ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกมาย้ำคำขู่วานนี้ (21 ม.ค.) ว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจากสหภาพยุโรป (อียู) และกำลังหารือว่าจะเริ่มเก็บอากรลงโทษสินค้านำเข้าจีนในอัตรา 10% ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ เนื่องจากยาเฟนทานิล (fentanyl) ถูกส่งจากจีนเข้ามายังสหรัฐฯ ผ่านทางเม็กซิโกและแคนาดา
ทรัมป์ พูดถึงการรีดภาษีขณะให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ทำเนียบขาว เพียง 1 วันหลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ โดยที่ยังไม่เซ็นคำสั่งบริหารขึ้นภาษีศุลกากรทันทีตามที่หาเสียงเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ตลาดเงินและสมาคมการค้าต่างๆ ก็โล่งใจกันได้เพียงชั่วคราว เพราะถ้อยแถลงล่าสุดของ ทรัมป์ ยังคงสะท้อนเจตนารมณ์ที่จะใช้มาตรการทางภาษีอย่างครอบคลุม โดยมีการขีดเส้นตาย 1 ก.พ. สำหรับการเริ่มเก็บภาษี 25% จากสินค้าเม็กซิโกและแคนาดา และยังเอ่ยถึงการรีดภาษีสินค้าจีน และอียูด้วย
ทรัมป์ กล่าวว่า อียูและประเทศอื่นๆ ยังคงมีการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างมาก
“สหภาพยุโรปแย่กับเรามากๆ” ทรัมป์ กล่าว โดยย้ำสิ่งที่ได้พูดไปเมื่อวันจันทร์ (20) “ฉะนั้นพวกเขาจะต้องถูกขึ้นภาษี นี่คือหนทางเดียว... ที่คุณจะได้รับความเป็นธรรม”
ทรัมป์ ระบุในวันจันทร์ (20) ว่ากำลังพิจารณาเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มจากแคนาดาและเม็กซิโก หากว่าทั้ง 2 ชาติไม่เร่งแก้ไขปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเฟนทานิลที่ถูกส่งเข้ามายังสหรัฐฯ รวมถึงสารตั้งต้นที่มาจากจีนด้วย
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ เคยขู่จะเก็บภาษีสินค้าลงโทษสินค้าจีนเพิ่ม 10% สืบเนื่องจากกรณีเฟนทานิล แต่ล่าสุดก็ได้ขีดเส้นตายเอาไว้ในวันที่ 1 ก.พ.เช่นกัน
ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาฝ่ายการค้าของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์กับ CNBC วานนี้ (21) ว่า คำขู่รีดภาษีแคนาดาและเม็กซิโกมีเจตนากดดันให้ทั้ง 2 ชาติหยุดยั้งผู้อพยพผิดกฎหมาย และสกัดไม่ให้ยาเสพติดไหลเข้าอเมริกา
“เหตุผลที่ท่าน (ทรัมป์) พิจารณาเก็บภาษี 25, 25 และ 10 หรือไม่ว่าจะเท่าไหร่ก็ตามจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน ก็เพราะว่ามีชาวอเมริกันเสียชีวิตวันละ 300 คน” จากการใช้ยาเฟนทานิลมากเกินขนาด ตามข้อมูลของ นาวาร์โร
ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการค้าอย่างกว้างๆ ในวันจันทร์ (20) โดยสั่งการให้หน่วยงานของสหรัฐฯ ไปทบทวนประเด็นการค้าต่างๆ อย่างครอบคลุมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 เม.ย.
การวิเคราะห์ทบทวนนี้จะรวมถึงเรื่องที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการปั่นค่าเงินในประเทศหุ้นส่วนรวมถึง “จีน”
บันทึกข้อตกลงของ ทรัมป์ ยังขอให้หน่วยงานเหล่านั้นเสนอข้อแนะนำหรือทางแก้ไขปัญหา ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีศุลกากรเสริมในอัตราเหมารวมทั่วโลก (global supplemental tariff) และเลิกการยกเว้นภาษีขั้นต่ำสำหรับการส่งสินค้าเข้าอเมริกาที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นช่องทางลักลอบนำเข้าสารเคมีตั้งต้นในการผลิตเฟนทานิล
คำสั่งทบทวนนี้ช่วยให้เวลาหายใจหายคอแก่คณะรัฐมนตรี ทรัมป์ ซึ่งว่ากันว่ายังถกเถียงกันไม่จบว่าจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเก็บภาษีนำเข้าในอัตราเหมารวมหรือ universal tariff และรีดภาษีสินค้านำเข้าจีนสูงสุด 60% ได้อย่างไร
วิลเลียม ไรน์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ชี้ว่า ทรัมป์ “น่าจะกระทำการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มั่นใจว่ามีพื้นฐานทางกฎหมายแน่นพอที่จะใช้มาตรการเหล่านี้”
“เขาคงกำลังคิดอยู่ว่าจะใช้อำนาจต่อรองอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ”
ทั้งแคนาดาและเม็กซิโกได้มีถ้อยแถลงแบบประนีประนอมต่อการขีดเส้นตาย 1 ก.พ. ของ ทรัมป์ โดยประธานาธิบดี คลอเดีย เชนบาม แห่งเม็กซิโกกล่าวว่า เธอจะมุ่งมั่นปกป้องอธิปไตยและอิสรภาพของเม็กซิโก และจะตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ “แบบเป็นขั้นเป็นตอน”
อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่าข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดาจะยังไม่สามารถทบทวนแก้ไขได้จนกว่าจะถึงปี 2026 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการดักคอล่วงหน้าหาก ทรัมป์ คิดที่จะปรับแก้เงื่อนไขของข้อตกลงซึ่งเป็นรากฐานการค้า 3 ฝ่ายที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
ที่มา : รอยเตอร์