ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งบริหารเพื่อนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ทันทีหลังสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำอเมริกาสมัยที่ 2 เมื่อวานนี้ (20 ม.ค.) โดยกล่าวหา WHO ว่ามีการจัดการที่ผิดพลาดต่อสถานการณ์โรคระบาดใหญ่โควิด-19 รวมไปถึงวิกฤตสาธารณสุขอื่นๆ
ทรัมป์ ยังวิจารณ์ WHO ว่าล้มเหลวในการปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระจาก “อิทธิพลทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมของรัฐสมาชิก” และยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินอุดหนุนมากมายอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น จีน เป็นต้น
“องค์การอนามัยโลกรีดไถเงินเรา ทุกคนรีดไถเงินจากสหรัฐฯ หมด จะไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป” ทรัมป์ กล่าวระหว่างลงนามคำสั่งบริหารเพื่อนำสหรัฐฯ ถอนตัวจาก WHO
ล่าสุด WHO ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้
คำสั่งบริหารของ ทรัมป์ จะมีผลทำให้สหรัฐฯ ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิก WHO ในอีก 12 เดือนนับจากนี้ ขณะที่วงเงินสนับสนุนภารกิจของ WHO ทั้งหมดก็จะถูกระงับด้วย
ปัจจุบันสหรัฐฯ ถือเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนรายใหญ่ที่สุดของ WHO โดยคิดเป็นสัดส่วน 18% ของเงินทุนทั้งหมด ขณะที่งบประมาณของ WHO ในระยะ 2 ปีจาก 2024-2025 อยู่ที่ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอก WHO ระบุตรงกันว่า การถอนตัวของสหรัฐฯ จะทำให้โครงการต่างๆ ของ WHO ตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการต่อต้านวัณโรค (tuberculosis) ซึ่งถือเป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้ประชากรโลกล้มตายมากที่สุด รวมไปถึงโครงการต่อต้าน HIV/AIDS และสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอื่นๆ
คำสั่งของ ทรัมป์ ยังกำหนดให้สหรัฐฯ ระงับการเจรจาสนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่ของ WHO ในระหว่างที่กระบวนการถอนตัวกำลังดำเนินอยู่ ขณะที่บุคลากรของสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับ WHO จะถูกเรียกตัวกลับและมอบภาระงานใหม่ให้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะมองหาหุ้นส่วนเพื่อเข้ามาเทกโอเวอร์กิจกรรมที่จำเป็นแทน WHO ด้วย
เนื้อหาของคำสั่งบริหารยังกำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทบทวน เพิกถอน และทดแทนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านสุขภาพสากลของสหรัฐฯ (U.S. Global Health Security Strategy) ประจำปี 2024 โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้จริง
สำหรับผู้บริจาคอุดหนุน WHO รายใหญ่อันดับ 2 ได้แก่ มูลนิธิบิล & เมลินดา เกตส์ ทว่าวงเงินส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อการกำจัดโรคโปลิโอ ส่วนผู้บริจาครองๆ ลงมา ได้แก่ กลุ่มองค์กรพันธมิตรด้านวัคซีน Gavi คณะกรรมาธิการยุโรป และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)
ประเทศผู้บริจาครายใหญ่รองจากสหรัฐฯ ได้แก่ เยอรมนี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณ WHO ทั้งหมด
ทั้งนี้ คำสั่งถอนตัวของ ทรัมป์ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเสียทีเดียว และ ทรัมป์ เคยพยายามที่จะนำสหรัฐฯ ออกจาก WHO มาแล้วเมื่อปี 2020 ตอนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเทอมแรก โดยกล่าวหา WHO ว่าช่วยจีน “หลอกลวงชาวโลก” เกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด-19
WHO ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของ ทรัมป์ อย่างแข็งขัน พร้อมยืนยันว่าทางองค์กรพยายามกดดันให้ปักกิ่งแชร์ข้อมูลว่าโควิด-19 เริ่มต้นจากการที่มนุษย์ไปสัมผัสสัตว์ติดเชื้อ หรือเกิดจากงานวิจัยไวรัสในห้องปฏิบัติการของจีนกันแน่
ทรัมป์ ยังเคยระงับการจ่ายเงินอุดหนุน WHO ในช่วงปี 2020-2021 ซึ่งทำให้องค์กรด้านสาธารณสุขแห่งนี้ขาดแคลนงบประมาณไปเกือบ 200 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ที่รุนแรงที่สุดในช่วงศตวรรษนี้
ตามกฎหมายสหรัฐฯ การถอนตัวจาก WHO จะต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี ซึ่งระหว่างนั้นสหรัฐฯ ยังคงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่จำเป็นต่างๆ และก่อนที่การถอนตัวของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ ปรากฏว่า โจ ไบเดน ชนะศึกเลือกตั้งและได้เข้ามายับยั้งทันทีตั้งแต่วันแรกที่สาบานตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ปี 2021
ที่มา : รอยเตอร์