กระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือในวันอังคาร (1 ก.พ.) ระบุเป็นอีกครั้งที่สหรัฐฯ ก่อภัยคุกคามใหญ่หลวงในด้านความมั่นคง ด้วยการส่งเรือดำน้ำนิวเคลียร์ลำหนึ่งเข้าไปยังท่าเรือของเกาหลีใต้ พร้อมประกาศกร้าวว่ากองกำลังเปียงยางพร้อมใช้ทุกมาตรการที่จำเป็น ตามรายงานของสำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (เคซีเอ็นเอ)
การปรากฏตัวของเรือดำน้ำหนึ่งของสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลี เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเกี่ยวกับโรคจิตเวชอยากเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ ที่ไม่มีวันเปลี่ยนของสหรัฐฯ โฆษกรายหนึ่งของกระทรงงกลาโหมเปียงบางระบุในถ้อยแถลง
"เราแสดงความกังวลใหญ่หลวงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางทหารที่เป็นปรปักษ์และอันตรายของสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารอย่างทันทีทันใด ในภูมิภาคแถวคาบสมุทรเกาหลี และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารติดอาวุธจริงๆ" สำนักข่าวเคซีเอ็นเอรายงานอ้างถ้อยแถลงของกระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือ
"กองทัพเกาหลีเหนือจะไม่รีรอใช้สิทธิความชอบธรรมในการลงโทษพวกผู้ยั่วยุใดๆ" ถ้อยแถลงระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดไปมากกว่านี้
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ เปิดเผยว่าเรือดำน้ำยูเอสเอส อเล็กซานเดรีย เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือปูซานเมื่อวันจันทร์ (10 ก.พ.) เพื่อเติมเสบียงและเปิดโอกาสให้ลูกเรือได้พักผ่อน นอกจากนี้ มันยังเป็นโอกาสดีสำหรับกองทัพเรือของทั้ง 2 ประเทศ ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและกำหนดท่าทีด้านกลาโหมร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับถ้อยแถลงของเกาหลีเหนือ
เรือดำน้ำโจมตีเร็วพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ลำนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกองเรือแปซิฟิกแห่งกองทัพเรืออเมริกา และติดตั้งขีปนาวุธร่อนโทมาฮอว์ก
เกาหลีเหนือมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นประจำเกี่ยวกับการปราฏตัวของสินทรัพย์ทางทหารของสหรัฐฯ และการซ้อมรบร่วมระหว่างกองกำลังอเมริกากับเกาหลีใต้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันอาทิตย์ (9 ก.พ.) พวกเขาเตือนเกี่ยวกับ "ผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนา" ในการประณามการซ้อมรบร่วมต่างๆ ระหว่างวอชิงตันกับโซล
อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงล่าสุดของกระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือ ไม่ได้พาดถิงถึงการซ้อมรบร่วมกระสุนจริงระหว่างทหารเกาหลีใต้และทหารสหรัฐฯ ณ สนามซ้อมรบแห่งหนึ่ง บริเวณทางใต้ของเขตชายแดนเกาหลี ที่เริ่มมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
เกาหลีเหนือยกระดับวาทกรรมดุเดือดมากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว ในการนั่งเก้าอี้ทำเนียบขาสมัย 2 แม้ ทรัมป์ เคยแสดงความคิดเห็นก่อนหน้านี้ บ่งชี้ว่าเขาอยากทาบทามไปยัง คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อเจรจากันโดยตรง
(ที่มา : รอยเตอร์)