เกิดเหตุเหยียบกันตายกลางเทศกาลมหากุมภเมลา (Maha Kumbn Mela) ซึ่งเป็นเทศกาลอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลกที่ประเทศอินเดีย โดยเบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 15 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
ความแออัดยัดเยียดจนถึงขั้นเหยียบกันตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในเทศกาลทางศาสนาของอินเดีย โดยเฉพาะกุมภเมลาซึ่งเป็นเทศกาลที่จะมีผู้ศรัทธาเข้าร่วมนับล้านๆ คน และมีประวัติเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแทบทุกครั้ง
สำหรับเทศกาลมหากุมภเมลาในปีนี้ซึ่งกินเวลา 6 สัปดาห์ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในปฏิทินทางศาสนาของชาวฮินดู และคาดกันว่าจะมีผู้คนหลายล้านชีวิตมุ่งหน้าไปทำพิธีอาบน้ำชำระล้างร่างกายในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์วันนี้ (29 ม.ค.)
"ตอนนี้มีคนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 15 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่งกำลังรับการรักษา" แพทย์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เทศกาลในเมืองประยาคราช (Prayagraj) หรืออัลลาฮาบัด ให้สัมภาษณ์กับสื่อวันนี้ (29) โดยไม่ประสงค์ที่จะออกนาม
หน่วยกู้ชีพทำงานร่วมกับผู้แสวงบุญในการเคลื่อนย้ายเหยื่อออกมาจากพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งเต็มไปด้วยเศษเสื้อผ้า รองเท้า และข้าวของสัมภาระกระจัดกระจายเกลื่อน ขณะที่ตำรวจอินเดียหลายนายก็ใช้เปลหามร่างผู้เสียชีวิตออกมา
ญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายสิบคนต่างยืนรอฟังข่าวที่ด้านนอกเต็นท์พยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งถูกตั้งขึ้นห่างจากพื้นที่จัดเทศกาลประมาณ 1 กิโลเมตร
สำหรับพิธีในวันนี้ (29) ถือเป็นหนึ่งในวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในเทศกาลมหากุมภเมลา โดยจะมีนักบวชเดินนำเหล่าผู้แสวงบุญนับล้านๆ คนลงไปประกอบพิธีอาบน้ำชำระล้างบาป ณ จุดบรรจบของแม่น้ำคงคาและยมุนา
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อินเดียกลับใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเตือนให้ผู้แสวงบุญหลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้จุดประกอบพิธีหลักในแม่น้ำเพื่อความปลอดภัย
อคังษะ รานา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น บอกกับสื่อ Press Trust of India ว่าเหตุเหยียบกันตายเกิดขึ้นหลังจากที่เครื่องกีดขวางฝูงชนบางส่วนพังทลายลง
มัลติ ปันเดย์ หนึ่งในผู้แสวงบุญ เล่าว่าเขากำลังจะเดินลงไปอาบน้ำที่แม่น้ำตามเส้นทางที่กำหนดไว้ในขณะที่ผู้คนเริ่มแออัดและมีการเหยียบกัน
"จู่ๆ ผู้คนก็เริ่มผลักและดันกัน และมีคนหลายคนถูกเหยียบ" ผู้แสวงบุญวัย 42 ปี รายนี้กล่าว
เทศกาลกุมภเมลามีรากเหง้ามาจากความเชื่อในเทพปรณัมฮินดูเกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงน้ำอมฤตระหว่างฝ่ายเทพและอสูร
คณะผู้จัดงานเปรียบเทียบขนาดของเทศกาลมหากุมภเมลาในปีนี้ว่าเป็นเสมือน "ประเทศชั่วคราว" เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้แสวงบุญเดินทางมาร่วมพิธีตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งสิ้นสุดในวันที่ 26 ก.พ. มากถึง 400 ล้านคน
ที่มา : เอเอฟพี