(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Trump already faltering in approach to Putin
by Stephen Bryen
25/01/2025
เครดิตความน่าเชื่อถือของทรัมป์กำลังจางหายไปเรื่อยๆ เสียแล้วในกรุงมอสโก ตั้งแต่ที่ปรากฏสัญญาณอย่างแรกๆ ให้เห็นว่า เขากำลังเดินตามหนังสือคู่มือการเล่นเกมเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในรัสเซีย ของ โจ ไบเดน และเหล่าเพื่อนร่วมงานแวดวง “ดีฟสเตท” ของเขา
ทั้งโดยอาศัยข้อเขียนที่เขาโพสต์บนแพลตฟอร์มสื่อสังคม “ทรูธ โซเชียล” (Truth Social) ของเขา ตลอดจนในการให้สัมภาษณ์และพูดแถลงกับพวกผู้สื่อข่าวหลายๆ ครั้งในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังผลักดันแนวความคิดที่ว่า รัสเซียจำเป็นต้องเร่งมือและเข้าทำข้อตกลงในเรื่องยูเครน ก่อนที่ตัว ทรัมป์ ซึ่งกำลังฉวยใช้ความได้เปรียบจากการที่เศรษฐกิจแดนหมีขาวประสบปัญหาต่างๆ นานา จะประกาศบังคับขึ้นภาษีศุลกากรอัตราสูงๆ ตลอดจนใช้มาตรการแซงก์ชั่นอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกกับรัสเซีย
เพื่อเน้นย้ำความคิดของตัวเขาเองเกี่ยวกับความไร้สาระและไร้ประโยชน์ของการที่รัสเซียจะทำสงครามยูเครนต่อไป ทรัมป์บอกว่าแดนหมีขาวต้องเกิดความสูญเสียจากการบาดเจ็บล้มตายในสงครามนี้ไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนตัวเลขของยูเครนนั้นอยู่ที่ 800,000 คน
ตัวเลขการบาดเจ็บล้มตายของทรัมป์นี้ สูงล้ำกว่ากระทั่งการประมาณการของยูเครนเกี่ยวกับความสูญเสียของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งถูกมองว่าเว่อร์เหลือเกินเสียด้วยซ้ำ ตัวเลข “อย่างเป็นทางการ” ที่ผลักดันออกมาโดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ก็คือ จนถึงเวลานี้รัสเซียบาดเจ็บล้มตายไปแล้ว 812,670 คน ขณะที่ทางยูเครนเสียชีวิตไป 43,000 คน เซเลนสกีอ้างเอาไว้อย่างนี้
เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า อัตราส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บต่อจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามยูเครนนั้นกำลังอยู่ในระดับ 3 ต่อ 1 ดังนั้นคำนวณตามตัวเลขที่ เซเลนสกี ให้มา ยูเครนก็ต้องมีคนได้รับบาดเจ็บรวมราวๆ 129,000 คน
แต่อย่าไปเชื่อถือตัวเลขของ เซเลนสกี เลย เนื่องจากจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายของฝ่ายยูเครนนั้นสูงกว่าที่เขาพูดนักหนา
เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ทั้งสองฝ่ายย่อมปล่อยข่าวเท็จข่าวลวงเกี่ยวกับตัวเลขความสูญเสียเหล่านี้ ฝ่ายรัสเซียนั้นกระทั่งไม่ได้ให้ตัวเลขใดๆ เลยเกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายตัวเองด้วยซ้ำ เวลาเดียวกัน ฝ่ายยูเครนก็ให้ตัวเลขความสูญเสียของฝ่ายรัสเซียอย่างสูงเกินความเป็นจริงไปเหลือเกิน เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายที่จะตอกย้ำให้สาธารณชนวงกว้างของพวกเขาเองตลอดจนของพวกชาตินาโต้ที่เป็นผู้สนับสนุนพวกเขา บังเกิดความมั่นใจขึ้นอีก
ข้อมูลข่าวสารที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายรัสเซียนั้น มาจากองค์การที่เรียกตัวเองว่า มีเดียโซนา (Mediazona) มีเดียโซนา เป็นสื่อเผยแพร่ข่าวสารของรัสเซียที่ยึดแนวทางอิสระ ซึ่งถูกรัฐบาลรัสเซียจับจ้องพยายามที่จะสั่งปิด
สื่อนี้ต่อต้านปูตินอย่างดุเดือดมาก ตามรายงานของ มีเดียโซนา ระบุว่า ตัวเลข “ผู้เสียชีวิตซึ่งผ่านการตรวจสอบยืนยัน” ของฝ่ายรัสเซีย ในระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2025 อยู่ที่ 88,726 คน เมื่อใช้สูตรอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ก็จะทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บของฝ่ายรัสเซียอยู่ที่ 266,178 คน หรือคำนวณกันแบบคร่าวๆ ก็ตกประมาณ 1 ใน 4 ของตัวเลขที่ ทรัมป์ พูดเท่านั้น
สำหรับความคิดเห็นของทรัมป์ในเรื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัสเซีย ก็น่าที่จะเดินตามสิ่งที่เขาได้รับการบอกกล่าวจากพวกฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯ เขาดูเหมือนจะมองสถาการณ์ว่าเศรษฐกิจของรัสเซียกำลังใกล้พังทะลายแล้ว จึงนำไปสู่การที่เขาบอกกับ ปูติน ให้รีบๆ เข้า และยอมทำดีลเสียแต่โดยดีเถอะ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องลำบากหนักกับผลพวงที่กำลังจะเกิดขึ้นติดตามมา
พวกสื่อตะวันตกเวลานี้ก็เต็มไปด้วยข่าวคราวเรื่องราวเกี่ยวกับความย่ำแย่อับจนของรัสเซีย ซึ่งทั้งหมดเลยอยู่ในแนวเดียวกันนี้แหละ กล่าวคือ เศรษฐกิจของรัสเซียนั้นกำลังอยู่ในอาการไหลรูดลงอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้ และกำลังอยู่ในวิกฤตครั้งมหึมา การเล่าเรื่องใน “ธีม” เช่นนี้ ยังติดตามมาด้วยพวกรายงานข่าวซึ่งอ้างว่า ปูตินกำลังมีฐานะที่ย่ำแย่หนักในรัสเซีย, กำลังโกรธกริ้วใส่พวกที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของเขา, และกำลังเรียกร้องต้องการให้เร่งหาวิธีอะไรบางอย่างมาปะผุซ่อมแซมกันโดยด่วน
ใครก็ตามที่กำลังทำสงครามซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแพงลิบ และมูลค่าของสกุลเงินแห่งชาติก็ลดฮวบลงอย่างแรง, ขณะที่อัตราดอกเบี้ยพุ่งขึ้นอย่างพิลึกกึกกือ, ส่วนเงินเฟ้ออยู่ในสภาพเกือบคุมไม่ไหวแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องรู้สึกวิตกกังวลและเกิดความตื่นภัยระแวดระวัง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ปูติน หรือว่าพวกรัฐมนตรีของเขากำลังอยู่ในภาวะตื่นตระหนก หรือส่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรัสเซียชุดนี้กำลังจะพังครืนลงแล้ว
พวกบทความข้อเขียนที่ประโคมเผยแพร่กันอยู่ในรายงานของสื่อมวลชนตะวันตกเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วขาดการอ้างอิงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ กระทั่งในข้อเขียนที่มีการอ้างอิง มันก็มักเป็นการพาดพิงตีความแบบอ้อมๆ เท่านั้น ไม่ได้มีความชัดเจนอะไร ตัวอย่างเช่น รายงานหลายๆ ชิ้นของ เดลิเมล (Daily Mail) สื่ออังกฤษที่เป็นพวกเชียร์ยูเครน อ้างว่า โอเลค วยูกิน (Oleg Vyugin) อดีตรองประธานธนาคารกลางของรัสเซีย กล่าวว่า “แน่นอนทีเดียว รัสเซียนั้น มีความสนใจในเชิงเศรษฐกิจเกี่ยวกับเรื่องการเจรจาเพื่อให้ได้ทางออกทางการทูตสำหรับยุติการสู้รบขัดแย้งคราวนี้”
รายงานว่าด้วยรัสเซีย ซึ่งมาจากนอกภาครัฐบาล ชิ้นดีที่สุดเท่าที่เห็นอยู่จนถึงเวลานี้ คือชิ้นที่ตีพิมพ์เยผแพร่อยู่ในวารสารฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส (Foreign Affairs) เขียนโดย อเล็กซานดรา โปรเปเนนโก (Alexandra Propenenko) เวลานี้เธอเป็นนักวิจัยอยู่กับ ศูนย์คาร์เนกี รัสเซีย ยูเรเชีย เซนเตอร์ (Carnegie Russia Eurasia Center) ในกรุงเบอร์ลิน, เยอรมนี ในอดีต เธอเคยทำงานอยู่ที่ธนาคารกลางของรัสเซียจนกระทั่งถึงต้นปี 2022 ข้อโต้แย้งสำคัญที่เธอเสนอก็คือว่า “ปูตินนั้นยังไม่ได้อยู่ในอาการดิ้นรนทำท่าไปไม่ไหวหรอก” รวมทั้งความยากลำบากทางเศรษฐกิจของรัสเซียก็จะไม่ทำให้เกิดการผันผวนทวนกระแสในเรื่องยูเครนขึ้นมาหรอก
เธอเขียนเอาไว้ดังนี้: “ปัญหาสำหรับฝ่ายตะวันตกคือเรื่องจังหวะเวลา พวกผู้นำทางการเมืองนั้นต้องการให้สงครามนี้ยุติลงอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์บางรายก็บ่งชี้ออกมาเช่นกันว่า ในระยะเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แรงกดดันต่อรัสเซียอาจจะใหญ่โตมโหฬารจนกระทั่ง ปูติน จำเป็นต้องหาทางลดระดับลงมาเพื่อทำให้เศรษฐกิจรัสเซียกลับมีเสถียรภาพ และก็เป็นการปกป้องคุ้มครองการกุมอำนาจของเขาไปด้วย
“ทว่าความหวังของฝ่ายตะวันตก เป็นสิ่งที่วางอยู่บนสมมุติฐานที่ผิดพลาดไม่เป็นจริง ความท้าทายต่างๆ ทางเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นมันยังไม่ได้ร้ายแรงจนกระทั่งพวกเขาจะต้องทำสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างมีความหมายขึ้นมาในสงครามในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ อย่างน้อยที่สุดก็ยาวไปจนถึงปีหน้านั่นแหละ ทำเนียบเครมลินควรที่จะสามารถพยุงเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างร้อนแรงเกินไปของพวกเขาเอาไว้ไม่ให้ระเบิดตูมตามออกมาจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ระดับเต็มขั้น ปูตินน่าที่จะยังคงมีทรัพยากรต่างๆ สำหรับประคับประคองการรณรงค์สู้รบอันป่าเถื่อนในยูเครนของเขาเอาไว้ต่อไป – และบางทียังคงมีแรงจูงใจที่จะเฝ้ารอให้ฝ่ายตะวันตก เป็นฝ่ายที่จะต้องขยับก่อน”
รัสเซียในเวลานี้มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีการจ้างงานแบบเต็มที่ ปกติแล้วเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาลำบากยุ่งยากควรที่จะมีลักษณะอย่างเช่น ผู้คนต้องออกจากงาน, ค่าจ้างแรงงานต่ำ หรือไม่มีการจ่ายค่าจ้างกันเลย, และซัปพลายข้าวของต่างๆ อยู่ในสภาพขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสินค้าผู้บริโภค รัสเซียเวลานี้ยังคงมีสินค้าผู้บริโภค ถึงแม้เป็นสินค้านำเข้าก็ตามที และพวกผลิตภัณฑ์ภายในประเทศบางอย่าง (ตัวอย่างเช่น เนย และไข่) มีราคาแพง ทว่าก็ไม่ได้อยู่ในอาการขาดแคลนหาซื้อไม่ได้
มาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียของฝ่ายตะวันตก กลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่จีน และพวกผลิตภัณฑ์ของจีนก็มีราคาถูกว่าของฝ่ายตะวันตก ตัวอย่างเช่น รถยนต์ ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าสงครามครั้งนี้มีส่วนร่วมทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานขึ้นมา ทว่าเป็นเรื่องลำบากที่จะบอกได้ว่ามันมีส่วนอยู่เท่าไหร่ ขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานกำลังอยู่ในระดับสูงและขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
รัสเซียยังเป็นประเทศที่มีความเป็นอิสระทางด้านพลังงาน และสามารถที่จะจัดระเบียบราคาเชื้อเพลิงในบ้านตัวเองได้ ไม่เหมือนกับในยุโรป ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพราะการใช้มาตรการแซงก์ชั่นรัสเซีย และการทำลายสายท่อส่งก๊าซของรัสเซีย –ซึ่งเป็น “ความลับ” ที่ใครๆ ต่างทราบกันดีทั้งนั้น (รวมทั้งการตัดสินใจอย่างจอมปลอมที่จะไม่ต่ออายุข้อตกลงการซื้อก๊าซรัสเซียที่ส่งผ่านพวกสายท่อส่งซึ่งวางผ่านยูเครน) เหล่านี้กำลังทำให้เศรษฐกิจของพวกชาติยุโรปอยู่ในสภาพที่เลวร้ายย่ำแย่กว่ารัสเซียเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณากันในแง่ของการจ้างงาน และการขาดแคลนพลังงานตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
เยอรมนีนั้นตกลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเรียบร้อยแล้ว แต่รัสเซียไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย บางคนบางฝ่ายคิดด้วยซ้ำว่า สกุลเงินยูโรของยุโรป กำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่หยิบยืมมา ซึ่งก็คือไม่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้หากชาติเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของอียูอย่าง เยอรมนี และฝรั่งเศสเกิดการกัดกร่อนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นต่อไปอีก มันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของเงินยูโร
วิกฤตพลังงานยุโรปยังอาจจะเลวร้ายลงไปอีก ถ้ารัสเซียตัดสินใจยุติการจัดส่งก๊าซ, น้ำมัน, และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไปให้ ดังนั้นจึงหมายความว่าปูตินสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ยุโรปยิ่งกว่านักหนา เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ทรัมป์สามารถทำให้เกิดกับรัสเซียไม่ว่าด้วยการใช้มาตรกการแซงก์ชั่น, การขึ้นภาษีศุลกากร, หรือมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างใดๆ ก็ตามที
พวกรายงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจรัสเซียและปัญหาต่างๆ ของ ปูติน ที่กำลังไหลบ่าออกมาอย่างท่วมท้น คือส่วนหนึ่งของฉากทัศน์ที่ส่งเสริมโน้มน้าวให้ดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาโดย โจ ไบเดน กับพวกเพื่อนร่วมงานซึ่งเร้นลึกอยู่ในกลไกรัฐ (ทีเรียกกันว่า deep state) ของเขา ด้วยความเชื่ออันผิดพลาดที่ว่าสหรัฐฯสามารถที่จะชักใยบงการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในรัสเซียได้ ทรัมป์เวลานี้ดูเหมือนกับเอออวยรับรองนโยบายนี้เช่นกัน ช่างโชคร้ายตรงที่ว่ามันเป็นนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดดอกผลอะไร ตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมา เนื่องจากมันมีแต่ทำให้รัสเซียยิ่งตั้งใจมุ่งมั่นอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นอีกที่จะทำสงครามยูเครนไปจนถึงจุดจบและเป็นผู้ชนะในสงครามนี้
สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นอีกก็คือ มันสร้างความเสียหายให้แก่เครดิตความน่าเชื่อถือของทรัมป์ในมอสโก ซึ่งทรงความสำคัญสำหรับการแสวงหาทางทำให้เกิดข้อตกลงเพื่อยุติสงครามครั้งนี้ ทรัมป์ก้าวขึ้นครองตำแหน่งคราวนี้ในสภาพที่ค่อนข้างเป็นอิสระปลอดจากความสัมพันธ์ใดๆ กับนโยบายดีฟสเตทของไบเดน เขาดูเหมือนมีความเข้าอกเข้าใจว่านโยบายในการพยายามสร้างความปราชัยให้แก่มอสโกและปูตินนั้น เป็นสิ่งที่กลับจะก่อให้เกิดผลเสียหายและไม่ใช่เรื่องฉลาดอะไรเลย วิธีการของเขาทำให้เขามีข้อได้เปรียบสามารถขึ้นครองอำนาจได้โดยไม่ต้องแบกรับกองสัมภาระนโยบายการต่างประเทศของไบเดนใดๆ ทั้งสิ้น ทว่ามาถึงเวลานี้เขากำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะสูญเสียความได้เปรียบดังกล่าวนี้เสียแล้ว
การพูดจากันทางโทรศัพท์ระหว่าง ทรัมป์ กับ ปูติน ซึ่งคาดหมายกันเอาไว้นั้น เวลานี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาเสียที และทำเนียบขาวตลอดจนสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีการติดต่อทำความเข้าใจกับฝ่ายรัสเซียเพื่อเริ่มต้นการสนทนากัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลย่อมมองเห็นกันได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว
สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษของเอเชียไทมส์ และเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายของสหรัฐฯ ข้อเขียนชิ้นนี้ทีแรกสุดปรากฏอยู่บนจดหมายข่าว Weapons and Strategy ในแพลตฟอร์ม Substack ของเขา