xs
xsm
sm
md
lg

มีรายงานว่า‘สหรัฐฯ’พยายามผลักดันให้‘รัสเซียกับยูเครน’ยอมรับ ‘ข้อตกลงสงบศึก’ ทำนองเดียวกับที่ใช้ยุติ‘สงครามเกาหลี’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


(ภาพจากวิกิพีเดีย) ข้อตกลงสงบศึกเกาหลี (Korean Armistice Agreement) มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมปี 1953 ที่หมู่บ้านปันมุนจอม ในเขตปลอดทหารเกาหลี (Korean Demilitarized Zone หรือ DMZ)  การทำความตกลงทำนองเดียวกันนี้สามารถเป็นทางเลือกสำหรับยุติสงครามยูเครนได้หรือไม่?
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A Korean-style armistice for Ukraine?
by Stephen Bryen
21/01/2025

ทรัมป์อาจจะหยิกยกไอเดียเรื่องทำข้อตกลงสงบศึกเพื่อยุติสงครามยูเครน ขึ้นสู่โต๊ะเจรจาด้วย ทว่าฝ่ายรัสเซียจะต้องเรียกร้องต้องการอะไรๆ เพิ่มยิ่งกว่านั้นมากมายนัก

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกำลังวางแผนการเพื่อเสนอให้มี “การตกลงหยุดยิงชั่วคราว” ขึ้นในยูเครน โดยที่ระบุกันว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการเมื่อตอนที่สงครามเกาหลีปิดฉากลงในปี 1953 อย่างไรก็ดี การทำข้อตกลงพักรบทำนองเดียวกับครั้งสงครามเกาหลีนั้น ไม่ได้อยู่ในแนวทางเดียวกันกับพวกเป้าหมายต่างๆ ที่รัสเซียตั้งเอาไว้เลย และบางทีอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าหากมันจำกัดอยู่แค่เฉพาะให้เกิดการหยุดยิงกันเท่านั้น

ข้อตกลงเมื่อปี 1953 กระทำกันสำเร็จภายหลังผ่านการเจรจาต่อรองกันอย่างยากลำบาก โดยที่ผู้เข้าร่วมมีทั้งสหรัฐฯ, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, จีน, อดีตสหภาพโซเวียต, และกองกำลังสหประชาชาติ มาตราหลักๆ ของข้อตกลงดังกล่าว มีดังนี้คือ:
**การระงับความเป็นปรปักษ์กันอย่างเปิดเผย
**การถอนกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดออกไปจากเขตพื้นที่ซึ่งมีความกว้าง 4,000 เมตร เพื่อก่อตั้งขึ้นเป็นพื้นที่เขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone) ทำหน้าที่เป็นเขตกันชนระหว่างกองกำลังของทั้งสองฝ่าย
**ทั้งสองฝ่ายจะไม่เข้าไปในพื้นที่ทางอากาศ, ภาคพื้นดิน, หรือท้องทะเล ซึ่งอยู่ใต้การควบคุมของอีกฝ่ายหนึ่ง
**การดำเนินการเพื่อให้มีการปลดปล่อยเชลยศึกและบุคคลพลัดถิ่น และการส่งคนเหล่านี้กลับคืนประเทศ และ
**การจัดให้มีคณะกรรมการสงบศึกทางทหาร (Military Armistice Commission หรือ MAC) และหน่วยงานอื่นๆ ขึ้นมา เพื่อหารือกันเกี่ยวกับการล่วงละเมิดใดๆ และเพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหลายของข้อตกลงสงบศึกนี้

ข้อตกลงสงบศึกเกาหลีฉบับนี้จนถึงปัจจุบันมีอายุ 72 ปีแล้ว และส่วนใหญ่เลย มันสามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโดยเปิดเผยระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ขึ้นมา

เขตปลอดทหาร หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า เขต DMZ ในเกาหลี มีความยาวราวๆ 160 ไมล์ (250 กิโลเมตร) และความกว้าง 2.5 ไมล์ (4 กิโลเมตร) เส้นที่ลากยาวผ่าไปตลอดทั้งเขต DMZ คือเส้นแบ่งเขตแดนทางทหาร (Military Demarcation Line หรือ MDL) ซึ่งเป็นจุดที่พวกกองกำลังที่เป็นปรปักษ์กันตั้งอยู่ในตอนที่สามารถทำข้อตกลงหยุดยิงกันได้

เขต DMZ ไม่ได้ครอบคลุมถึงทะเลเหลือง (Yellow Sea) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รวมอยู่ในข้อตกลงหยุดยิง ตัวเขต DMZ เองก็ไม่ได้เดินตามแนวเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ อันเป็นเส้นพรมแดนระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ ที่ได้รับการรับรองเห็นชอบโดยสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตในตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้หลายๆ ส่วนของ DMZ ยึดตามแนวเส้นขนานที่ 38 ก็ตามที นอกเหนือจากประเด็นเรื่องทะเลเหลือง (รวมทั้งเกาะต่างๆ จำนวนหนึ่งซึ่งได้กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีกำลังทหารหนาแน่น) แล้ว เขต DMZ ก็มีความใกล้เคียงอย่างสมเหตุสมผลทีเดียวที่จะใช้เป็นเส้นพรมแดนสุดท้าย ถ้าหากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้สามารถปรับปรุงความสัมพันธ์ของพวกเขาเข้าสู่ภาวะปกติกันได้ และมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพในที่สุด

ฝ่ายเกาหลีเหนือแสดงท่าทีแบบอ้อมๆ อยู่เป็นระยะว่า พวกเขากำลังมุ่งหวังให้มีการจัดทำข้อตกลงสันติภาพกัน (และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เกาหลีเหนือจะได้รับการรับรองจากสหรัฐฯและได้รับการค้ำประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ) ขณะที่ประเด็นนี้สำหรับในเกาหลีใต้แล้ว มีความคิดเห็นแตกแยกกันและเกิดความไม่แน่นอนยิ่งกว่านักหนา ด้วยความหวาดกลัวว่าถ้ามีความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ขึ้นมาแล้ว มันอาจกลายเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพในเกาหลีใต้ และนำไปสู่การทำข้อตกลงที่กองทหารสหรัฐฯและกองทหารของฝ่ายพันธมิตรจะต้องถอนตัวออกไปจากเกาหลีใต้

สำหรับประเด็นปัญหายูเครนนั้น มันเป็นประเด็นปัญหาทั้งทางดินแดน, ทางทหาร, และทางการเมือง รัสเซียได้ประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้น ได้แก่ โดเนตสก์ (Donetsk), ลูฮันสก์ (Luhansk), ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia), และ เคียร์ซอน (Kherson) เป็นส่วนหนึ่งของตนไปเมื่อเดือนกันยายน 2022 โดยที่ได้ผนวกไครเมียมาก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่แนวเส้นเขตแดนของไครเมียนั้นมีความชัดเจนเป็นที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไปนั้น แนวเส้นเขตแดนของ 4 แคว้นซึ่งรัสเซียประกาศผนวกไปในปี 2022 กลับไม่ได้มีความชัดเจนขนาดนั้น

หากอิงอาศัยเกณฑ์เส้นเขตแดนแคว้นอย่างเป็นทางการของยูเครนแล้ว รัสเซียก็ยังไม่ได้เข้าควบคุมแคว้นเหล่านี้อย่างสมบูรณ์เลยไม่ว่าแคว้นไหน โดยที่การสู้รบยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กองทัพรัสเซียดูเหมือนกำหนดจุดมุ่งหมายเอาไว้ว่าจะเข้าครอบครองดินแดนต่างๆ เอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะเริ่มมีการเจรจาต่อรองกัน

หากตั้งสมมุติฐานขึ้นมาว่าอาจจะมีการทำข้อตกลงกันเกี่ยวกับแนวเขตแดนขึ้นมา มันก็จะมีคำถามขึ้นมามากมายซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก

ตัวอย่างเช่น สิทธิของพลเมืองในทั้งสองฟากของเส้นแบ่งเขตแดนใดๆ ที่จะเกิดขึ้นมา, การค้าระหว่างยูเครนกับรัสเซีย, พวกกิจการสาธารณูปโภคแห่งสำคัญๆ สามารถที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนดีและใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เป็นต้นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียอันใหญ่โตมโหฬาร, ปัญหาการจัดส่งน้ำจากยูเครนไปยังไครเมีย, สถานะของพวกท่าเรือ และสิ่งปลูกสร้างด้านท่าเรือตลอดจนโกดังคลังสินค้าต่างๆ บนชายฝั่งทะเลดำ (Black Sea), สถานะของพวกท่าเรือทหารบนชายฝั่งทะเลดำและทะเลอาซอฟ (Sea of Azov), สถานที่ตั้งของพวกอาวุธพิสัยไกล, และการปรากฏตัวของกองทหารนาโต้บนดินแดนยูเครน

ยังมีประเด็นปัญหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีก อย่างเรื่อง สถานะของกองทัพยูเครน, สมาชิกภาพของยูเครนทั้งในสหภาพยุโรปและในองค์การนาโต้, ประเภทของการค้ำประกันความมั่นคง, การส่งน้ำมันและก๊าซผ่านดินแดนของยูเครน, และมาตรการแซงก์ชั่นเล่นงานรัสเซียซึ่งเกี่ยวข้อง

ข้อตกลงสงบศึกยังจำเป็นจะต้องครอบคลุมเรื่องการปรากฏตัวของกองทหารยูเครนในพื้นที่แคว้นคูร์สก์ (รัสเซียได้ปลดแอกการรุกล้ำแคว้นคูร์สก์ของยูเครนแล้วประมาณ 50% ทว่าในกรณีที่สงครามดำเนินต่อไป รัสเซียคงจะต้องใช้เวลาอีกเป็นแรมเดือนกว่าที่จะสามารถผลักดันให้ฝ่ายยูเครนถอยออกไปหมดสิ้นในที่สุด)

เมื่อตอนที่ข้อตกลงสงบศึกเกาหลีได้รับการลงนามกันในปี 1953 นั้น กองกำลังสหประชาชาติได้เข้าตั้งประจำในเกาหลีใต้อยู่ก่อนแล้ว ส่วน “ทหารอาสาสมัคร” ชาวจีนก็อยู่ในเกาหลีเหนือแล้วเช่นเดียวกัน ทว่ายูเครนในปัจจุบันแตกต่างออกไป เวลานี้โดยทางการแล้ว (เมื่อนิยามจำกัดความกันอย่างเข้มงวด)
ต้องถือว่ายังไม่มีกองกำลังนาโต้ใดๆ เลยอยู่ในยูเครน แต่ในทางตรงกันข้าม กองทัพรัสเซียเข้าไปอยู่ในยูเครนเรียบร้อยแล้ว

มีรายงานจำนวนหนึ่งระบุว่า ประเทศสมาชิกนาโต้หลายรายทีเดียว (สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, และแม้กระทั่งเยอรมนี) กำลังเตรียมตัวที่จะจัดส่งกองทหารเข้ายูเครนเมื่อมีการตกลงกันได้เกี่ยวกับข้อตกลงสงบศึก รวมทั้งเสนอที่จะให้การค้ำประกันความมั่นคงแก่ยูเครน แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือว่า กองกำลังเพื่อทำหน้าที่ตรวจตราให้มีการดำเนินการตามข้อตกลงสงบศึก กับการจัดส่งกำลังทหารเพื่อการสงบศึกซึ่งจะทำหน้าที่ค้ำประกันความมั่นคงให้แก่ยูเครนนั้น มันไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกันเลย

ภายใต้ข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk agreements) ระหว่างยูเครนกับรัสเซียฉบับดั้งเดิมทั้ง 2 ฉบับ (นั่นคือฉบับปี 2014 และฉบับปี 2015) องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ โอเอสซีอี (Organization for Security and Co-operation in Europe – OSCE) คือผู้ที่ถูกระบุตัวว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจตราให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงกรุงมินสก์เหล่านี้ สิ่งที่ OSCE ทำคือการส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้าไป ไม่ใช่กองทหาร ในเวลานี้ OSCE มีสมาชิก 57 ราย ซึ่งก็รวมถึงรัสเซียและยูเครนด้วย สาระสำคัญของข้อตกลงเหล่านี้คือการยุติความเป็นปรปักษ์กันและการให้สิทธิปกครองตนเองแก่แคว้นลูฮันสก์ และแคว้นโดเนตสก์ (ถึงแม้ทั้ง 2 แคว้นนี้จะยังคงถือเป็นดินแดนที่อยู่ในอธิปไตยของยูเครนก็ตามที) แต่ปรากฏว่าข้อตกลงนี้ไม่เคยได้รับการปฏิบัติตามกันเลย

สำหรับวัตถุประสงค์ในการทำสงครามกับยูเครนครั้งนี้ของฝ่ายรัสเซีย ตามที่เราเข้าอกเข้าใจกันนั้น ครอบคลุมไม่เฉพาะแค่การทำให้มีการรับรองยอมรับว่าพวกพื้นที่ซึ่งถูกรัสเซียประกาศผนวกเอาไว้แล้วนั้นถือเป็นของรัสเซียเท่านั้น หากยังต้องการทำให้ยูเครนกลายเป็นเขตปลอดทหาร ตลอดจนมีการทำข้อตกลงที่ระบุว่ายูเครนจะไม่กลายเป็นสมาชิกรายหนึ่งของนาโต้อีกด้วย เรื่องนี้จะครอบคลุมถึงการทำข้อตกลงกับพวกประเทศนาโต้รายสำคัญๆ เพื่อการค้ำประกันความมั่นคงด้วยหรือไม่นั้น ไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องลำบากที่จะเล็งเห็นว่าจะสามารถจัดทำข้อตกลงสงบศึกออกมาได้อย่างไร ถ้าหากไม่ได้มีการจัดการกับประเด็นปัญหาเหล่านี้

ทัศนะของสหรัฐฯ (สมัยคณะบริหารโจ ไบเดน) มีอยู่ว่า รัสเซียกำลังบาดเจ็บเสียหายร้ายแรงทางเศรษฐกิจจนกระทั่งเพียงพอแล้ว และความสูญเสียต่างๆ ของพวกเขาในสงครามยูเครนก็สาหัสสากรรจ์จนเพียงพอแล้วเช่นกัน ที่จะกลายเป็นแรงจูงใจให้ฝ่ายรัสเซียยอมรับการทำข้อตกลงสงบศึก ซึ่งจะครอบคลุมถึงการก่อตั้งเขตพื้นที่กันชนบางรูปแบบขึ้นมา ทั้งนี้ในทางสาระสำคัญแล้วมันคือแช่แข็งการสู้รบขัดแย้งนี้เอาไว้ และยอมสละดินแดนยูเครนบางส่วนในทางพฤตินัย ทว่าไม่ใช่ในทางนิตินัย เมื่อพิจารณาจากบริบทเช่นนี้ ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นมาดังกล่าวเมื่อดูกันอย่างกว้างๆ หลวมๆ แล้ว มันก็จะใกล้เคียงคล้ายคลึงกับข้อตกลงสงบศึกเกาหลีปี 1953

อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่าในมุมมองของฝ่ายรัสเซียนั้นไม่ได้สอดคล้องเข้ากันได้กับสิ่งที่คณะบริหารไบเดนกำลังพัฒนาขึ้นมาในวอชิงตันนี้เลย รัสเซียไม่ได้กำลังมองหาข้อตกลงสงบศึก แต่ต้องการได้ข้อตกลงที่แดนหมีขาวจะทำกับสหรัฐฯและนาโต้ซึ่งมีเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมรอบด้าน

ข้อตกลงสงบศึกชั่วคราว (ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วมันก็การประกาศหยุดยิงกันอย่างมีผลบังคับจริงจังนั่นเอง) อาจจะเป็นเรื่องเป็นไปได้ถ้าหากมันถูกต่อเชื่อมโยงเข้ากับจังหวะขั้นตอนทางการเมืองที่ได้มีการเห็นพ้องกันไว้ก่อนแล้ว กระนั้นมันก็ยังดูไม่น่าที่จะถูกยอมรับว่าเป็นหนทางแก้ไขปัญหาระยะยาวใดๆ โดยที่พวกผู้คาบข่าวออกมาเปิดเผยกันของคณะบริหารไบเดนกำลังพูดเป็นนัยว่าการสงบศึกนี้จะกินเวลา 10 ปีหรือกระทั่ง 20 ปี ทว่าไอเดียดังกล่าวนี้ไม่ได้มีมนตร์ดึงดูดความสนใจอะไรนักหนาสำหรับรัสเซียเลย ในเมื่อมันเพียงแต่จะกลายเป็นการเปิดทางให้ยูเครนได้มีเวลาในการสร้างกองทัพและสั่งสมคลังอาวุธของตนเองขึ้นมาใหม่เท่านั้น

สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว ถ้ามีการทำข้อตกลงสงบศึกเช่นนี้ ก็อาจจะทำให้เขามีไพ่ในมือให้เลือกเล่นได้มากขึ้น เป็นต้นว่าเขาอาจจะจัดส่งความช่วยเหลือไปให้ยูเครนเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำให้การสู้รบขัดแย้งนี้ยืดเยื้อออกไปอีก ทว่าน่าสงสัยอยู่ว่านี่คือจุดมุ่งหมายของ ทรัมป์ ละหรือ เขายังสามารถที่จะเสนอผ่อนคลายการแซงก์ชั่นให้แก่ฝ่ายรัสเซีย หรือแม้กระทั่งเสนอการรอมชอมบางอย่างบางประการกับนาโต้ด้วยซ้ำ

ในเวลาเดียวกันนั้น คณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯก็ทราบเป็นอย่างดีว่า ยูเครนเองนั้นเวลานี้มีความอ่อนแอขนาดไหน จากการที่กำลังพ่ายแพ้ทางทหารในสมรภูมิแห่งแล้วแห่งเล่าไม่ขาดสาย, มีปัญหาหนักเรื่องการขาดแคลนกำลังพล, การเผชิญหน้ากับการต่อต้านของประชาชนในเรื่องการบังคับเกณฑ์ทหาร, และความสูญเสียจากอัตราทหารบาดเจ็บล้มตายที่สูงลิ่ว

เป็นเรื่องลำบากที่จะทำนายว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ทว่าประธานาธิบดีทรัมป์นั้นได้ส่งสัญญาณออกมาแล้วถึงความปรารถนาของเขาที่จะพูดจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เริ่มต้นด้วยการพูดจากันทางโทรศัพท์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ แน่นอนทีเดียวว่าทรัมป์จะเสนอแนวความคิดเรื่องทำข้อตกลงสงบศึกขึ้นสู่โต๊ะเจรจาด้วย โดยที่ฝ่ายรัสเซียก็จะเรียกร้องต้องการอะไรๆ เพิ่มยิ่งกว่านั้นมากมายนัก

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษของเอเชียไทมส์ และเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายของสหรัฐฯ ข้อเขียนชิ้นนี้ทีแรกสุดปรากฏอยู่บนจดหมายข่าว Weapons and Strategy ในแพลตฟอร์ม Substack ของเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น