ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (9 ก.พ.) ว่าจะเริ่มบังคับใช้มาตรการรีดภาษีและอะลูมิเนียมที่นำเข้าสหรัฐฯ เพิ่มจากเดิมอีก 25% โดยเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดในการปฏิรูปนโยบายการค้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ
ระหว่างให้สัมภาษณ์นักข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันเพื่อไปชมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL Super Bowl ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ ทรัมป์ ระบุว่าคำสั่งรีดภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจะถูกประกาศในวันจันทร์ (10)
ทรัมป์ ยังบอกด้วยว่าจะเริ่มใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ในวันอังคาร (11) และพุธ (12) โดยมีผลเกือบจะทันทีกับทุกประเทศทั่วโลก โดยเทียบเท่ากับภาษีศุลกากรที่ประเทศเหล่านั้นเรียกเก็บจากสินค้าอเมริกัน
“พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพวกเขาเก็บภาษีเรา เราก็จะเก็บภาษีพวกเขาด้วย” ทรัมป์ กล่าว
สหรัฐฯ มีการนำเข้าเหล็กจากแคนาดา บราซิล และเม็กซิโกมากที่สุด รองลงมาได้แก่ เกาหลีใต้และเวียดนาม ตามข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐฯ และสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งอเมริกา (American Iron and Steel Institute)
แคนาดายังถือเป็นซัปพลายเออร์อะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 79% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2024
“เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากแคนาดาเป็นตัวสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของสหรัฐฯ ตั้งแต่กลาโหม อุตสาหกรรมต่อเรือ เรื่อยไปจนถึงยานยนต์” ฟรองซัวส์-ฟิลิปป์ ฌ็องปาญ รัฐมนตรีกระทรวงนวัตกรรมแห่งแคนาดา โพสต์ข้อความผ่าน X
“เราจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อแคนาดา เพื่อแรงงาน และเพื่ออุตสาหกรรมของเราต่อไป”
ทรัมป์ ยังประกาศด้วยว่า แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังคงอนุญาตให้ นิปปอน สตีล เข้ามาลงทุนในบริษัท ยูเอส สตีล แต่จะไม่ยอมให้เข้าไปถือหุ้นใหญ่
“การขึ้นภาษีนำเข้าจะช่วยให้มัน (ยูเอส สตีล) กลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง และผมเชื่อว่ามันมีการบริหารจัดการที่ดี” ทรัมป์ กล่าว
ล่าสุด ทาง นิปปอน สตีล ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับประกาศล่าสุดของ ทรัมป์
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เทอมแรก ทรัมป์ ก็เคยสั่งขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ แต่ต่อมาก็ผ่อนผันยกเว้นให้ประเทศคู่ค้าหลายราย รวมถึงแคนาดา เม็กซิโก และบราซิล โดยในกรณีของเม็กซิโกนั้นยังถือเป็นซัปพลายเออร์เศษอะลูมิเนียม (aluminium scrap) และอะลูมิเนียมอัลลอยรายใหญ่สำหรับอเมริกาด้วย
ในเวลาต่อมา อดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ยังได้ทำข้อตกลงกำหนดโควตายกเว้นภาษีกับอังกฤษ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าประกาศของ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อการยกเว้นและระบบโควตาดังกล่าวหรือไม่
ฟรองซัวส์ เลอโกลต์ นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐควิเบก ออกมาตั้งคำถามผ่าน X ว่า “ควิเบกส่งออกอะลูมิเนียม 2.9 ล้านตันไปสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 60% ของความต้องการทั้งหมด พวกเขาอยากจะเปลี่ยนไปซื้ออะลูมิเนียมจากจีนแทนหรืออย่างไร?”
“ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เราจำเป็นที่จะต้องเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ใหม่ให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอให้ถึงปี 2026 เราจะต้องยุติความไม่แน่นอนเหล่านี้เสียที” เลอโกลต์ กล่าว
ทรัมป์ ระบุว่าเขาจะเปิดแถลงข่าวในวันอังคาร (11) และพุธ (12) เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนรีดภาษีตอบโต้ แถมยังบอกว่าตนเองออกมาพูดเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ (7) เพื่อให้มั่นใจว่า “เราจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ”
ทรัมป์ แสดงความไม่พอใจมานานแล้วที่อียูเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าถึง 10% ซึ่งมากกว่าอัตรา 2.5% ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บอยู่ และมักจะพูดเสมอว่ายุโรป “ไม่อยากซื้อรถจากเรา” แต่กลับส่งรถยนต์ข้ามแอตแลนติกมาขายในสหรัฐฯ ปีละหลายล้านคัน
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มีการเก็บภาษีรถกระบะนำเข้าถึง 25% ซึ่งถือเป็นแหล่งกำไรที่สำคัญของผู้ผลิตยานยนต์ในดีทรอยต์อย่าง เจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) และ สเตลแลนทิส (Stellantis)
อัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักการค้า (trade-weighted average tariff rate) ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 2.2% ตามข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเทียบกับ 12% สำหรับอินเดีย 6.7% สำหรับบราซิล 5.1% สำหรับเวียดนาม และ 2.7% สำหรับสหภาพยุโรป
คริส สวองเกอร์ ซีอีโอของสมาคมผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สหรัฐฯ (Distilled Spirits Council of the United States) ออกมาแสดงความกังวลว่า มาตรการรีดภาษีของ ทรัมป์ อาจกระตุ้นให้อียูสั่งฟื้นการเก็บภาษีแก้แค้นวิสกี้นำเข้าจากอเมริกา โดยเพิ่มเป็น 50%
“เราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ และอียูเร่งหาทางออกให้ได้โดยเร็ว อุตสาหกรรมวิสกี้ของอเมริกากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หากสุรากลั่นของอเมริกาถูกรีดภาษีถึง 50% จะกลายเป็นหายนะสำหรับโรงกลั่นสุรารายย่อย 3,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ” สวองเกอร์ ระบุ
ทรัมป์ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ Fox News ว่า มาตรการของแคนาดาและเม็กซิโกในการควบคุมพรมแดนที่ติดกับสหรัฐฯ เพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้อพยพและยาเสพติดไหลเข้าอเมริกาก่อนถึงกำหนดเส้นตาย 1 มี.ค. “ยังไม่เพียงพอ”
ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะรีดภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% หากว่าประเทศคู่ค้าทั้ง 2 รายไม่พยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจังกว่านี้
ทรัมป์ ได้ผ่อนผันการรีดภาษีดังกล่าวไปเป็นวันที่ 1 มี.ค. หลังจากที่แคนาดาและเม็กซิโกยอมโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในเรื่องพรมแดน โดยเม็กซิโกนั้นรับปากจะเสริมกองกำลังเนชันแนลการ์ดคุมเข้มชายแดนอีก 10,000 นาย ส่วนแคนาดาก็จะนำเทคโนโลยีและบุคลากรมาช่วยยับยั้งไม่ให้มีการลักลอบขนเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่แคนาดาและเม็กซิโกทำนั้นดีพอหรือยัง? ผู้นำสหรัฐฯ ตอบทันทีว่า “ไม่ ยังดีไม่พอ... จะต้องมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และผมจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงมัน”
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ไม่ได้บอกว่าแคนาดาและเม็กซิโกจำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกเพื่อที่หลีกเลี่ยงการถูกรีดภาษีในวันที่ 1 มี.ค.
ที่มา : รอยเตอร์