(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China building world’s biggest military base in prep for US war
by Yong Jian
03/02/2025
จีนกำลังก่อสร้างอาคารศูนย์สั่งการบังคับบัญชาทหารที่มีขนาดใหญ่โตกว่าเพนตากอน 10 เท่า อีกทั้งสามารถปกป้องรักษาพวกผู้นำระดับท็อปถ้าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมา
มีรายงานข่าวระบุว่า กองทัพปลดแอกประชาชนของจีน กำลังสร้างศูนย์บัญชาการแห่งใหม่ในเมืองหลวงปักกิ่ง ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว จะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารเพนตากอน ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บริเวณชานกรุงวอชิงตัน อย่างน้อย 10 เท่าตัว
ไฟแนนเชียลไทมส์ สื่อดังของสหราชอาณาจักรบอกว่า การก่อสร้างอาคารระดับเมกะไซส์ ซึ่งได้รับการรายงานข่าวโดยบรรดาสื่อมวลชนกระแสหลักอย่างกว้างขวางครั้งนี้ ทำให้ในหมู่สำนักงานข่าวกรองตะวันตกเกิดความตื่นตัวระแวงภัย โดยคิดเห็นกันไปว่า หรือปักกิ่งกำลังเตรียมตัวเพื่อการทำสงครามขนาดใหญ่หรือกระทั่งสงครามนิวเคลียร์
รายงานของไฟแนนเชียลไทมส์บอกว่า จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายที่ได้จากดาวเทียมใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า โปรเจกต์นี้กำลังก่อสร้างกันบนพื้นที่ขนาด 1,500 เอเคอร์ (ราว 3,750 ไร่) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากปักกิ่งไปทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ราว 30 กิโลเมตร ภาพถ่ายเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า มีเครนก่อสร้างอย่างน้อย 100 ตัวทีเดียวกำลังทำงานกันภายในเนื้อที่ขนาดประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร
ในรายงานข่าวนี้ยังระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญทางทหารหลายรายเชื่อว่าสิ่งปลูกสร้างนี้จะมีทั้งพวกหลุมบังเกอร์ใต้ดินที่มีความแข็งแกร่งมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง เพื่อใช้ปกป้องรักษาพวกผู้นำระดับท็อปของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถ้าหากสงครามขนาดใหญ่โตระเบิดมา ทั้งนี้รายงานบอกว่าเริ่มการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างนี้กันตั้งแต่กลางปี 2024 แล้ว
ตามข่าวบอกว่าพวกนักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองได้ตั้งฉายานามให้แก่โครงการนี้ว่า “เมืองทหารปักกิ่ง” (Beijing Military City) เนื่องจากมันจะกลายเป็นศูนย์กลางสั่งการบังคับบัญชาทางทหารที่ใหญ่โตที่สุดในโลกทันทีที่มันเสร็จสิ้นสมบูรณ์
ไฟแนนเชียลไทมส์บอกด้วยว่า พวกนักข่าวของตนได้พยายามเข้าไปใกล้ๆ กับสถานที่ก่อสร้างแห่งนี้ ทว่าถูกทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสกัดเอาไว้ มีเจ้าของร้านขายของแถวนั้นคนหนึ่งบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า บริเวณก่อสร้างตรงนั้นคือพื้นที่ของฝ่ายทหาร
รายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏออกมา ในจังหวะเดียวกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯเรียกร้องให้อเมริกาจัดสร้างโล่ป้องกันขีปนาวุธ “ไอออน โดม” (ron Dome) เจเนอเรชั่นต่อไปที่มีขนาดขอบเขตกว้างขวางเพื่อใช้ในการพิทักษ์ปกป้องแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ โล่ป้องกันที่จะมีพื้นที่การคุ้มครองป้องกันขนาดใหญ่โตกว่าของอิสราเอลมากมายนักหนา จะได้รับการออกแบบให้สามารถสอยร่วงพวกขีปนาวุธความเร็วสูงระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic เร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป) และพวกขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (intercontinental ballistic missiles หรือ ICBMs ซึ่งทั้งมีพิสัยทำการไกล และความเร็วสูงมาก รวมทั้งมีหลายหัวรบที่แต่ละหัวรบกระจายออกไปสู่เป้าหมายแตกต่างกันได้)
กระทรวงการต่างประเทศจีนยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้ของไฟแนนเชียลไทมส์ และเรื่องโปรแกรมไอออนโดมของทรัมป์ เนื่องจากจีนเวลานี้อยู่ระหว่างช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม ถึง 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นวันหยุดราชการ
อย่างไรก็ดี มันไม่ใช่ความลับอะไรในเรื่องที่ว่าจีนนั้นมีพวกบังเกอร์ใต้ดินป้องกันนิวเคลียร์ และศูนย์สั่งการบังคับบัญชาทางทหารใต้ดินอยู่แล้ว เมื่อปี 2017 สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (China Central TV หรือ CCTV) ก็เคยรายงานข่าวว่า กองบัญชาการสั่งการของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนใน ซีซาน (Xishan) ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง อยู่ลึกลงไปใต้ดินราวๆ 100 เมตร นอกจากนั้นยังบอกด้วยว่าพวกนายทหารของกองทัพปลดแอกเริ่มสั่งการบังคับบัญชาการซ้อมรบของทหารจากกองบัญชาการใต้ดินนี้มาตั้งแต่ปี 2013
“ประเทศของเราใช้ยุทธศาสตร์การป้องกันแบบมุ่งเป็นฝ่ายกระทำ (active defense strategy)” เฉียน ชีหู่ (Qian Qihu) นายทหารช่างระดับอาวุโสผู้หนึ่งของจีนบอกกับ ซีซีทีวี ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 “ขณะที่เราไม่เป็นฝ่ายที่ยิงนัดแรก แต่เราก็จำเป็นต้องป้องกันตัวเราเองจากการโจมตีนัดแรกของข้าศึกของเรา นั่นแหละเราจึงจะสามารถต่อสู้ตอบโต้กลับได้”
“พวกอาวุธทางยุทธศาสตร์ของเราต้องได้รับการคุ้มครองป้องกันอย่างเต็มที่ เราต้องสามารถรักษาตัวพวกเราเองให้ปลอดภัยจากการโจมตีใดๆ ของฝ่ายข้าศึก รวมทั้งการโจมตีด้วยนิวเคลียร์” เฉียน กล่าว “ขณะที่พวกเครื่องมือการโจมตีของข้าศึกมีการวิวัฒนาการไปอย่างต่อเนื่อง วิธีการป้องกันของเราก็จำเป็นต้องมีการวิวัฒนาการเช่นเดียวกัน รวมทั้งเราไม่ควรที่จะพึ่งพาอาศัยวิธีการป้องกันเพียงวิธีใดหนึ่งเดียวเท่านั้น”
ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน (Harbin Engineering University) ในปี 1961 เฉียน ถูกส่งตัวไปที่สถาบันวิศวกรรมทหารคุยบีเชฟ (Kuybyshev Military Engineering Academy) ของสหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า สถาบันเหล่าผสมแห่งกองทัพสหพันธรัฐรัสเซีย (Combined Arms Academy of the Armed Forces of the Russian Federation) เพื่อศึกษาเพิ่มเติมทางด้านวิชาวิศวกรรมทหารและธรณีวิทยา
ที่ คุยบีเชฟ (ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ซามารา Samara ในช่วงก่อนปี 1936 และกลับมาใช้ชื่อ ซามารา กันอีกภายหลังปี 1991) เฉียนได้เรียนรู้วิธีการที่สหภาพโซเวียตสร้างบังเกอร์ใต้ดินสำหรับผู้นำสูงสุด โจเซฟ สตาลิน ในปี 1942
สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 37 เมตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สตาลินสามารถเลือกใช้เป็นกองบัญชาการสั่งการบังคับบัญชาทหารอีกแห่งหนึ่ง ทว่าจนแล้วจนรอด สตาลิน ก็ไม่เคยใช้สิ่งปลูกสร้างนี้เลย และกระทั่งมันถูกดัดแปลงให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปในช่วงทศวรรษ 1990
หลังจากที่จีนประสบความสำเร็จในการทดลองอาวุธนิวเคลียร์แบบระเบิดไฮโดรเจนครั้งแรกของตนในเดือนมิถุนายน 1967 ด้วยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต เฉียน ก็เป็นผู้นำในการพัฒนาอาคารสิ่งปลูกสร้างที่สามารถต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศจีน
ในช่วงทศวรรษ 1980 เฉียน นำทีมนักวิจัยในการออกแบบสร้างบังเกอร์ใต้ดิน ขณะที่ฝ่ายตะวันตกในเวลานั้นได้พัฒนาอาวุธที่เรียกว่า ยุทโธปกรณ์ระเบิดแบบเจาะทะลวงชนิดมหึมา (massive ordnance penetrators หรือ MOP) ซึ่งสามารรถทำลายเป้าหมายที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินหลายสิบเมตร
ทุกวันนี้ ระเบิดแบบ GBU-57A/B MOP ของสหรัฐฯ สามารถเจาะทะลวงผ่านชั้นซีเมนต์หนา 60 เมตร และตั้งอยู่ใต้ดินลึกถึง 200 เมตรได้
สือ เหยินฉี (Hsu Yen-chi) นักวิจัยผู้หนึ่งของสภาว่าด้วยการศึกษายุทธศาสตร์และการฝึกซ้อมรบ (Council on Strategic and Wargaming Studies) หน่วยงานคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในนครไทเป, ไต้หวัน บอกกับสื่อมวลชนว่า โครงการก่อสร้างที่จีนกำลังทำอยู่ในปักกิ่งนี้ มีขนาดที่ใหญ่โตกว่าแค่เป็นสถาบันการศึกษาทางทหาร และน่าจะเป็นองค์การทางการบริหาร หรือฐานฝึกอบรมขนาดใหญ่ มากกว่าที่จะเป็นบังเกอร์ใต้ดิน
ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ระบุสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันแห่งหนึ่งเอาไว้แล้วว่าจะเป็นจุดที่สร้างบังเกอร์ต่อต้านนิวเคลียร์ของตน
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2018 ฉิน ต้าจิว์น (Qin Dajun) รองหัวหน้านักวิจัยที่สถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (Institute of Geology and Geophysics) แห่งบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ได้บอกกับ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) สื่อฮ่องกงว่า คณะนักวิจัยชาวจีนค้นพบถ้ำหินปูนแห่งหนึ่งที่มีความเหมาะสมสำหรับสร้างบังเกอร์ต่อต้านนิวเคลียร์
เขาบอกว่า ถ้ำหินปูนที่มีพื้นที่กว้างขวาง และมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติด้วยแห่งนี้ ตั้งอยู่ในอุทยานป่าไม้ซีซาน (Xishan Forest Park) ห่างจากปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 20 กิโลเมตร เขากล่าวว่าถ้ำแห่งนี้มีความลึกลงไปใต้ดินถึง 2,000 เมตร เปรียบเทียบกับความลึกของถ้ำครูเบ-รา (Krubera Cave) ในประเทศจอร์เจีย ซึ่งลึก 2,200 เมตร
ฉินแสดงความเห็นเรื่องนี้ หลังจากที่เกาหลีเหนือไม่ยอมฟังคำเตือนของปักกิ่ง และดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขาในปี 2017
อย่างไรก็ตาม มีนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) บางรายเสนอแนะว่า กระทั่งถ้าหากพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมรรถนะในด้านนี้ และมีถ้ำลึกๆ เหมาะสมสำหรับสร้างบังเกอร์ต่อต้านนิวเคลียร์ มันก็ไม่ใช่เรื่องฉลาดเลยที่จะซ่อนผู้นำพรรคทั้งหมดเอาไว้ในสถานที่แห่งเดียวในระหว่างเกิดสงคราม
เหวิน เจ้า (Wen Zhao) คอมเมนเตเตอร์ชาวจีนที่ตั้งฐานอย่ในแคนาดา พูดทางช่องยูทูบของเขาว่า เมื่อสงครามระเบิดขึ้น พวกผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรหลบซ่อนตัวในสถานที่ต่างๆ กันหลายแห่งเพื่อทำให้โอกาสรอดชีวิตของพวกเขาเพิ่มขึ้นสูงสุด เขากล่าวว่าศูนย์สั่งการบังคับบัญชาทางทหารระดับเมกะไซส์ มีแต่จะดึงดูดให้ข้าศึกเข้าโจมตีทางทหารมากยิ่งขึ้นกว่าปกติด้วยซ้ำ
ในความเป็นจริง มีผู้สังเกตการณ์อื่นๆ บางรายชี้ว่า เป็นไปได้มากที่ สี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะโยกย้ายไปอยู่ที่เมืองซีอานในมณฑลส่านซี ระหว่างที่เกิดสงคราม เนื่องจากนครแห่งนี้ได้รับการปกป้องอย่างดีทั้งจากภูมิประเทศที่มีภูเขาสูงๆ และจากระบบขีปนาวุธ
เมื่อปี 1900 ตอนที่กองทัพของกลุ่มพันธมิตร 8 ชาติ (Eight-Nation Alliance) ที่นำโดยสหรัฐฯ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี เคลื่อนพลเข้าสู่กรุงปักกิ่ง ซูสีไทเฮา สมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจแท้จริงของราชวงศ์ชิงในเวลานั้น ได้ทรงหลบหนีไปยังซีอาน ณ ที่นั้นพระนางอ้างว่าทรงชื่นชอบการล่าสัตว์ และจึงประทับอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี
หย่ง เจี้ยน เป็นผู้ร่วมเขียนรายงานข่าวส่งให้แก่เอเชียไทมส์ เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนที่ชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องเทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, และการเมืองของจีน