อินเดียและจีนบรรลุข้อตกลงเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกันอีกครั้งในรอบเกือบ 5 ปี ตามถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศอินเดียวานนี้ (27 ม.ค.) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่าง 2 มหาอำนาจเพื่อนบ้าน หลังเคยเหตุปะทะรุนแรงที่บริเวณพรมแดนพิพาทเทือกเขาหิมาลัยเมื่อปี 2020
กระทรวงการต่างประเทศอินเดียมีถ้อยแถลงภายหลังการหารือระหว่าง วิกรม มิศรี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย กับหวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการเจรจาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดกรอบการทำงานว่าด้วยการเปิดเที่ยวบินตรง และจะจัดประชุมร่วมกันอีกครั้ง “ในอนาคตอันใกล้”
กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงยืนยันข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ (28) พร้อมระบุว่า การหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีช่วยได้ข้อตกลงที่จะอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
ความสัมพันธ์จีน-อินเดียทวีความตึงเครียดหนักหลังเกิดเหตุสู้รบระหว่างกองกำลังทั้ง 2 ฝ่ายในพื้นที่พิพาทชายแดนเมื่อปี 2020 ซึ่งทำให้รัฐบาลอินเดียตอบโต้ด้วยการกีดกันนักลงทุนจีน สั่งแบนแอปพลิเคชันจีนนับร้อยๆ ตัว และยังสั่งระงับเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างกันด้วย โดยยังคงอนุญาตเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จีนและอินเดียได้เริ่มปรับจูนความสัมพันธ์กันใหม่ โดยมีการจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายครั้งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการพบปะระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ที่รัสเซียเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว
ระหว่างการประชุมที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ (27) หวัง อี้ ได้กล่าวกับ วิกรม มิศรี ว่า จีนและอินเดียควรทำงานสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน มองหามาตรการที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอินเดียระบุว่า “ข้อกังวลที่เฉพาะเจาะจงในด้านเศรษฐกิจและการค้าถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน และส่งเสริมนโยบายที่โปร่งใสและคาดเดาได้ในระยะยาว”
รอยเตอร์รายงานเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้วว่า รัฐบาลและสายการบินของจีนได้ร้องขอให้สำนักงานการบินพลเรือนอินเดียพิจารณากลับมาเปิดเที่ยวบินตรงอีกครั้ง ทว่าตอนนั้นนิวเดลีปฏิเสธ เนื่องจากข้อพิพาทชายแดนยังคงส่งผลต่อความสัมพันธ์อยู่
ต่อมาในเดือน ต.ค. แหล่งข่าวในรัฐบาลอินเดีย 2 คนให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า อินเดียกำลังพิจารณาเปิดน่านฟ้ารับเที่ยวบินตรงจากจีน และจะอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าแบบฟาสต์แทร็กด้วย
แม้ว่าความสัมพันธ์จีน-อินเดียจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่การที่จีนอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกบนแม่น้ำยาร์ลุงจังโป (Yarlung Zangbo) ในเขตปกครองตนเองทิเบตก็ทำให้ฝ่ายอินเดียเริ่มเกิดข้อกังขา
เจ้าหน้าที่จีนยืนยันว่า โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าในทิเบตจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อประเทศที่อยู่ปลายน้ำ แต่กระนั้นอินเดียและบังกลาเทศก็ยังคงแสดงความวิตกกังวล
เขื่อนแห่งนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 300,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และตั้งอยู่บนแม่น้ำที่เมื่อไหลเข้าสู่อินเดียจะถูกเรียกว่า “แม่น้ำพรหมบุตร” ซึ่งถือเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำสำหรับชาวอินเดียหลายล้านคน
ที่มา : รอยเตอร์