นายกฯ อิชิบะแสดงความสบายใจในวันอาทิตย์ (9 ก.พ.) เชื่อญี่ปุ่นไม่ถูกอเมริการีดภาษีหนัก เนื่องจากตอนไปเยือนทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ (7) ได้อธิบายให้ทรัมป์ “ตระหนัก” ว่าแดนอาทิตย์อุทัยเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ขณะที่บีบีซีเผยเบื้องหลัง ความสำเร็จของอิชิบะครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะเขา “เตรียมตัวทำการบ้านอย่างหนัก” ดังนั้น แทนที่จะเผชิญหน้า เขากลับเลือกพูดในสิ่งที่ทรัมป์อยากได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอลงทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในอเมริกา
ภายหลังการประชุมสุดยอดที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันเมื่อวันศุกร์ (7) นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ของแดนอาทิตย์อุทัยว่า ตอนที่ดูในทีวี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูน่ากลัวมาก แต่พอมาเจอตัวจริง ผู้นำสหรัฐฯ จริงใจ ดูมีอำนาจมากและเป็นตัวของตัวเองสูง และเสริมว่า ตนและทรัมป์ไม่ได้พูดเรื่องภาษีศุลกากรรถยนต์ รวมทั้งยอมรับว่าไม่รู้ว่า ญี่ปุ่นจะถูกอเมริกาเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มหรือไม่
อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์มองว่า จนถึงตอนนี้โตเกียวยังคงรอดพ้นจากเพลิงสงครามการค้าที่ทรัมป์เที่ยวกระพือขึ้นตามจุดต่างๆ ทั่วโลกตั้งสัปดาห์แรกๆ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค. โดยที่สัปดาห์ที่แล้วเขาประกาศเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มจากสินค้านำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน แม้ยอมเลื่อนการเก็บภาษีสองประเทศแรกภายหลังการหารือกับผู้นำของ 2 ชาติดังกล่าวก็ตาม
กระนั้น ภายหลังกลับถึงบ้าน อิชิบะกล่าวที่โตเกียวในวันอาทิตย์ (10) โดยระบุว่า เชื่อว่า ทรัมป์ “ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ญี่ปุ่นต่างจากประเทศอื่นๆ ในฐานะที่เป็นนักลงทุนซึ่งลงทุนในอเมริกาเป็นรายใหญ่สุดต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน และญี่ปุ่นกำลังสร้างงานจำนวนมากในอเมริกา” ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า อเมริกาจะไม่ผลักดันไอเดียการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มกับญี่ปุ่น และสองประเทศจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามการค้าแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน พร้อมกับย้ำว่า ภาษีศุลกากรควรบังคับใช้ด้วยวิธีที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มียอดการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในอเมริกาสูงที่สุดคือ 783,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2023 ตามด้วยแคนาดาและเยอรมนี
นอกจากนั้น แม้กดดันให้อิชิบะยุติการที่ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าอเมริกา 68,500 ล้านดอลลาร์ แต่ทรัมป์มองแง่ดีว่า เป้าหมายนี้จะลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว หลังจากได้คำมั่นจากอิชิบะว่า ญี่ปุ่นจะลงทุนในอเมริกา 1 ล้านล้านดอลลาร์
อิชิบะ ระบุว่า เหล็กกล้า ปัญญาประดิษฐ์ และยานยนต์ คือธุรกิจที่บริษัทญี่ปุ่นจะเข้าไปลงทุนในอเมริกา และสำทับว่า สามารถประนีประนอมกับทรัมป์ได้เรื่องนิปปอน สตีล โดยผู้นำสหรัฐฯ กล่าวว่า ตอนนี้ นิปปอนจะลงทุนก้อนใหญ่ในยูเอส สตีลโดยไม่เข้าไปถือหุ้นใหญ่ หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทเหล็กกล้าของญี่ปุ่นแห่งนี้พยายามเข้าผนวกกิจการยูเอส สตีล ก่อนจะถูกอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขัดขวาง โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ โดยที่ได้รับเสียงเห็นดีเห็นงามด้วยอย่างแข็งขันจากทางพรรครีพับลิกัน
ด้าน บีบีซี รายงานว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะอิชิบะทำการบ้านมาดี ทั้งด้วยการ “ศึกษาหาข้อมูล” กับพวกเจ้าหน้าที่ รวมทั้งขอคำแนะนำจากฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าเขา ตลอดจนขอความช่วยเหลือจากภรรยาม่ายของชินโซ อาเบะ เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถึงแก่อสัญกรรมแล้วผู้นี้ มีความสนิทชิดเชื้อเป็นอันดีกับทรัมป์
บีบีซีชี้ว่า ความพยายามเหล่านี้เห็นผลชัดเจน ทำให้การพบปะกันครั้งนี้กลายเป็นการฟื้นความมั่นใจ ทั้งทรัมป์และอิชิบะดูเหมือนใจตรงกันเกี่ยวกับแผนส่งเสริมการค้าและการทหารจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของความสัมพันธ์วอชิงตัน-โตเกียว
นอกจากแผนการลงทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในอเมริกาแล้ว อิชิบะยังบอกว่า โตเกียวจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมนโยบายเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ทรัมป์ประกาศระหว่างพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
แม้อาจมีหลายเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นหายใจทั่วท้องได้ แต่เจฟฟรีย์ ฮอลล์ อาจารย์มหาวิทยาลัยการศึกษานานาชาติคันดะในญี่ปุ่น ชี้ว่า เป้าหมายหลักของทริปนี้ของอิชิบะ มีลักษณะเป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ เพราะนอกจากเวลานี้เขามีฐานะเป็นผู้นำรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้ว ยังถูกสื่อท้องถิ่นปรามาสมาตลอดว่า ไม่มีทางประสบความสำเร็จทางการทูต เพราะทั้งเงอะงะ ไม่ชอบเข้าสังคม และจะถูกทรัมป์ไล่ต้อนอย่างแน่นอน
แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะดูเหมือนอิชิดะประสบความสำเร็จอย่างมาก
จากที่เคยเป็นนักการเมืองที่พูดพล่ามในสภา แต่อิชิบะได้รับคำแนะนำจากทีมงานระหว่างการวางกลยุทธ์ก่อนบินไปพบทรัมป์ให้ “พูดแบบรวบรัดด้วยถ้อยคำเรียบง่าย” ฮิลล์เสริมว่า อิชิบะทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดด้วยการยกยอปอปั้นทรัมป์ และเสนอโครงการลงทุนในอเมริกาแทนการเผชิญหน้า
ฮิลล์ทิ้งท้ายว่า แม้มีหลายประเด็นที่ญี่ปุ่นอาจไม่เห็นด้วยกับอเมริกา เช่น ข้อเสนอของทรัมป์ในการเข้ายึดกาซา หรือสงครามการค้าอเมริกา-จีนที่ญี่ปุ่นจับตามองด้วยความกังวล เนื่องจากปักกิ่งเป็นคู่ค้าใหญ่สุดของโตเกียว อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการลงทุนใหญ่ที่สุดของบริษัทญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับทรัมป์มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และมีแนวโน้มสูงสุดว่า ญี่ปุ่นอาจทำตัวเป็น “เพื่อนที่พร้อมเข้าข้างอเมริกาเสมอ”
(ที่มา : รอยเตอร์/บีบีซีนิวส์)