xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมทรัมป์’จับตามอง ระแวงสงสัย‘จีน’เร่งขยายอิทธิพลครอบครองท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เคลาดิโอ บอซซี


จีนกำลังสร้างพวกโครงสร้างพื้นฐานทางด้านท่าเรือตามสถานที่ต่างๆ กว้างไกลออกไปทั่วโลก สำหรับภาพนี้ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2025 คือสภาพของท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของจีน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Why China’s port play has Trump so up in arms
by Claudio Bozzi
24/01/2025

จีนทุ่มเงินลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ ในท่าเรือต่างๆ 129 แห่งทั่วโลก ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ และพวกชาติตะวันตกเกิดความระแวงขึ้นมาว่า ‘แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’กำลังมีการติดอาวุธกันอย่างเงียบๆ

ระหว่างการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี20 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้พบหารือกับประธานาธิบดี ดินา โบลัวร์เต ของเปรู และร่วมกันทำพิธีเปิดท่าเรือน้ำลึกยักษ์ใหญ่แห่งใหม่มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเปรูอย่างเป็นทางการ [1] ท่าเรือระดับเมกะพอร์ตแห่งนี้มีชื่อว่า ชานไค (Chancay)

บริษัทคอสโค (Cosco) รัฐวิสาหกิจจีนที่เป็นกิจการยักษ์ใหญ่ด้านการเดินเรือทะเล ได้เข้าซื้อ [2] หุ้น 60% ของท่าเรือแห่งนี้เอาไว้ในราคา 1,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้บริษัทได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ท่าเรือแห่งนี้เป็นเวลา 60 ปี อีกไม่กี่วันถัดมา เรือลำแรกก็ออกเดินทาง [3] จากชานไคมุ่งหน้าไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ พร้อมด้วยสินค้าทั้งพวกผลไม้อย่างบลูเบอร์รี, อโวคาโด ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ

ชานไค เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ว่าด้วยเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st-century maritime Silk Road) ของประเทศจีน ซึ่งมุ่งจะปรับปรุงยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างพวกศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตของจีนกับบรรดาหุ้นส่วนการค้าในตลอดทั่วโลกของแดนมังกร แผนการนี้โยงใยกับการลงทุนอย่างมหาศาลในท่าเรือตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก จนกระทั่งทำให้ฝ่ายตะวันตกแสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนเหนือเส้นทางขนส่งทางทะเลในทั่วโลก ที่กำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งมาหมาดๆ แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาอย่างชัดเจน เมื่อเขากล่าวหาจีนว่า “กำลังเป็นผู้ดำเนินงาน” [4] คลองปานามา และสหรัฐฯมีเจตนารมณ์ที่จะช่วงชิงเอาคลองสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้กลับคืนมา [5] ในความเป็นจริงแล้วจีนไม่ได้เป็นผู้ดำเนินงานคลองปานามาหรอก แต่เป็นบริษัทฮ่องกงแห่งหนึ่งซึ่งเข้าเป็นผู้ดำเนินงานท่าเรือ 2 แห่งในทั้งสองฟากของคลองแห่งนี้

ขยายการดำเนินงานท่าเรือในทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

การขยายเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนในเวลานี้กระทำกันในขนาดและขอบเขตที่ชวนให้รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้จีนได้อาศัยพวกรัฐวิสาหกิจของตนเข้าไปลงทุน [6] ในท่าเรือแห่งต่างๆ รวม 129 แห่งแล้ว ท่าเรือเหล่านี้กระจายอยู่ในหลายสิบประเทศ ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นประเทศในซีกโลกใต้ (Global South) [7] ในบรรดาท่าเรือเหล่านี้ มีอยู่ 17 แห่งซึ่งทางจีนมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนข้างมาก
(ซีกโลกใต้ Global South ในความหมายอย่างกว้างๆ ประกอบไปด้วย แอฟริกา, ละตินอเมริกาและแคริบเบียน, เอเชีย (ยกเว้นอิสราเอล, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้) และ โอเชียเนีย (ยกเว้นออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์) ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Global_North_and_Global_South#:~:text=Global%20North%20and%20Global%20South%20are%20terms%20that%20denote%20a,%2C%20Australia%2C%20and%20New%20Zealand.)

มีอยู่รายหนึ่งประมาณการเอาไว้ว่า ในช่วงระหว่างปี 2010-2019 ทางบริษัทจีนได้ลงทุน [8] ในพวกท่าเรือที่อยู่ต่างแดนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ การค้าที่ขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ของทั่วโลกเวลานี้ มากกว่า 27% ทีเดียวกระทำผ่าน [9] พวกท่าเรือซึ่งกิจการชั้นนำของจีนถือหุ้นเอาไว้โดยตรง

ในละตินอเมริกานั้น จีนบุกเข้าไปแบบทุ่มเทหนักข้อมาก จนกระทั่งเวลานี้กลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ไปแล้ว [10] ยุทธศาสตร์ในด้านท่าเรือของแดนมังกร ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าเล็งเป้าหมายระยะยาวเอาไว้ที่ความสามารถในการเข้าถึงพวกสินค้าออกต่างๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับความมั่นคงปลอดภัยทางด้านอาหารและทางพลังงานของจีนเอง อันได้แก่ สินค้าจำพวก ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, เนื้อวัว, แร่เหล็ก, ทองแดง, และลิเธียม ที่อยู่เกรดนำมาทำแบตเตอรี ได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว ปอร์โตส ดู ปารานา (Portos do Paraná) รัฐวิสาหกิจบราซิลซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์การการท่าเรือในรัฐปารานา ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง [11] กับ ไชน่า เมอร์ชันต์ส พอร์ต โฮลดิ้งส์ (China Merchants Port Holdings) [12] กิจการกึ่งรัฐวิสาหกิจที่ตั้งฐานในฮ่องกง เพื่อขยายท่าเรือคอนเทนเนอร์ ปารานากัว คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (Paranaguá Container Terminal) ซึ่งเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอเมริกาใต้ ยิ่งกว่านั้น จีนยังอาจจะลงทุนในท่าเรือบราซิลเพิ่มมากขึ้นกว่านี้อีก ในเมื่อมีท่าเรืออีก 22 แห่งในแดนแซมบ้า กำหนด [13] จะถูกนำออกมาประมูลสิทธิดำเนินงานในช่วงก่อนสิ้นปี 2025 นี้

สำหรับในทวีปแอฟริกา การลงทุนของจีนได้ขยายตัว [14] จากแค่มีท่าเรือ 2 แห่งในปี 2000 กลายเป็นการลงทุนในสิ่งปลูกสร้างด้านท่าเรือรวม 61 แห่งใน 30 ประเทศภายในปี 2022 [15] ส่วนในยุโรป พวกวิสาหกิจของจีนเป็นเจ้าของแบบสมบูรณ์ หรือแบบครองหุ้นส่วนเกินครึ่ง [16] ในท่าเรือสำคัญมาก 2 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในเบลเยียมและในกรีซ –อันเป็นกิจการที่ได้รับการเรียกขานกันว่าเป็น “หัวมังกร” [17] ของแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ในยุโรป

ยุทธศาสตร์ด้านท่าเรือที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น

การที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลและการขนส่งทางทะเล [18] รายหนึ่งเช่นนี้ ถือเป็นแกนกลางของความมุ่งมาดปรารถนาของ สี จิ้นผิง ที่ต้องการให้แดนมังกรครองฐานะครอบงำทางเศรษฐกิจในระดับโลก

เหตุผลประการหนึ่งก็คือ จีนจำเป็นต้องมีความสามารถเข้าถึงเส้นทางการค้าสำคัญๆ ทั้งหลายอย่างมีเสถียรภาพ จึงจะสามารถตอบสนองได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งกับความต้องการในสินค้าส่งออกจีนของทั่วโลก ตลอดจนสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านการนำเข้าของปักกิ่งซึ่งจำเป็นสำหรับการประคับประคองให้เศรษฐกิจของจีนมีความกระฉับกระเฉง

การควบคุมท่าเรือต่างๆ เอาไว้ ยังทำให้จีนสามารถสร้างพวกเขตเศรษฐกิจ[19] ขึ้นมาในประเทศอื่นๆ ซึ่งมอบอภิสิทธิ์ให้แก่เจ้าของท่าเรือตลอดจนผู้ดำเนินงานท่าเรือในการเข้าถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ทำให้มีบางคนบางฝ่ายเกิดความหวาดกลัวว่า มันอาจเป็นการเปิดทางให้จีนสามารถก่อกวนการไหลเวียนของสินค้าบางอย่างบางชนิด หรือกระทั่งสามารถแผ่อิทธิพลเหนือการเมืองหรือเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ [20]

พลังขับดันสำคัญอีกประการหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ก็คือพวกโลหะและแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งจีนจำเป็นต้องใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนตนเองขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจด้านเทครายหนึ่งของโลก ทั้งนี้ ปักกิ่งมีการรวมศูนย์การลงทุนด้านท่าเรือของตนเอาไว้ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของพวกทรัพยากรสำคัญยิ่งยวดเหล่านี้

ตัวอย่างเช่น จีนคือผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก [21] ในเรื่องแร่ทองแดง ซึ่งที่สำคัญแล้วมาจากชิลี, เปรู, และเม็กซิโก นอกจากนั้นจีนยังเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าลิเธียม คาร์บอเนต (lithium carbonate) รายสำคัญของโลก [22] โดยที่ส่วนใหญ่แล้วมาจากชิลี และอาร์เจนตินา ขณะเดียวกัน จากข้อตกลงด้านท่าเรือที่แดนมังกรทำไว้ในแอฟริกา ก็ทำให้จีนสามารถเข้าถึงแร่แรร์เอิร์ธ ตลอดจนแร่ธาตุชนิดอื่นๆ

นอกจากนั้นแล้ว การต่อเชื่อมเข้าไปในละตินอเมริกาเช่นนี้ ยังช่วยลดแรงกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าที่จีนประสบกับยุโรปในระยะหลังๆ นี้อีกด้วย รวมทั้งมันยังเป็นการลงมือก่อนล่วงหน้า เพื่อรับมือกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯในสมัยที่สองของทรัมป์จะขึ้นภาษีศุลกากรอย่างแรงเอากับสินค้าจีน

ความวิตกกังวลทางการทหาร

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เร่งให้เกิดความระแวงห่วงใยขึ้นในวอชิงตันว่า จีนกำลังท้าทายอิทธิพลสหรัฐฯในพื้นที่หลังบ้านของสหรัฐฯเอง [23]

จีนยืนยันเรื่อยมาว่า การทูตมุ่งขยายท่าเรือริมทะเลของตนเช่นนี้ เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งมุ่งที่ตลาดเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม แดนมังกรก็ได้ก่อตั้งฐานทัพเรือขึ้นมาแล้ว 1 แห่งในชาติแอฟริกาซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างประเทศจิบูตี รวมทั้งเชื่อกันว่าพวกเขายังกำลังสร้างฐานทัพเรืออีกแห่งหนึ่งขึ้นมาในประเทศอิเควทอเรียลกินี [24]

ตามรายงานฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ของสถาบันนโยบายสมาคมเอเชีย (Asia Society Policy Institute) ระบุว่า พวกนักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์เชื่อกันว่า จีนกำลังแสวงหาทาง “ติดอาวุธ” [25] ให้แก่แผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หนทางหนึ่งที่จีนกำลังกระทำในแนวทางนี้ก็คือ การกำหนดให้พวกท่าเรือพาณิชย์ที่แดนมังกรเข้าไปลงทุนจะต้องมีศักยภาพพอๆ กันในการปฏิบัติการในฐานะเป็นฐานทัพทางนาวี [26]

จวบจนถึงเวลานี้ ในบรรดาท่าเรือ 17 แห่งซึ่งจีนเป็นผู้ถือครองหุ้นส่วนข้างมาก มีอยู่ 14 แห่งแล้ว [27] ซึ่งมีศักยภาพที่จะถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ในทางนาวี ด้วยเหตุนี้ท่าเรือเหล่านี้จึงสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งทางพลเรือนและทางทหาร และสนับสนุนเครือข่ายโลจิสติกส์ทางทหารของจีน ตลอดจนเปิดทางให้พวกเรือสังกัดกองทัพเรือจีนสามารถออกปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกลออกไปจากบ้านเกิดได้

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยังแสดงความวิตกกังวลอีกว่า จีนอาจจะอาศัยอิทธิพลที่พวกเขามีอยู่เหนือ [28] บริษัทเอกชนทั้งหลายมาใช้ประโยชน์ในการก่อกวนการค้าในช่วงเวลาที่เกิดสงครามขึ้นมา

การตอบโต้ของฝ่ายตะวันตก

ขณะที่การลงทุนเหล่านี้ของจีนกำลังก่อให้เกิดความระแวงสงสัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าฝ่ายตะวันตกเอง ผู้ที่จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำการลงทุนในท่าเรือต่างๆ ในขนาดเช่นนี้ก็อยู่ในขอบเขตที่จำกัดมาก ตัวอย่างเช่น บรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Development Finance Corporation) [29] มีกระบวนการที่ล่าช้ากว่าและเข้มงวดกว่ามาก ในการดำเนินการลงทุนของตน ถึงแม้กล้าคุยอวดว่าโดยทั่วไปแล้วสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมมากกว่าทั้งสำหรับเหล่านักลงทุนและสำหรับพวกชาติเจ้าบ้าน

อย่างไรก็ดี ยังมีพวกบริษัทของฝ่ายตะวันตกบางแห่งที่กำลังเข้าครอบครองหุ้นในกิจการท่าเรือในประเทศอื่นๆ ทั้งท่าเรือแห่งที่ก่อตั้งขึ้นมาแล้วและแห่งที่ลงมือสร้างใหม่ ถึงแม้ไม่ใช่อยู่ในขนาดขอบเขตเดียวกับทางวิสาหกิจต่างๆ ของจีนก็ตามที

ตัวอย่างเช่น CMA CGM บริษัทเดินเรือทะเลและโลจิสติกส์สัญชาติฝรั่งเศส มียุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือในระดับโลก [30] ซึ่งครอบคลุมถึงการลงทุนในท่าเรือคอนเทนเนอร์ต่างๆ 60 แห่งทั่วโลก โดยที่เมื่อปี 2024 บริษัทนี้ได้เข้าถือหุ้นที่ทำให้มีอำนาจควบคุมเหนือ [31] ท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตท่าเรือซานโตส (Port of Santos) เมืองซานโตส รัฐเซาเปาลู ประเทศบราซิล

สำหรับทรัมป์นั้น เขากำลังข่มขู่คุกคามที่จะใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตอบโต้อำนาจทางทะเลระดับโลกของประเทศจีน ที่ปรึกษาคนหนึ่งในทีมงานรับมอบอำนาจภายหลังชนะการเลือกตั้งของเขา ได้เสนอ [32] ให้ขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 60% รวดจากผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตามที่ขนส่งผ่านท่าเรือชานไค ในเปรู หรือท่าเรืออื่นๆ แห่งใดก็ตามในอเมริกาใต้ที่จีนเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม

อย่างไรก็ดี เห็นกันว่าการกระทำชนิดนี้แทนที่จะทำให้ชาติต่างๆ เกิดความลังเลที่จะลงนามทำข้อตกลงด้านท่าเรือกับปักกิ่ง มันกลับส่งผลเพียงแค่กัดกร่อนบั่นทอนอิทธิพลของวอชิงตันในภูมิภาคนี้มากกว่า รวมทั้งจีนยังน่าที่จะออกมาตรการเพื่อตอบโต้เอาคืน อย่างเช่นการสั่งห้ามส่งออกพวกแร่ธาตุที่ทรงความสำคัญยิ่งยวด [33] ไปยังสหรัฐฯ

เวลาเดียวกันนั้น พวกชาติเจ้าบ้านอย่างเช่น เปรู และบราซิล ต่างกำลังหาทางใช้ประโยชน์จากเรื่องที่มีการแข่งขันกันเพื่อทำการลงทุนในท่าเรือ มาสร้างความได้เปรียบให้แก่พวกเขาเอง จากการที่ดึงดูดความสนใจทั้งจากทั้งฝ่ายตะวันตกและจากจีน ทำให้พวกเขากำลังสามารถเรียกร้องยืนกรานอำนาจในการดูแลจัดการกับกิจการที่เป็นทรัพย์สินของพวกเขาได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกำลังหันมารับเอายุทธศาสตร์ของการใช้ท่าเรือที่พวกเขามีอยู่ เพื่อ “แสดงบทบาทไปในทุกหนทุกแห่ง” บนเวทีระดับโลก

เคลาดิโอ บอซซีเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย อยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียคิน รัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่https://theconversation.com/china-has-invested-billions-in-ports-around-the-world-this-is-why-the-west-is-so-concerned-244733

เชิงอรรถ

[1] https://www.reuters.com/world/chinas-xi-says-chancay-port-start-new-maritine-land-corridor-between-china-latin-2024-11-14/
[2]https://www.lowyinstitute.org/the-interpreter/peru-s-new-megaport-reveals-refined-belt-road
[3]https://english.www.gov.cn/news/202412/19/content_WS6763698cc6d0868f4e8ee17c.html
[4]https://www.nytimes.com/2025/01/02/us/politics/trump-panama-canal-china.html
[5]https://www.bbc.com/news/articles/c2egwzvp080o
[6]https://www.cfr.org/tracker/china-overseas-ports#chapter-title-0-2
[7]https://carnegieendowment.org/posts/2023/08/the-term-global-south-is-surging-it-should-be-retired?lang=en
[8]https://chinapower.csis.org/china-ports-connectivity/#:%7E:text=Learn%20more%20about%20the%20BRI,ports%20between%202010%20and%202019.
[9]https://www.wsj.com/articles/chinas-global-port-investments-give-rise-to-security-worries-11668330942
[10]https://www.cfr.org/backgrounder/china-influence-latin-america-argentina-brazil-venezuela-security-energy-bri
[11]https://www.lloydslist.com/LL1151281/China-Merchants-signs-letter-of-intent-with-Brazilian-port-authority
[12]https://www.cmport.com.hk/en/
[13]https://container-news.com/brazil-speeds-up-port-privatisation-efforts/
[14]https://container-news.com/chinas-expanding-presence-in-african-ports/
[15]https://www.nbr.org/wp-content/uploads/pdfs/publications/sr98_inroadsandoutposts_may2022.pdf
[16]https://www.europarl.europa.eu/RegData/etudes/ATAG/2023/739367/EPRS_ATA(2023)739367_EN.pdf
[17]https://rosalux.gr/en/text/the-dragons-head-greeces-place-in-the-chinese-belt-and-road-initiative/
[18]https://www.csis.org/analysis/responding-chinas-growing-influence-ports-global-south
[19]https://www.chinadaily.com.cn/china/2017-06/16/content_29775474.htm
[20]https://www.uscc.gov/research/logink-risks-chinas-promotion-global-logistics-management-platform
[21]https://wits.worldbank.org/trade/comtrade/en/country/ALL/year/2021/tradeflow/Ixports/partner/WLD/product/260300
[22]https://wits.worldbank.org/trade/comtrade/en/country/ALL/year/2022/tradeflow/Imports/partner/WLD/product/283691#:%7E:text=In%202022%2C%20Top%20importers%20of,200%2C406.13K%20%2C%206%2C802%2C670%20Kg
[23]https://www.cfr.org/backgrounder/china-influence-latin-america-argentina-brazil-venezuela-security-energy-bri
[24]https://maritime-executive.com/article/why-equatorial-guinea-may-host-china-s-first-atlantic-naval-base
[25]https://asiasociety.org/policy-institute/weaponizing-belt-and-road-initiative
[26]https://foreignpolicy.com/2023/07/27/china-military-naval-bases-plan-infrastructure/
[27]https://www.cfr.org/tracker/china-overseas-ports#chapter-title-0-2
[28]https://www.nytimes.com/2025/01/02/us/politics/trump-panama-canal-china.html
[29]https://www.dfc.gov/
[30]https://gcaptain.com/cma-cgm-expands-global-reach-acquires-stake-in-brazils-largest-port-operator/
[31]https://www.reuters.com/markets/deals/cma-cgm-agrees-buy-48-santos-brasil-12-bln-will-launch-takeover-bid-2024-09-23/
[32]https://www.americaeconomia.com/en/node/289502
[33]https://www.reuters.com/markets/commodities/china-bans-exports-gallium-germanium-antimony-us-2024-12-03/
กำลังโหลดความคิดเห็น