(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Trump claiming new world order in first 100 days
by Stefan Wolff
18/01/2025
โดนัลด์ ทรัมป์ มองตัวเขาเองว่าเป็นผู้ก่อกวน (disrupter) ระเบียบเก่าๆ เพื่อมุ่งคว้าโอกาสทำสิ่งใหม่ซึ่งมีคุณค่า ขณะที่ฐานผู้สนับสนุนที่เป็นขบวนการสร้างอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again หรือ MAGA) ของเขา ก็คาดหวังให้เขาทำเช่นที่ว่านี้แหละ ดังนั้นจึงเป็นอันรับประกันได้ว่า มันจะต้องเต็มไปด้วยภาวะไร้เสถียรภาพไปทั่วโลก
โดนัลด์ ทรัมป์ หวนกลับคืนสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคม 2525 เรื่องนี้ถูกมองกันอย่างกว้างขวาง [1] ว่าเป็นการเริ่มต้นของยุคแห่งความปั่นป่วนผันผวนอย่างสำคัญในนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตในวิถีทางแห่งการดำเนินการทางการทูตของสหรัฐฯอีกด้วย
สไตล์ที่ทรัมป์โปรดปรานมาก –ซึ่งได้แก่ การตะคอกคำรามและการข่มขู่ใส่พวกผู้นำต่างประเทศ—ดูเหมือนได้รับผลสำเร็จแล้วในการช่วยเหลือผลักดันให้เกิดข้อตกลงสันติภาพขึ้นในกาซา [2] แม้ว่ามันจะอยู่ในสภาพง่อนแง่นขนาดไหนก็ตามที ทั้งนี้ดีลเรื่องนี้ โจ ไบเดน และทีมของเขาเป็นผู้เจรจาด้วยการร่วมมือประสานงานกับคณะบริหารที่กำลังจะเข้ามาครองอำนาจของทรัมป์
ทว่าพวกนักวิเคราะห์เสนอแนะว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดของทรัมป์เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ว่า “นรกทุกขุมจะถูกเปิดอ้าซ่า” ถ้าหากตัวประกันทั้งหลายยังไม่ได้รับการปลดปล่อยโดยเร็วนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นคำขู่ที่ส่งไปถึง เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล [3]ให้รีบทำอะไรให้เสร็จสิ้นเสียโดยเร็ว และเรื่องนี้เองบังคับให้รัฐบาลอิสราเอลต้องยินยอม [4] เห็นชอบกับการทำข้อตกลง
ทรัมป์เคยใช้สไตล์พูดจาขวานผ่าซากไม่คำนึงถึงคนอื่นเช่นนี้มาแล้วในสมัยแรกแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา และคำขู่เมื่อเร็วๆ นี้ของเขาที่ว่าจะซื้อเกาะกรีนแลนด์ [5], ผนวกแคนาดา [6], และกลับเข้าไปควบคุมคลองปานามาอีกครั้งหนึ่ง [7] ล้วนบ่งบอกว่ามันยังจะกลับมาอีกคำรบหนึ่ง เรื่องนี้น่าจะเป็นลางไม่ดี โดยเฉพาะสำหรับพวกชาติพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯทั้งหลาย
แล้วมันยังไม่ใช่หมดลงเพียงเท่านี้ แต่ อีลอน มัสก์ หนึ่งในคนสนิทใกล้ชิดของทรัมป์ ยังออกมาคุยโตอย่างเปิดเผยว่าเขากำลังพยายามที่จะเปลี่ยนรัฐบาล [8] ทั้งในสหราชอาณาจักรและในเยอรมนี –โดยที่ดูเหมือนว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งมุ่งค้ำจุนกลุ่มพันธมิตรของประดาผู้นำสายประชานิยมระดับโลก
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคำสัญญาที่ทรัมป์บอกว่า จะทำดีลกับรัสเซียเพื่อยุติสงครามในยูเครน [9], การฟื้นชีพการรณรงค์สร้างแรงกดดันสูงสุดเพื่อเล่นงานอิหร่าน, และการลงแรงเพิ่มทวีขึ้นอีกในการประจันหน้ากับจีน [10] เมื่อนำเอาสิ่งเหล่านี้มารวมๆ กัน นี่แหละคุณก็จะมองเห็นเครื่องปรุงทั้งหมดสำหรับการจัดทำนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯกันเสียใหม่ในระดับรากฐานของโดนัลด์ ทรัมป์
มีด้านพิเศษโดดเด่นอยู่ 3 ด้านที่ควรจับตา และเป็นสิ่งบ่งชี้แรกๆ ว่าหลักการในด้านนโยบายการต่างประเทศของทรัมป์น่าจะมีรูปร่างอย่างไร ด้านแรกเลยคือการโฟกัสที่ซีกโลกตะวันตก (Western hemisphere ในที่นี้เห็นชัดว่าผู้เขียนใช้วลีนี้เพื่อหมายถึงทวีปอเมริกาเหนือและใต้ -ผู้แปล) จุดรวมเน้นหนักของทรัมป์ในที่นี้ดูเหมือน [11] เพื่อเป็นการยืนกรานฐานะของสหรัฐฯในการเข้าครอบงำกิจการต่างๆ ของทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ และพร้อมกันนั้นก็มุ่งขจัดสิ่งใดๆ ที่ถูกมองถูกเข้าใจว่าคือจุดอ่อนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ
(ซีกโลกตะวันตก หรือWestern hemisphere เป็นคำทางภูมิศาสตร์หมายถึง ครึ่งหนึ่งของโลกที่อยู่ทางตะวันตกของเส้นเมริเดียนแรก (ลากผ่านกรีนิช สหราชอาณาจักร) และทางตะวันออกของเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา (แอนติเมอริเดียน) ในความหมายนี้ ซีกโลกตะวันตกประกอบด้วยทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้, ส่วนตะวันตกของทวีปยุโรปและของทวีปแอฟริกา, ปลายสุดฝั่งตะวันออกของประเทศรัสเซีย,, ดินแดนต่าง ๆ ในโอเชียเนีย ,และบางส่วนของแอนตาร์กติกา แต่ไม่รวมบางส่วนของหมู่เกาะอะลูเชียนที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐอะแลสกา อย่างไรก็ดี วลีนี้เป็นที่นิยมใช้กันเพื่อหมายถึงทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ รวมทั้งน่านน้ำรอบๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%81 และ https://en.wikipedia.org/wiki/Western_Hemisphere#:~:text=The%20Western%20Hemisphere%20is%20the,includes%20parts%20of%20other%20continents.-ผู้แปล)
ขณะที่พาดหัวข่าวคำพูดของทรัมป์ในเรื่องนี้ เน้นย้ำแต่เรื่องของ กรีนแลนด์, แคนาดา, และคลองปานามา ทว่ามันยังมีนัยสำหรับความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯมีอยู่กับคิวบา, นิการากัว, และเวเนซุเอลา อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่ทรัมป์เลือก มาร์โค รูบิโอ มาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งนี้ รูบิโอ เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความคิดวิธีการแบบสายเหยี่ยวของเขา [12]
ทรัมป์อาจจะโฆษณาป่าวร้องอย่างไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง [13] เกี่ยวกับบทบาทของจีนในคลองปานามา แต่ย่อมไม่มีคำถามใดๆ เลยว่าปักกิ่งได้เพิ่มรอยเท้าของตน (ส่วนใหญ่ที่สุดคือรอยเท้าทางเศรษฐกิจ) [14] ในละตินอเมริกา ท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ในเปรู [15] ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากจีนและเพิ่งเปิดใช้เมื่อไม่นานมานี้ คือสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯเพิ่มความวิตกกังวลด้านความมั่นคงขึ้นไปอีก
การลงทุนของจีนในเม็กซิโกก็ได้สร้างประตูหลังที่สำคัญ [16] ขึ้นมาสำหรับการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ และมีส่วนร่วมอยู่เยอะสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าเม็กซิโกเวลานี้ได้กลายเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปี 2024 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าของเม็กซิโกไปยังสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 467,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพียงนิดเดียว เปรียบเทียบกับ [17] การส่งออกของจีนเข้าสู่สหรัฐฯในระยะเดียวกันซึ่งอยู่ที่ 401,000 ล้านดอลลาร์
ทรัมป์น่าที่จะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นอีกในซีกโลกตะวันตก ด้วยการใช้ทั้งคำพูดข่มขู่คุกคาม, การขึ้นภาษีศุลกากร, และแรงกดดันทางการเมือง ผสมผสานกัน
ตัวอย่างสาธิตอันแรกๆ ที่แสดงให้เห็นว่าคณะบริหารชุดที่กำลังเข้ามาครองอำนาจนี้ มีความจริงจังกับประเด็นปัญหานี้มากแค่ไหน ได้แก่การที่บรรดาพันธมิตรของทรัมป์ในรัฐสภาได้เสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง [18] เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว เพื่อ “ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการแสวงหาทางเข้าสู่การเจรจากับราชอาณาจักรแห่งเดนมาร์ก เพื่อให้สหรัฐฯได้เข้าครอบครองกรีนแลนด์”
ลักษณะประการที่สองของหลักการแห่งนโยบายการต่างประเทศของทรัมป์ซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นมาให้เห็น ได้แก่การลดทอนความเกี่ยวข้องพัวพันของสหรัฐฯในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งคณะบริหารชุดนี้พิจารณาว่ามีความสำคัญระดับสอง โดยอาณาบริเวณหลักๆ 2 แห่งตามบริบทนี้ได้แก่ ยุโรป และตะวันออกกลาง
การทำความตกลงเรื่องสงครามยูเครน
การทำความตกลงกับรัสเซียเพื่อยุติสงครามในยูเครนตามที่ทรัมป์ให้สัญญาเอาไว้นั้น คือส่วนประกอบหลักอย่างหนึ่งของยุทธศาสตร์ของเขา [19] ในการปลดเปลื้องให้ทรัพยากรต่างๆ ของสหรัฐฯมีอิสระที่จะเปลี่ยนโฟกัสมุ่งไปที่จีน ตลอดจนเป็นการ “ตัดลดการรวมตัวกัน” ระหว่างรัสเซียกับจีน
อย่างไรก็ตาม การที่พร้อมๆ กันนั้นเขาก็รบเร้า [20] ว่าพวกพันธมิตรของสหรัฐฯในองค์การนาโต้ต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมของพวกเขาให้มากขึ้นอีก คือสิ่งบ่งบอกให้เห็นว่า คณะบริหารสหรัฐฯชุดใหม่นี้ยังคงมองเห็นคุณค่าของความมั่นคงในอาณาบริเวณสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก
เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะเป็นคนที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายมากที่สุด [21] สำหรับเรื่องนี้เท่านั้น เรื่องนี้ต้องถือว่าทรัมป์มีเหตุผลที่ดีทีเดียว ในเมื่อปัจจุบัน ]22] วอชิงตันเป็นผู้แบกรับงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดของนาโต้เอาไว้ในสัดส่วน 68% เปรียบเทียบกับพวกสมาชิกที่อยู่ในยุโรปที่จ่ายเพียง 28%
วิธีการของทรัมป์ในการจัดการกับตะวันออกกลาง ก็วางอยู่บนการคาดคำนวณในทำนองเดียวกันที่ว่าสหรัฐฯจะเป็นตัวกลางทำให้เกิดการทำข้อตกลงขึ้นมาซึ่งช่วยพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันนั้นก็สามารถทำให้สหรัฐฯลดระดับคำสัญญาข้อผูกพันลงไปได้ด้วย
จากการที่การตกลงหยุดยิงกันระหว่างอิสราเอลกับฮามาส [23] เวลานี้ดูจะเข้าที่เข้าทางแล้ว เรื่องนี้ย่อมจะอำนวยความสะดวกให้แก่การปลดปล่อยพวกตัวประกันชาวอิสราเอล, ก่อให้เกิดเส้นทางที่ชัดเจนมากขึ้นในการสถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นปกติระหว่างอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบียขึ้นมา ทั้งนี้ เรื่องนี้ยังคงต้องสุดแท้แต่ว่าอิสราเอลจะยอมตกลงในเรื่องการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมาหรือไม่ [24] แต่ถ้าหากเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับชาติอื่นๆ ในโลกอาหรับย่อมจะกระเตื้องดีขึ้นมาด้วย
สภาพเช่นนี้ย่อมจะทำให้สามารถถ่ายโอนภาระของการปิดล้อมจำกัดบีบคั้นอิหร่าน โดยอาจจะส่งต่อไปยังกลุ่มสัมพันธมิตรของเหล่าพันธมิตรสหรัฐฯในภูมิภาคดังกล่าว ที่กำลังมีประสิทธิภาพและศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และดังนั้น จึงเป็นการเปิดทางให้วอชิงตันสามารถรื้อฟื้นการรณรงค์ของตนที่มุ่งสร้างแรงกดดันอย่างเต็มพิกัดต่อเตหะรานขึ้นมาใหม่ [25]
จะจัดการรับมือจีนต่อไปอย่างไร?
ขณะที่วิธีการของทรัมป์ในการรับมือจัดการกับซีกโลกตะวันตก และในเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคตที่วอชิงตันจะมีกับยุโรปและตะวันออกกลาง อยู่ในสภาพที่ชัดเจนอย่างสมเหตุสมผลแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์จีนของเขากลับยังคงเต็มไปด้วยคำถามมากมาย ทีมงานความมั่นคงแห่งชาติของเขาได้รับการพิจารณากันโดยทั่วไป [26] ว่าเป็นสายเหยี่ยวที่มุ่งเล่นงานปักกิ่งอย่างเต็มเหนี่ยว –โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะ [27] อีลอน มัสก์ ผู้ซึ่งมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอันสำคัญ [28] อยู่ในจีน
ตัวทรัมป์เองยังคงแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการใช้คำพูดที่ก้าวร้าว และถ้อยคำมุ่งปรองดองกับปักกิ่ง การตั้งข้อกล่าวหาในเวลานี้ที่ว่าฝ่ายจีนคือผู้ที่เข้าควบคุมคลองปามานา เป็นหนึ่งในเหตุผลมุ่งสร้างความชอบธรรมของเขา สำหรับการหาทางให้สหรัฐฯกลับเข้าไปควบคุมเส้นทางน้ำทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้อีกครั้ง ทว่าเขาก็กาชื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเอาไว้ด้วยว่า เป็นผู้ที่สามารถช่วยเหลือ [29] ทำให้เกิดดีลเรื่องยูเครนขึ้นมาได้ และกระทั่งเชื้อเชิญเขาให้เข้าร่วมพิธีสาบานตัวรับตำแหน่งของตัวเขาเองด้วยซ้ำ
ทรัมป์จึงอาจจะพร้อมเปิดกว้างในเรื่องทำข้อตกลงกับจีน โดยที่ในทางกลับกัน จีนก็เพิ่งส่งสัญญาณแสดงความสนใจในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ขณะที่ สี ไม่ได้เดินทางเข้าร่วมพิธีสาบานตัวของทรัมป์ แต่ก็ยังมี รองประธานาธิบดีของเขา หาน เจิ้ง เข้ามาทำหน้าที่นี้แทน [30]
ทรัมป์ กับ สี ยังมีประวัติความเป็นมา [31] ในเรื่องสามารถตกลงทำดีลกันได้สำเร็จมาแล้ว ถึงแม้ว่าข้อตกลงปี 2020 ของพวกเขาแสดงบทบาทเพียงเล็กน้อยเท่านั้นนอกเหนือจากการยุติสงครามการค้าไม่ให้บานปลายขยายตัวต่อไปอีก โดยที่ดีลดังกล่าวใช้เวลา 2 ปีทีเดียวในการเจรจาต่อรองกัน และฝ่ายจีนยินยอมปล่อยให้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรที่ทรัมป์ประกาศใช้ตั้งแต่ต้นๆ ในสมัยแรกของเขายังคงมีผลต่อไปอีก ถึงแม้ในบางกรณีอยู่ในลักษณะลดอัตราภาษีให้ต่ำลงมาก็ตามที
บางสิ่งบางอย่างทำนองเดียวกันก็อาจเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในตอนนี้ โดยที่ ทรัมป์ เวลานี้กำลังกระทำตามคำมั่นสัญญาประการหนึ่งซึ่งให้ไว้ระหว่างการรณรงค์หาเสียงของเขา นั่นคือจะขึ้นภาษีศุลกากรให้สูงขึ้นอีกกับสินค้านำเข้าจากจีน ทว่าเวลาเดียวกันนั้น เขาก็จะยังคงเริ่มต้นเปิดเจรจาเพื่อทำดีลฉบับใหม่กับปักกิ่ง
พิจารณาจากความเป็นไปได้ทั้งหลายทั้งปวง ระยะ 4 ปีนี้ย่อมจะเป็นสมัยสุดท้าย [32] ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์แล้ว โดยที่อย่างน้อยที่สุดในระยะ 2 ปีจากนี้ไป เขาจะสามารถควบคุมทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้ [33] ดังนั้น เขาจึงมีแรงจูงใจทุกๆ ประการที่จะทำตามคำมั่นของเขา โดยที่แทบไม่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งใดๆ เอาเลย เขามองตัวเขาเองว่าเป็นผู้ก่อกวนที่มุ่งคว้าโอกาสทำสิ่งใหม่ซึ่งมีคุณค่า (disrupter) และฐานผู้สนับสนุนที่เป็นขบวนการสร้างอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again หรือ MAGA) ของเขา ก็คาดหวังให้เขาทำเช่นที่ว่านี้แหละ ดังนั้นจึงเป็นอันรับประกันได้ว่า มันจะต้องเต็มไปด้วยภาวะไร้เสถียรภาพ
กระนั้น สิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนก็คือว่า วิสัยทัศน์ของทรัมป์เกี่ยวกับวาระระหว่างประเทศซึ่งมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยที่มีการกำหนดนิยามเขตอิทธิพลสำหรับพวกมหาอำนาจยิ่งใหญ่ทั้งหลายในตอนนั้น –ได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, และเป็นไปได้ว่า กระทั่งรัสเซียด้วย— กันอย่างชัดเจน จะปรากฏขึ้นมาในท้ายที่สุดหรือไม่ ทั้งนี้โดยยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่าผลลัพธ์ลักษณะดังกล่าวคือสิ่งที่พึงปรารถนาหรือเปล่า
สเตฟาน วูลฟ์ เป็นศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ อยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม, สหราชอาณาจักร
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/trump-signals-he-will-start-pushing-for-a-new-world-order-in-first-100-days-247594
เชิงอรรถ
[1]https://www.ft.com/content/39226003-2274-42b1-bae4-1a37d931f6b6
[2]https://www.politico.eu/article/trump-was-the-closer-on-the-gaza-deal/
[3]https://www.politico.eu/article/trump-was-the-closer-on-the-gaza-deal/
[4]https://www.cbsnews.com/news/israel-security-council-approves-hostage-ceasefire-deal-hamas/
[5]https://theconversation.com/trumps-greenland-bid-is-really-about-control-of-the-arctic-and-the-coming-battle-with-china-246900
[6]https://news.sky.com/story/trumps-threat-to-turn-canada-into-part-of-the-us-represents-most-serious-threat-since-war-of-1812-13285471
[7]https://theconversation.com/why-donald-trump-is-threatening-to-take-control-of-the-panama-canal-246908
[8]https://thehill.com/policy/international/5066254-musk-extends-political-tentacles-into-uk-germany/
[9]https://www.euronews.com/my-europe/2025/01/17/can-donald-trump-put-an-end-to-the-war-in-ukraine
[10]https://theconversation.com/with-trump-in-the-white-house-china-and-latin-america-may-try-to-forge-an-even-deeper-relationship-245891
[11]https://www.nbcnews.com/politics/donald-trump/trump-take-canada-greenland-panama-canal-rcna186591
[12]https://www.nytimes.com/live/2025/01/15/us/rubio-confirmation-secretary-state
[13]https://www.newsweek.com/fact-check-does-china-control-panama-canal-trump-suggests-2006047
[14]https://theconversation.com/with-trump-in-the-white-house-china-and-latin-america-may-try-to-forge-an-even-deeper-relationship-245891
[15]https://www.nbcnews.com/news/world/china-peru-chancay-port-rcna124564
[16]https://www.bbc.co.uk/news/business-68825118
[17]https://www.census.gov/foreign-trade/Press-Release/current_press_release/ft900.pdf
[18]https://www.congress.gov/bill/119th-congress/house-bill/361
[19]https://theconversation.com/trump-xi-and-putin-a-dysfunctional-love-triangle-with-stakes-of-global-significance-243280
[20]https://www.newsweek.com/trump-wants-nato-increase-defense-spending-target-5-report-2004383
[21]https://www.nato.int/nato_static_fl2014/assets/pdf/2024/6/pdf/240617-def-exp-2024-en.pdf
[22]https://www.sipri.org/media/press-release/2024/global-military-spending-surges-amid-war-rising-tensions-and-insecurity
[23]https://www.bbc.co.uk/news/articles/cvg4ryde7q5o
[24]https://www.newarab.com/news/saudi-arabia-launches-coalition-push-palestinian-state
[25]https://www.fdd.org/analysis/policy_briefs/2024/11/15/maximum-pressure-2-0-washington-seeks-to-restore-deterrence-against-tehran/
[26]https://www.ft.com/content/f036e577-7a52-4dd8-a3dc-7124f7613bce
[27]https://www.ft.com/content/e2ecd4fa-d41b-4563-b747-c3de8ec48c30
[28]https://www.newsweek.com/elon-musk-business-ties-china-2006722
[29]https://theconversation.com/trump-wants-chinas-help-in-making-peace-in-ukraine-hes-unlikely-to-get-it-245874
[30]https://www.reuters.com/world/chinas-vice-president-han-zheng-attend-trump-inauguration-2025-01-17/
[31]https://www.bbc.co.uk/news/business-51025464
[32]https://theconversation.com/how-trump-could-try-to-stay-in-power-after-his-second-term-ends-246722
[33] https://www.bbc.co.uk/news/articles/cn42dzejpjvo