ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) สั่งการให้ทบทวนเงินทุนที่สนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) ทั้งหลาย ในขณะที่เขาเดินหน้าหาทางตัดลดการใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามวาระนโยบายของตนเอง ตามรายงานของสื่อมวลชนหลายแห่งอ้างอิงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอเมริกา
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจาก อีลอน มัสก์ พันธมิตรของทรัมป์ กำลังเป็นผู้นำในการดำเนินการตามความพยายามของประธานาธิบดีรายนี้ ในการลดทอนการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ โดยเฉพาะผ่านโครงการความช่วยเหลือต่างๆ ในความเคลื่อนไหวที่ก่อคลื่นความช็อกในวงกว้าง
ราายงานข่าวระบุว่า บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ สั่งการให้ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานเป็นแกนนำในการทบทวนเงินทุนทั้งหมดที่มอบแก่พวกเอ็นจีโอ เพื่อรับประกันว่าการตัดสินใจมอบเงินทุนสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเหล่านี้ในอนาคต จะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และจัดวางลำดับความสำคัญโดยรัฐบาลชุดนี้
ทรัมป์ เปิดฉากยกเครื่องครั้งใหญ่ในรัฐบาลกลางในวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการดำรงตำแหน่ง ในนั้นรวมถึงกรณีที่เขาสั่งยกเลิกเงินทุนสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียม หาทางโยนทิ้งนโยบายใดก็ตามที่เขาไม่เห็นชอบด้วย
บันทึกความเข้าใจสั้นๆ 2 ย่อหน้า ไม่ได้พาดพิงอย่างเจาะจงว่ามีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรใดบ้างที่ตกเป็นเป้าหมาย แต่มันชัดเจนว่ามีเพียงเอ็นจีโอที่ส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ เท่านั้นที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนในอนาคต
ข้อความในบันทึกความเข้าใจระบุว่า "รัฐบาลสหรัฐอเมริกา มอบเงินผู้เสียภาษีจำนวนมากแก่องค์กรไม่แวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) จำนวนมากมีส่วนเกี่ยวพันในความเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นบ่อนทำลายความมั่นคง ความรุ่งเรืองและความปลอดภัยของประชาชาวอเมริกา" พร้อมบอกต่อว่า "มันคือนโยบายของรัฐบาลของผม ที่หยุดให้เงินทุนสนับสนุนพวกเอ็นจีโอที่บ่อนทำลายผลประโยชน์ชาติ"
ทรัมป์ แสดงความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าครั้งดำรงตำแหน่งสมัยแรก จากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางแผนการต่างๆ ของเขา ในสิ่งที่เขาให้คำจำกัดความคนเหล่านี้ว่าเป็น "รัฐพันลึก"
บรรดาเจ้าหน้าที่ของทรัมป์ ส่งเสียงคร่ำครวญโดยเฉพาะกับการใช้เงินทุนสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลางของสหรัฐฯ (FEMA) สนับสนุนและช่วยเหลือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย
พวกเขากล่าวอ้างซ้ำๆ ว่าหน่วยงานแห่งนี้ใช้เงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับจัดหาการขนส่ง โรงแรมและบริการอื่นๆ ให้แก่พวกคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้ทาง FEMA ได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า เงินเหล่านั้นไม่ได้มาจากเงินทุนบรรเทาภัยพิบัติใดๆ
นอกเหนือจากทบทวนเงินทุนสนับสนุน NGO แล้ว ทางองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development หรือ USAID) ต้องปิดตัวลงในวันศุกร์ (7 ก.พ.) หลัง มัสก์ ตราหน้าว่าเป็นก่อการร้าย
เวลานี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการเรียกตัวกลับพวกเจ้าหน้าที่หลายพันคนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้รับหน้าที่รับผิดชอบ USAID กล่าวหาพวกเจ้าหน้าที่ขององค์การแห่งนี้ "ขัดคำสั่ง" กรณีเพิกเฉยและปฏิเสธข้อเรียกร้องให้พิสูจน์ความเหมาะสมต่อการใช้จ่ายของพวกเขา
ในวันศุกร์ (7 ก.พ.) ลูกจ้างโดยตรงของ USAID ทั่วโลกจะอยู่ภายใต้คำสั่งพักงานเพื่อการบริหาร (administrative leave) ยกเว้นเฉพาะบุคลากรบางส่วนซึ่ง "รับผิดชอบการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญยิ่งยวด เป็นผู้นำหลัก และได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการใดเป็นกรณีพิเศษ"
เจ้าหน้าที่ USAID ที่ประจำการในต่างแดน รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเตรียมวางแผนร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับสหรัฐฯ ภายใน 30 วัน และผู้บริหาร USAID จะพิจารณาข้อยกเว้นเป็นรายกรณีไป โดยคำนึงถึงความยากลำบากในการเดินทางและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น
ล่าสุดมีรายงานว่ารัฐบาลของทรัมป์ มีแผนคงเจ้าหน้าที่ไว้ ณ องค์กร USAID เพียงแค่ไม่ถึง 300 ราย จากจำนวนเจ้าหน้าที่ของ USAID ทั้งหมดทั่วโลกในปัจจุบันมากกว่า 10,000 คน
(ที่มา : รอยเตอร์/เดลิเมล)