ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังไม่ยอมถอย แม้ถูกนานาชาติรุมประณามคัดค้านแผนการเข้ายึดดินแดนฉนวนกาซาของเขา โดยออกมากล่าวในวันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) ว่า เรื่องนี้สามารถเดินหน้าไปได้โดยอเมริกาไม่จำเป็นต้องส่งทหารเข้าไป เนื่องจากอิสราเอลจะส่งมอบกาซาให้สหรัฐฯ ภายหลังการสู้รบสิ้นสุดลง และประชากรของดินแดนนี้ก็อพยพไปตั้งรกรากที่อื่นเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลเร่งขานรับประมุขทำเนียบขาว ระบุสั่งกองทัพยิวเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกสำหรับ “ผู้ที่สมัครใจออกไป” จากกาซา
หนึ่งวันหลังจากถูกรุมประณามคัดค้านจากทั่วโลก จากการที่เขาประกาศว่ามีจุดมุ่งหมายให้สหรัฐฯ เข้าเทกโอเวอร์และพัฒนาฉนวนกาซาให้กลายเป็น “ริเวียราแห่งตะวันออกกลาง” ทรัมป์ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องจะต้องส่งกองทหารสหรัฐฯ เข้าไปประจำการในกาซา ก็ได้เขียนแสดงความเห็นอธิบายเพิ่มเติมลงใน “ทรูธ โซเชียล” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทางเว็บของเขาในวันพฤหัสบดี (6)
“ฉนวนกาซาจะถูกส่งมอบให้แก่สหรัฐฯ โดยอิสราเอล ในตอนที่การสู้รบสรุปปิดฉากแล้ว” ทรัมป์บอก โดยที่ชาวปาเลสไตน์จำนวนกว่า 2 ล้านคนซึ่งเป็นประชากรของดินแดนนี้ “จะถูกโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประชาคมต่างๆ ในภูมิภาคนั้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีความปลอดภัยเยอะยิ่งกว่า และมีความสวยงามมากกว่า อีกทั้งได้อยู่ในบ้านใหม่ๆ และทันสมัย”
“ไม่มีทหารของสหรัฐฯ” ไม่มีความจำเป็นเลย!” เขากล่าว
ก่อนหน้านั้นในวันพฤหัสบดีเช่นกัน รัฐมนตรีกลาโหม อิสราเอล แคตซ์ ของรัฐยิว ได้ออกมากล่าวทางแพลตฟอร์ม X ว่า ได้สั่งการให้กองทัพรัฐยิว จัดทำแผนการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่ “สมัครใจ” อพยพออกจากกาซาที่พังราบเป็นหน้ากลองจากสงครามที่ยืดเยื้อนานกว่า 15 เดือน
โดยแผนการนี้จะรวมถึงตัวเลือกการเดินทางทั้งทางบก ทางเรือ และเครื่องบิน และสามารถไปยังทุกประเทศที่ยอมรับคนเหล่านั้น
แคตซ์ยังถือโอกาสเหน็บแนมพวกประเทศที่คัดค้านปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในกาซา อย่างสเปน ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ โดยเขาบอกว่าเวลานี้ประเทศเหล่านี้ควรอ้าแขนรับชาวปาเลสไตน์
ปรากฏว่า แคตซ์ถูกตอบโต้กลับอย่างรวดเร็ว เป็นต้นว่า โฆเซ มานูเอล อัลบาเรส รัฐมนตรีต่างประเทศสเปนบอกว่า ดินแดนกาซานั้นเป็นของชาวกาซา และกาซาควรเป็นส่วนหนึ่งของรัฐปาเลสไตน์ที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต
ทรัมป์นั้น ประกาศแผนการช็อกโลกคราวนี้ของเขาเป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (4) ระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เยือนทำเนียบขาวหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง โดยตอนแรกทีเดียวคาดหมายกันว่า ทรัมป์กับเนทันยาฮูจะหารือกันเกี่ยวกับขั้นตอนที่สองในแผนการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ภายหลังการสู้รบในกาซา – ซึ่งที่สำคัญแล้วคือการที่กองทัพรัฐยิวถล่มทำลายดินแดนแห่งนี้จนวินาศสันตะโร-- ดำเนินมาได้เกือบๆ 16 เดือน
นอกเหนือจากการแสดงความชื่นชมจากทางอิสราเอลแล้ว ปฏิกิริยาจากนานาชาติเกี่ยวกับแผนการคราวนี้ของทรัมป์ล้วนแต่ออกมาในทางลบ
ชาวปาเลสไตน์ในกาซา ต่างบอกว่าความพยายามผลักดันพวกเขาออกจากกาซากระตุ้นให้นึกถึง “นักบา” ซึ่งแปลว่า “หายนะ” โดยหมายถึงเหตุการณ์ที่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากถูกบังคับทิ้งถิ่นฐานระหว่างการสร้างชาติอิสราเอลในปี 1948
มาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ปฏิเสธข้อเสนอของทรัมป์ โดยระบุว่า เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และยืนกรานว่า สิทธิอันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ไม่ใช่สิ่งที่ต่อรองได้
ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นชาติเฮฟวีเวตในภูมิภาคตะวันออกกลาง แถลงปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอนี้อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งยืนยันจะไม่สานสัมพันธ์ระดับปกติกับอิสราเอลตามที่ทรัมป์พยายามโน้มน้าว หากไม่มีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์
ขณะที่ 2 ชาติคือ จอร์แดน และอียิปต์ ซึ่งทรัมป์ระบุว่าเขาจะพยายามชักจูงให้ยอมรับชาวปาเลสไตน์ไปตั้งรกรากใหม่นั้น กษัตริย์อับดุลเลาะห์ของจอร์แดน ที่ทรงมีกำหนดพบหารือกับทรัมป์ที่ทำเนียบขาวสัปดาห์หน้า ได้แถลงในวันพุธ (5) ว่า พระองค์ปฏิเสธความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะผนวกดินแดนและทำให้ชาวปาเลสไตน์กลายเป็นคนพลัดถิ่น ส่วนอียิปต์เตือนว่าการขับไล่ปาเลสไตน์ออกจากกาซาจะทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ และบ่อนทำลายสนธิสัญญาสันตภาพระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล ซึ่งเป็นเสาหลักเสาหนึ่งที่ทำให้เกิดเสถียรภาพและค้ำจุนอิทธิพลอเมริกันในตะวันออกกลางมาเป็นเวลาหลายสิบปี
ด้านสหประชาชาติ เตือนว่า การบังคับชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นฐานเท่ากับเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ ขณะที่มหาอำนาจ เช่น รัสเซีย จีน และเยอรมนี ระบุว่า แผนการของทรัมป์จะกระตุ้นความเกลียดชัง
กลุ่มฮิวแมน ไรต์ วอตช์กล่าวหาว่า การบดขยี้กาซาของกองทัพอิสราเอลสะท้อนนโยบายที่วางแผนมาอย่างดีเพื่อทำให้ดินแดนกาซาได้รับความเสียหายจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
ลามา ฟาคีฮ์ ผู้อำนวยการประจำตะวันออกกลางของฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ระบุว่า ข้อเสนอของทรัมป์จะทำให้อเมริกาเปลี่ยนจากผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมสงครามเป็นการมีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำอันป่าเถื่อนโหดร้าย
กระนั้น ในวันพุธ ทรัมป์ยืนกรานว่า ทุกคนเห็นด้วยกับแผนการดังกล่าว ถึงแม้สมาชิกหลายคนในคณะบริหารสหรัฐฯ เป็นต้นว่า มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ออกมาแก้ต่างว่า การอพยพชาวปาเลสไตน์ออกจากกาซาจะเป็นการอพยพชั่วคราว และไม่ใช่การกระทำอันเป็นปรปักษ์ แต่เป็นการหยิบยื่นน้ำใจในการฟื้นฟูกาซา
ส่วน แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวยืนยันว่า อเมริกาจะไม่ส่งทหารเข้าไปในกาซา รวมทั้งไม่สนับสนุนเงินทุนในการฟื้นฟูกาซา
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอพี)