xs
xsm
sm
md
lg

ปากกล้าขาสั่น! ปานามาไม่เชื่อสหรัฐฯ ใช้กำลังรุกราน พร้อมเจรจาประเด็นควบคุมคลอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์ (2 ก.พ.) ขู่ดำเนินการกับปานามา หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อลดอิทธิพลของจีนเหนือคลองปานามา อย่างไรก็ตาม ผู้นำของประเทศแห่งนี้ยืนกรานว่าเขาไม่กลัวอเมริกาจะใช้กำลังเข้ายึด และเสนอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้าพูดคุยเจรจากัน

รูบิโอ ซึ่งเดินทางเยือนต่างแดนเป็นครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับปานามา ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สรุปแล้วว่าประเทศแห่งนี้ละเมิดเงื่อนไขในสนธิสัญญา เกี่ยวกับการส่งมอบน่านน้ำสำคัญนี้คืนแก่ปานามาในปี 1999

เขาชี้ถึงกรณีที่จีนมีอิทธิพลและควบคุมคลองปานามา ทางน้ำสำคัญที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นเส้นทางการสัญจรผ่านของตู้สินค้าสหรัฐฯ ราว 40%

แทมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าระหว่างพบปะกับประธานาธิบดีโฮเซ ราอูล มาลิโน ทางรูบิโอ "พูดอย่างชัดเจนว่าสถานภาพปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้และถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด มันจะจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองภายใต้สนธิสัญญา"

อย่างไรก็ตาม รูบิโอ ให้ภาพการประชุมเลวร้ายน้อยกว่าทางสหรัฐฯ หลังจากก่อนหน้านี้เขาให้การตอบรับ รูบิโอ เขาสู่ทำเนียบประธานาธิบดี ด้วยทหารกองเกียรติยศ

"ณ เวลานี้ ผมไม่รู้ถึงภัยคุกคามที่เป็นจริงเป็นจังใดๆ ที่มีต่อสนธิสัญญา มันยังอยู่ดี และรู้สึกกังวลน้อยกว่ามากเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารเข้ายึดคลอง" มูลิโน บอกกับผู้สื่อข่าวหลังการพบปะหารือ อ้างถึงสนธิสัญญาส่งมอบคลองในช่วงปลายปี 1999 "อธิปไตยเหนือคลองแห่งนี้ ไม่อยู่ในข้อสงสัยใดๆ" เขากล่าว พร้อมเสนอเจรจาระดับเทคนิคกับสหรัฐฯ เพื่อปัดเป่าความกังวล

รูบิโอ ไม่ได้บอกว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการใด แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ทรัมป์ เพิ่งกำหนดมาตรการรีดภาษีสูงลิ่วเล่นงาน 3 คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอเมริกา ได้แก่ แคนาดา จีน และเม็กซิโก

ทั้ง รูบิโอ และ ทรัมป์ ต่างกล่าวหา จีน มีอิทธิพลอย่างมากเหนือโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบคลอง ที่อาจดำเนินการปิดมันในกรณีที่เกิดความขัดแย้งใดๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบหายนะสำหรับสหรัฐฯ

มีการประท้วงกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นไปอย่างดุเดือดในปานามา ก่อนหน้าการเดินทางเยือนของรูบิโอ กระตุ้นให้ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตา

พวกผู้ประท้วงเผาหุ่นรูบิโอที่สวมสูทสีแดงขาวน้ำเงิน และชูภาพเขากับทรัมป์ต่อหน้าธงนาซี "รูบิโอ ออกไปจากปานามา" เหล่าผู้ชุมนุมต่างร้องตะโกนตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พบปะกับมูลิโน "นี่คือการส่งสารถึงพวกจักรวรรดินิยม" ซาอูล เมนเดซ ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าวถึงรูบิโอ "เราเน้นย้ำว่า ที่นี่ไม่มีอะไรให้ทรัมป์ ปานามาเป็นประเทศเสรีและมีอำนาจอธิปไตย"

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับพวกผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ (31 ม.ค.) ทรัมป์ ระบุว่าการอ้อนข้อเกี่ยวกับคลองยังไม่เพียงพอ และ "มันเป็นเรื่องเหมาะสมที่เราจะเอาคลองคืนมา"

คลองปานามาถูกสร้างขึ้นโดยสหรัฐฯ ที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของแรงงานหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อสายแอฟริกา ที่มาจากบาร์บาดอส จาไมกา และที่อื่นๆ ในแถบแคริบเบียน

สหรัฐฯ คงไว้ซึ่งการควบคุมคลองปานามา ครั้งที่เปิดทำการในปี 1914 แต่เริ่มเจรจาต่อรอง ตามหลังเหตุจลาจลนองเลือดในปี 1964 โดยผู้ประท้วงชาวปานามา ที่โกรธเคืองกรณีที่ปล่อยให้ต่างชาติควบคุมคลองแห่งนี้

จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น ตกลงมอบคลองแห่งนี้แก่ปานามาในช่วงปลายปี 1999 โดยอดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับรายนี้มองว่าเป็นสิ่งจำเป็นทางศีลธรรมที่อเมริกาต้องเคารพต่อประเทศที่เล็กกว่าแต่มีอธิปไตยแห่งนี้

แต่สำหรับ ทรัมป์ เขามีมุมมองที่ต่างออกไป และหันมาใช้แนวทาง "Big Stick" (การใช้ความเข้มแข็งหรือการข่มขู่ในการจัดการกับสถานการณ์ทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) แบบเดียวกับในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งสหรัฐฯ มักขู่ใช้กำลังในการเปิดทางดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะในละตินอเมริกา

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น