xs
xsm
sm
md
lg

เอาแน่เอานอนไม่ได้! ทรัมป์แย้มอาจทบทวนกลับเข้าร่วม WHO ไม่กี่วันหลังสั่ง US ถอนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยในวันเสาร์ (25 ม.ค.) ว่าเขาอาจพิจารณากลับเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก ไม่กี่วันหลังจากออกคำสั่้งให้อเมริกาถอนตัวจากหน่วยงานสาธารณสุขสากลแห่งนี้ ในสิ่งที่เขาให้คำนิยามมว่า บริหารจัดการโรคระบาดใหญ่โควิด-19 และวิกฤตสาธารณสุขระหว่างประเทศอื่นๆ ผิดพลาด

"บางทีเราอาจะพิจารณาทำมันอีกครั้ง ผมไม่รู้ บางทีเราอาจจะ พวกเขาจำเป็นต้องชำระล้างองค์กร" ทรัมป์ กล่าวกับเวทีชุมนุมในลาสเวกัส

สหรัฐฯ มีกำหนดออกจากองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 22 มกราคม 2026 โดย ทรัมป์ แถลงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ไม่นานหลังจากเขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัย 2

อเมริกา คือผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ที่สุดขององค์การอนามัยโลก มากกว่าชาติอื่นๆ ค่อนข้างมาก คิดเป็นสัดส่วนราว 18% ของเงินทุนทั้งหมดขององค์กรแห่งนี้ ในขณะที่งบประมาณ 2 ปีล่าสุดขององค์การอนามัยโลก อยู่ที่ 6,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 แสนล้านบาท)

ทรัมป์ บอกกับฝูงชนในลาสเวกัส ว่าเขาไม่พอใจที่สหรัฐฯ จ่ายเงินสนับสนุนองค์การอนามัยโลกมากกว่าจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่าอเมริกาค่อนข้างมาก

ในวันอังคาร (21 ม.ค.) องค์การอนามัยโลก เรียกร้องสหรัฐฯ ให้ทบทวนพิจารณาการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ เกี่ยวกับการถอนตัวจากองค์กรแห่งนี้ โดยชี้ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำลายความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลก

นอกจากนี้ ระหว่างปราศรัยกับฝูงชน ทรัมป์ยังประกาศด้วยว่าเขาจะขอให้ซาอุดีอาระเบียลงทุนราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระดับ 600,000 ล้านดอลลาร์ ตามที่ซาอุดีอาระเบียเคยรับปากไว้ก่อนหน้านี้

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ตรัสกับทรัมป์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าซาอุดีอาระเบียต้องการทุ่มงบประมาณ 600,000 ล้านดอลลาร์ ในการยกระดับลงทุนและการค้ากับสหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า

ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เทอมแรก ทรัมป์ ตั้งตาตั้งตาผูกมิตรกับซาอุดีอาระเบียด้วยเห็นว่าเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานและความมั่นคงที่สำคัญยิ่งของวอชิงตัน และกรุงริยาดของซาอุดีอาระเบียก็เป็นประเทศแรกที่ ทรัมป์ เลือกไปเยือนเมื่อปี 2017

ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติเริ่มมึนตึงหลังจากที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงวิจารณ์ ทรัมป์ ว่าไม่ใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงเพียงพอต่อเหตุโจมตีบ่อน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ในซาอุฯ เมื่อปี 2019 ซึ่งทำให้กำลังการผลิตน้ำมันของซาอุฯ ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง และเชื่อกันว่ามี “อิหร่าน” อยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ดี ริยาดและทีมงาน ทรัมป์ ยังคงมีการสานต่อความสัมพันธ์เรื่อยมาแม้หลังจากที่ ทรัมป์ พ้นตำแหน่งแล้ว โดยเฉพาะในด้านการลงทุนและโครงการก่อสร้างของบริษัท ทรัมป์ ออร์แกไนเซชัน

(ที่มา : รอยเตอร์/mgronline)


กำลังโหลดความคิดเห็น