xs
xsm
sm
md
lg

ทนๆ เอาหน่อย! 'ทรัมป์' ยอมรับผู้บริโภคมะกันอาจต้อง "เจ็บปวด" จากสงครามภาษีกับแคนาดา-เม็กซิโก-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมายอมรับเมื่อวันอาทิตย์ (2 ก.พ.) ว่ามาตรการรีดภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน จะสร้างความ "เจ็บปวดระยะสั้น" ให้ผู้บริโภคชาวอเมริกัน ขณะที่ตลาดทั่วโลกเริ่มปรากฏสัญญาณความกังวลถึงผลกระทบของการขึ้นภาษีศุลกากรที่อาจบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระพือปัญหาเงินเฟ้อ

ทรัมป์ ระบุว่าเขาเตรียมที่จะหารือกับผู้นำแคนาดาและเม็กซิโกในวันจันทร์ (3) หลังจากที่ทั้ง 2 ชาติประกาศจะงัดมาตรการทางภาษีมาตอบโต้แก้แค้นสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ดี ทรัมป์ ยังคงมีท่าทีไม่วิตกทุกข์ร้อน และไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนใจ

"ผมไม่คิดว่าจะมีอะไรใหญ่โตหรอก" ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังเดินทางจากรีสอร์ต มาร์-อา-ลาโก กลับมายังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. "พวกเขาติดค้างเงินเรามากมาย และผมมั่นใจว่าพวกเขาจะต้องจ่าย"

ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันด้วยว่า การรีดภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรป "จะเกิดขึ้นแน่นอน" แต่ไม่บอกว่าเมื่อไหร่

นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ออกมาชี้ว่า แผนของ ทรัมป์ ที่จะขึ้นภาษีสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% และสินค้าจีน 10% จะบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องจ่ายเงินซื้อของแพงขึ้น

ทรัมป์ อ้างว่าเขาจำเป็นต้องแก้ปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติดที่ถูกลักลอบนำเข้าสหรัฐฯ รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ

"เราอาจเผชิญความเจ็บปวดบ้างในระยะสั้น ซึ่งผมเชื่อว่าคนอเมริกันเข้าใจ ทว่าในระยะยาวที่ผ่านมาสหรัฐฯ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากทุกประเทศทั่วโลก" เขากล่าว

บริษัทในอเมริกาเหนือต่างเตรียมตัวรับแรงกระเพื่อมจากมาตรการรีดภาษี ซึ่งคาดว่าจะกระทบตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์เรื่อยไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงาน

นักวิเคราะห์จาก ING ระบุในรายงานเมื่อวันอาทิตย์ (2) ว่า การขึ้นภาษีของ ทรัมป์ จะครอบคลุมสินค้าเกือบครึ่งหนึ่งที่นำเข้าสหรัฐฯ และทำให้สหรัฐฯ จะต้องเพิ่มกำลังผลิตของตนเองขึ้นกว่าเท่าตัวเพื่อที่จะลดช่องว่างดังกล่าว ซึ่งเป็นไปได้ยากมากในระยะเวลาอันใกล้

"พูดในทางเศรษฐกิจ การกระพือความตึงเครียดทางการค้าเป็นสถานการณ์ที่จะทำให้สูญเสียกันทุกฝ่าย สำหรับทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง" 

ด้านนักวิเคราะห์กลุ่มอื่นๆ ก็เตือนว่า สงครามภาษีครั้งนี้อาจทำให้เศรษฐกิจแคนาดาและเม็กซิโกเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) และทำให้สหรัฐฯ เกิดภาวะ stagflation ซึ่งหมายถึงเงินเฟ้อพุ่งสูง เศรษฐกิจชะลอตัว และตัวเลขคนตกงานเพิ่มสูงขึ้น

มาตรการขึ้นภาษีของ ทรัมป์ ซึ่งออกด้วยคำสั่งบริหาร 3 ฉบับจะเริ่มมีผลบังคับในเวลา 12.01 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออกของวันอังคาร (4) ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่ายังพอมีความหวังที่จะเจรจากันได้อยู่ โดยเฉพาะกับแคนาดาและจีน

นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมนแซคส์ชี้ว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว แต่ผลลัพธ์ที่ตามมายังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน เนื่องจากทำเนียบขาวเองก็ตั้งเงื่อนไขในการยกเลิกเอาไว้อย่างกว้างๆ 

เอกสาร Fact Sheet ที่ออกโดยทำเนียบขาวไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ทั้ง 3 ประเทศจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้รับการผ่อนผันจากสหรัฐฯ

ทรัมป์ ยืนกรานที่จะคงคำสั่งรีดภาษีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าสิ่งที่เขาเรียกว่า "สถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ" เกี่ยวกับยาเฟนทานิลและคนอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายในสหรัฐฯ จะหมดไป

จีนประกาศจะยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) และใช้มาตรการตอบโต้อื่นๆ ทว่าก็ยังไม่ปิดประตูสำหรับการเจรจากับวอชิงตัน ขณะเดียวกันก็ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบเกี่ยวกับวิกฤตยาเฟนทานิล โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนชี้ว่า "เฟนทานิลคือปัญหาของอเมริกาเอง" และที่ผ่านมาจีนก็ได้มีมาตรการที่จริงจังเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

ด้านประธานาธิบดี คลอเดีย เชนบาม แห่งเม็กซิโกออกมากล่าวสุนทรพจน์พร้อมชูกำปั้นประกาศว่าเม็กซิโกจะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปให้ได้ พร้อมกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤตยาเฟนทานิล และคำสั่งรีดภาษีของ ทรัมป์ จะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น

เธอยังเตรียมแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ภายในวันจันทร์ (3) 

ด้านรัฐบาลแคนาดาประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (2) ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายผ่านองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดค้านคำสั่งรีดภาษีของทรัมป์ ขณะที่นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ยังสนับสนุนให้ชาวแคนาดา "บอยคอต" อเมริกา หลังจากที่มีคำสั่งรีดภาษีตอบโต้สินค้าอเมริกันมูลค่า 155,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เนยถั่ว เบียร์ ไวน์ ไม้แปรรูป เรื่อยไปจนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ 

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น