ซึ่งลงเรี่ยวลงแรงทำงานโดยที่อยู่ห่างไกลจากกระแสหลัก แต่สามารถผลิตความสำเร็จออกมาอย่างโดดเด่นเตะตา เหตุการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดทายล่วงหน้าได้ และเราก็ไม่ควรรู้สึกประหลาดใจอะไรเมื่อมันเกิดขึ้นมา อย่างที่ผมได้ชี้เอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ของผม (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2023/10/individual-creativity-solves-the-impossible/)
เรื่องเช่นนี้ยังเป็นจริงในศาสตร์ต่างๆ จำนวนมากอีกด้วย ผลงานบุกเบิกของ แอลเลน เทอริง (Alan Turing) ในนวัตกรรมของวิทยาการคอมพิวเตอร์ในสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงทศวรรษ 1940 เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งแม้จะเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ดีเลิศก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ดีปซีคของประเทศจีน ก็ได้เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มที่หาได้ยากและยอดเยี่ยมของทีมงานผู้บุกเบิกทีมเล็กๆ ซึ่งสามารถสร้างสรรค์ความก้าวหน้าในระดับการปฏิวัติ
วิทยาการคอมพิวเตอร์นั้น ได้รับการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีสำหรับการทะลุทะลวงทำนองนี้อยู่แล้ว เนื่องจากอำนาจการคำนวณระดับพลังสูงๆ ในเวลานี้เป็นสิ่งที่สามารถหามาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวาง ขณะที่พวกวิศวกรซึ่งผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีตอนี้นี้ก็พบเห็นได้ในทั่วโลก พวกมหาวิทยาลัยตามที่ต่างๆ กว้างขวางยิ่ง ขณะนี้ต่างสามารถจัดการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างโดดเด่นเตะตา เวลาเดียวกันนั้น ซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ซ ก็ทำให้สามารถเข้าถึงการโปรแกรมมิ่งที่สลับซับซ้อนได้อย่างกว้างขวาง
เรื่องที่มีความสำคัญพอๆ กันยังได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากสหรัฐฯ รวมทั้งผู้นำตลาดอย่าง กูเกิล เวลานี้ต่างพัฒนาส่วนสำคัญๆ ของซอฟต์แวร์ของพวกเขากันในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกโดยใช้บรรดาวิศวกรที่ได้ผ่านการฝึกอบรมอย่างดีในระดับท้องถิ่น
สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดคลังรวมแห่งผู้มีความรู้ความสามารถภายในประเทศขึ้นมา ซึ่งบริษัทใหม่ๆ ที่เน้นความสร้างสรรค์ สามารถถือกำเนิดและผงาดขึ้นมาเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ทั้งนี้ในทันทีที่การจัดหาพวกวิศวกรที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีมาก เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างไม่ยากเย็น บรรดาบริษัทซอฟต์ แวร์ใหม่ๆ ก็น่าที่จะก่อตั้งกันขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะโดยอาศัยเงินทุนจากรัฐบาลหรือเงินทุนภาคเอกชน
เมื่อเป็นเช่นนี้ นวัตกรรมต่างๆ จึงสามารถเกิดขึ้นมาจากพวกสถานที่ซึ่งไม่เคยคาดหมายกันมาก่อน –เนื่องจากผู้คนที่ฉลาดหลักแหลมทั้งหลายย่อมสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่โดดเด่นเตะตาขึ้นมาได้เมื่อได้รับทรัพยากรที่ถูกต้อง และพวกทรัพยากรสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์อันสลับซับซ้อน เวลานี้เป็นสิ่งที่หาได้แล้วในพื้นที่ส่วนต่างๆ จำนวนมากของโลก
ผลงานความสำเร็จในระยะยาวของ ดีปซีค ในตลาดเอไอ ยังเป็นเรื่องที่กำลังมีการถกเถียงอภิปรายกันอยู่ อย่างไรก็ดี อาจคาดหมายได้อย่างปลอดภัยว่า การเทรนพวกระบบเอไอให้สามารถใช้งานได้โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายลดน้อยลงกว่าเดิมมากๆ จะส่งผลทำให้ตลาดขยายตัวกว้างขวางออกไป เนื่องจากโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ โดยใช้เอไอ กลายเป็นสิ่งที่สามารถจับจ่ายซื้อหามาใช้งานกันได้มากยิ่งขึ้น
เรื่องเช่นนี้อันที่จริงก็เป็นแบบแผนที่เกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม โดยที่ย่อมก่อให้เกิดผู้ชนะและผู้พ่ายแพ้ขึ้นมาเป็นธรรมดา กระนั้นมันก็มีข้อความสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถถอดออกมาได้จากความสำเร็จของดีปซีค โดยเป็นเรื่องว่าด้วยนโยบายรัฐบาลในการควบคุมการถ่ายโอนเทคโนโลยี
ทักษะความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เกิดการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จะส่งผลกระทบต่อความพยายามต่างๆ ของรัฐบาลในการเข้าควบคุมตลาดเอไอ ด้วยวิธีการตีกรอบจำกัดขนาดขอบเขตและสภาพของผลิตภัณฑ์ที่จะเสนอกันออกมา ทั้งนี้ เพราะการแข่งขันระดับนานาชาติในด้านความริเริ่มสร้างสรรค์ จะทำให้เกิดวิธีการต่างๆ ขึ้นมาอย่างชนิดไม่มีสิ้นสุด ที่จะก้าวข้ามที่จะเล็ดลอดกรอบและข้อจำกัดทั้งหลาย ขณะที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกต่างก็กลายเป็นคู่แข่งขันที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ในระยะยาวแล้ว มันไม่มีกำแพงเครื่องกีดขวางซึ่งพึงพาอาศัยได้จริงๆ ใดๆ หรอก ที่จะสามารถปกป้องคุ้มครองผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และทักษะความชำนาญทางเทคโนโลยีของวิทยาการแขนงนี้ ไม่มีกำแพงเครื่องกีดกั้นใดๆ สามารถมาตีกรอบจำกัดได้ในระยะยาว --อย่างที่ เอ็นวิเดีย และ อินเทล (Intel) เพิ่งสาธิตให้เห็นจากการที่มูลค่าเชิงพาณิชย์ของ 2 บริษัทนี้กำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน
เอ็นวิเดียเลือกที่จะเป็นผู้ริเริ่มบุกเข้าสู่ตลาดเอไอที่กำลังเกิดขึ้นมา ในตอนที่มันยังมีความเสี่ยงสูง ทว่า อินเทล ไม่เอาหนทางนี้ เวลานี้ เอ็นวิเดียมีฐานะเป็นบริษัทภายในประเทศของสหรัฐฯรายหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คู่แข่งขันรายใหม่ๆ จะปรากฏขึ้นจากภูมิภาคอื่นๆ พวกผู้ครองบัลลังก์ทั้งหลายจึงจำเป็นที่จะต้องเฉียบแหลมคล่องแคล่วกว่า จึงจะสามารถเจริญรุ่งเรืองได้
เฮนรี เครสเซล (เกิดปี 1934) เป็นวิศวกร, นักวิทยาศาสตร์, และผู้บริหารบริษัทการเงินชาวอเมริกัน เมื่อปี 1980 เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของบัณฑิตยสภาทางวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติ จากผลงานในการบุกเบิกการวิจัยเครื่องมืออุปกรณ์ด้านออปโตอิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นเป็นพิเศษเรื่องเลเซอร์เซมิคอนดักเตอร์ ปัจจุบันเขาเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งและกรรมการผู้จัดการอาวุโสของ วอร์เบิร์ก พินคัส บริษัทการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์