xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์ปรับเข็ม ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ เหลือ 89 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ชี้ความเสี่ยงจาก ‘นิวเคลียร์-เอไอ’ พาโลกใกล้จุดจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ปรับเข็มนาฬิกา “วันสิ้นโลก” (Doomsday Clock) เข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนมากยิ่งขึ้นเมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) โดยอ้างถึงภัยคุกคามนิวเคลียร์จากรัสเซียท่ามกลางสถานการณ์สงครามในยูเครน รวมไปถึงความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการทหาร และความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้โลกขยับเข้าใกล้ “หายนะ” ทั้งสิ้น

Bulletin of the Atomic Scientists ได้ตั้งเข็มนาฬิกาเอาไว้ที่ 89 วินาทีก่อนเที่ยงคืนซึ่งหมายถึง “จุดแห่งการทำลายล้าง” โดยทฤษฎี โดยเร็วขึ้นอีก 1 วินาทีจากที่ตั้งไว้เมื่อปีที่ผ่านมา

องค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งมีฐานที่นครชิคาโกแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1945 โดย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียง และ เจ.โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันผู้ได้ฉายา “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” และได้สร้างนาฬิกาวันสิ้นโลกขึ้นเมื่อปี 1947 ในระหว่างช่วงสงครามเย็นซึ่งเกิดตามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อที่จะเตือนสาธารณชนให้ตระหนักว่า มนุษยชาติกำลังเข้าใกล้การทำลายล้างโลกมากขนาดไหน

“ปัจจัยที่นำมาสู่การปรับเข็มนาฬิกาในปีนี้มีทั้งความเสี่ยงนิวเคลียร์ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โอกาสที่ความก้าวหน้าทางชีววิทยาจะถูกนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในปี 2024 แต่เราเล็งเห็นถึงความไม่เพียงพอในการป้องกันความท้าทายต่างๆ และในหลายกรณีนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงลบที่น่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ” แดเนียล ฮอลซ์ ประธานคณะทำงานฝ่ายวิทยาศาสตร์และความมั่นคงของกลุ่ม Bulletin of the Atomic Scientists ระบุ

“การปรับเข็มนาฬิกาเป็น 89 วินาทีก่อนเที่ยงคืนถือเป็นคำเตือนไปยังผู้นำโลกทุกคน” ฮอลซ์ กล่าวเสริม

องค์กรแห่งนี้ระบุด้วยว่า สหรัฐฯ จีน และรัสเซียมีหน้าที่หลักที่จะต้องดึงโลกออกมาจากปากเหวแห่งการทำลายล้าง และแก้ปัญหาด้วยความจริงใจผ่านเวทีเจรจานานาชาติ

“สงครามในยูเครนยังคงเป็นต้นตอหลักของความเสี่ยงนิวเคลียร์ และความขัดแย้งอาจถูกยกระดับไปสู่การนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ หากมีการตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น หรือเกิดอุบัติเหตุและการคำนวณที่ผิดพลาด” ฮอลซ์ กล่าว

เมื่อเดือน พ.ย. ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้ประกาศลดเงื่อนไขในการใช้อาวุธนิวเคลียร์หากรัสเซียถูกโจมตีด้วยอาวุธตามแบบดั้งเดิม ซึ่งทำเนียบเครมลินระบุว่าเป็นสัญญาณเตือนไปถึงโลกตะวันตกและสหรัฐฯ ที่ยังคงส่งมอบอาวุธให้ยูเครน

รัสเซียยังได้มีการอัปเดตหลักปฏิบัติด้านนิวเคลียร์เพื่อระบุถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ ปูติน จะสามารถสั่งนำอาวุธจากคลังแสงนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกออกมาใช้งานจริงได้

รัฐบาลหมีขาวประกาศในเตือน ต.ค. ว่าจะไม่เจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับสหรัฐฯ เพื่อมาทดแทนสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ (New Strategic Arms Reduction Treaty - New START) ซึ่งจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่ทั้ง 2 ชาติสามารถประจำการได้ และกำลังจะหมดอายุลงในปี 2026 เนื่องจากมอสโกเชื่อว่าควรจะขยายให้ครอบคลุมไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็เป็นอีกหนึ่งต้นตอของความไร้เสถียรภาพ หลังสงครามอิสราเอล-ฮามาสในกาซาได้ลุกลามขยายวงกว้างจนมีชาติอื่นๆ เข้าร่วมวงรวมถึง “อิหร่าน” ส่วนจีนได้ยกระดับปฏิบัติการทางทหารข่มขู่ไต้หวันมากขึ้น และเกาหลีเหนือมีการนำขีปนาวุธทิ้งตัวรุ่นต่างๆ ออกมายิงทดสอบอย่างไม่หยุดหย่อน

“เราเฝ้าติดตามข้อตกลงหยุดยิงในกาซาอย่างใกล้ชิดว่ามันจะไปรอดหรือไม่ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงกับอิหร่าน ยังคงอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอย่างน่าอันตราย” ฮอลซ์ กล่าว

“ยังมีจุดฮอตสปอตอื่นๆ ทั่วโลก เช่น ไต้หวันและเกาหลีเหนือ สถานที่เหล่านี้อาจกลายเป็นจุดปะทะที่มีมหาอำนาจนิวเคลียร์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยผลลัพธ์นั้นยากที่จะคาดเดา และอาจถึงขั้นหายนะ”

เทคโนโลยีเอไอซึ่งทวีความก้าวหน้าและได้รับความนิยมสูงขึ้นในปี 2024 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลเกี่ยวกับการใช้งานด้านการทหารและความเสี่ยงต่อความมั่นคงของโลก โดยเมื่อเดือน ต.ค. อดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งบริหารที่มุ่งลดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ สาธารณสุข และความปลอดภัยอันเกิดจากเอไอ ทว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เข้ามาเซ็นคำสั่ง “ยกเลิก” มันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น