xs
xsm
sm
md
lg

‘รมว.นฤมล’ เสนอบทความที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่มที่ดาวอส ระบุไทยเดินหน้าทำนาแบบเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม-เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรระดับโลกสร้างตลาดข้าวเน้นลดปัญหาโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะร่วมการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ที่ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ และเข้าร่วมนำการเสวนารายการMeeting of the First Movers Coalition Leaders ของการประชุมนี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา
รมว.เกษตรและสหกรณ์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เสนอบทความต่อที่ประชุม เวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม (WEF) ที่ ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ เร็วๆ นี้ ระบุประเทศไทยเริ่มเดินหน้าทำนาแบบมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เข้าร่วมการดำเนินงานของกลุ่ม The First Movers Coalition for Food ซึ่งเป็นพันธมิตรภาครัฐ-เอกชนระดับโลก ที่มุ่งสร้างความต้องการในตลาดสำหรับสินค้าการเกษตรที่ผลิตโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

ในบทความชิ้นนี้ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมประจำปีที่ดาวอสของ WEF เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวทบทวนเรื่องการทำนาข้าวในปัจจุบัน แม้มีข้อดีจำนวนมาก แต่ก็มีส่วนในการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกของโลกอยู่ราวๆ 1.5% โดยสาเหตุสำคัญเนื่องจากการจัดการที่ย่ำแย่ในเรื่องการใช้ปุ๋ย และการที่พวกแบคทีเรียซึ่งปล่อยก๊าซมีเทน ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญชนิดหนึ่ง สามารถเติบโตได้ดีในนาข้าวแบบนาน้ำท่วม ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ 1.5% นี้ สูงเกือบเท่ากับการปล่อยก๊าซโลกร้อนของแทบทั้งอุตสาหกรรมการบินทีเดียว

บทความนี้ชี้ว่า จากการศึกษาวิจัย ทำให้ในปัจจุบันมีหนทางแก้ไขที่สร้างความหวัง รวมทั้งมีการศึกษานำร่องเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาธิตให้เห็นว่า การหันมาใช้วิธีทำนาแบบมุ่งผลยั่งยืนระยะยาว สามารถที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนความสามารถของชาวนาในการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศในยุคโลกร้อน เวลาเดียวกันนั้นก็ให้ผลดีอย่างสำคัญแก่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ในบทความนี้ ได้ยกตัวอย่างเทคนิค 2 เทคนิค ได้แก่ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง และการปลูกข้าวแบบหยอดหรือหว่านเมล็ดข้าวลงแปลงนาโดยตรง ซึ่งผลการวิจัยและการศึกษานำร่องแสดงให้เห็นว่า ชาวนาสามารถได้รับผลเก็บเกี่ยวอย่างเดียวกันกับการทำนาน้ำท่วม หรือกระทั่งมากกว่าเสียอีก และเวลาเดียวกันก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีสาระสำคัญ

ทั้งนี้ วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเน้นการจัดการระดับน้ำในนาข้าวอย่างระมัดระวังนั้น ในการศึกษานำร่องบางชิ้นระบุว่า สามารถลดการปล่อยไอเสียได้สูงถึง 70% ขณะที่วิธีการปลูกข้าวแบบหย่อนเมล็ดโดยตรง ก็ลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เอื้อให้แบคทีเรียปล่อยก๊าซมีเทน เจริญเติบโต จากการศึกษานำร่องหลายชิ้นชี้ว่า มีศักยภาพลดการปล่อยไอเสียได้มากถึง 40%

ไม่เพียงเท่านั้น เทคนิคการทำนาข้าวอย่างมุ่งความยั่งยืนเช่นนี้ ยังให้ผลดีอย่างอื่นๆ อีกด้วย เป็นต้นว่า ผลการศึกษาเรื่องระบบการปลูกข้าว “แบบประณีต” (SRI) ระบุว่าสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นราว 20-100% ลดการปล่อยไอเสียก๊าซเรือนกระจกได้ครึ่งหนึ่ง ลดการใช้น้ำลงได้ครึ่งหนึ่ง และลดการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ 90% เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบที่เคยใช้กันมาแต่เดิม ทั้งนี้การลดการใช้น้ำถือว่ามีความสำคัญยิ่งในปัจจุบันซึ่งทรัพยากรน้ำหายากขึ้นทุกทีจากปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

บทความนี้ชี้ว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปในเส้นทางนี้แล้ว เป็นต้นว่า ในปี 2018 ได้เริ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ครอบคลุมพื้นที่เกือบๆ 500,000 เฮกตาร์ (3.125 ล้านไร่) ซึ่งได้เพิ่มความตระหนักรับรู้ของชาวนาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถกระทบการปลูกข้าวได้อย่างไรบ้าง กระนั้นก็ตาม โครงการนี้ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงพวกปัจจัยทั้งทางโลจิสติกส์ ทางเทคนิค และทางการเงิน ที่เป็นตัวจำกัดทำให้ไม่มีการใช้พวกเทคโนโลยีลดโลกร้อนได้อย่างแพร่หลายเต็มที่

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขยายการผลิตข้าวแบบยั่งยืนออกไปอีก ในเดือนเมษายน 2024 ประเทศไทยได้ประกาศระยะใหม่ของโครงการนี้ โดยคราวนี้มุ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบต่อทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยการตั้งเป้าครอบคลุมพื้นที่นา 750,000 เฮกตาร์ (4,687,500 ไร่) และให้ความสนใจเพิ่มเติมในเรื่องการพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อสนับสนุน รวมทั้งมุ่งทำให้ชาวนาได้ผลกำไรสูงขึ้น


บทความนี้ระบุว่า ในภาคเศรษฐกิจที่ยากแก่การสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน การรวมตัวกันในด้านการจัดซื้อถือเป็นเครื่องมือทรงพลังอย่างหนึ่งสำหรับขับดันการเปลี่ยนแปลง ด้วยการทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถรวมทรัพยากร ตั้งเป้าหมายที่หนุนเสริมกัน และเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนขึ้นมา ทั้งนี้ กลุ่มที่เป็นแนวหน้าของวิธีการเช่นนี้ในอุตสาหกรรมอาหาร ก็คือ พันธมิตร First Movers Coalition (FMC) for Food ซึ่งเป็นแผนการริเริ่มร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนระดับโลก ที่มุ่งวางแผนกำหนดกรอบความต้องการร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย เพื่อสร้างระบบอาหารที่มีความยั่งยืนขึ้นกว่าที่เป็นมา

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยจึงประกาศให้ความสนับสนุนแก่แผนการริเริ่ม FMC for Food ณ การประชุม WEF ครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มซัปพลายข้าวชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังตอกย้ำให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ระดับกว้างขวางออกไป ที่มุ่งยกระดับทำให้การปฏิบัติในด้านการจัดซื้อ กลายเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดเปิดประตูตลาดต่างๆ รวมทั้งขับดันเพิ่มพูนความต้องการในผลิตภัณฑ์การเกษตรแบบเน้นความยั่งยืน

บทความย้ำว่า ด้วยการจับมือกัน กลุ่มพันธมิตรนี้ก็กำลังส่งข้อความกระจายไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมอาหาร ให้หาทางใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจนี้ ขณะเดียวกัน จากภาพความก้าวหน้าของบรรดาสมาชิกกลุ่มพันธมิตรนี้ ตลอดจนความตื่นเต้นที่ได้เกิดว่าตลาดข้าวกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าข้าวแบบเน้นความยั่งยืนนั้น ไม่เพียงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ยังอยู่ในความต้องการของตลาดอีกด้วย

บทความซึ่งใช้ชื่อว่า ASEAN leadership to bend the curve on climate by strengthening food systems ชิ้นนี้ เขียนร่วมกัน 2 คน คือ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร และ ทาเนีย สเตราส์ หัวหน้าทางด้านอาหารและน้ำ ของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม

(ที่มา: MGROnline)
กำลังโหลดความคิดเห็น