(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
TikTok refugees flee to RedNote in intensifying digital cold war
by Jian Xu
17/01/2025
ยูสเซอร์สหรัฐฯพากันอพยพจาก ติ๊กต็อก ไปลี้ภัยที่แอป “เสี่ยงหงซู” หรือ “เรดโน้ต” ซึ่งก็เป็นแอปจีนอีกตัวหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังถูกขนานนามกันในประเทศจีนว่า คือ “ขบวนการตื่นรู้ของโลกตะวันตก”
ติ๊กต็อก แพลตฟอร์มสื่อสังคมยักษ์ใหญ่กำลังเตรียมตัวที่จะปิด [1] แอปของตนในสหรัฐฯตั้งแต่วันอาทิตย์ (19 ม.ค.) นี้ –วันที่รัฐบัญญัติ [2] ฉบับซึ่งสั่งแบนแอปตัวนี้ ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามผ่านออกมาเป็นกฎหมายตั้งแต่ปีที่แล้ว จะเริ่มมีผลบังคับใช้
ยังมีโอกาสอยู่น้อยนิดที่อาจจะไม่เกิดพัฒนาการอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเช่นนี้ขึ้นมา ถ้าหากศาลสูงสุดสหรัฐฯยอมรับเหตุผลข้อโต้แย้งทางกฎหมายในนาทีสุดท้ายจาก ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทจีนซึ่งเป็นเจ้าของติ๊กต็อก ที่ว่าการสั่งแบนเช่นนี้เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ทางไบต์แบนด์ก็จะต้องปล่อยมือจากการดำเนินงานของติ๊กต็อกในสหรัฐฯ
(หมายเหตุผู้แปล – ศาลสูงสุดสหรัฐฯออกคำตัดสินด้วยเสียงเอกฉันท์เมื่อวันศุกร์ที่ 17 ม.ค. ยกฟ้องของไบต์แดนซ์ และไบต์แดนซ์ ออกประกาศปิดการดำเนินการในสหรัฐฯแล้วตั้งแต่ตอนดึกวันเสาร์ที่ 18 ม.ค. ชั่วโมงเศษๆ ก่อนเข้าสู่วันใหม่ของวันเส้นตาย –วันอาทตย์ที่ 19 ม.ค. ดูรายละเอียดได้ที่รายงานอัปเดต ตอนท้ายของข้อเขียนชิ้นนี้)
แต่พวกยูสเซอร์ผู้เล่นติ๊กต็อกในสหรัฐฯที่มีจำนวนประมาณ 170 ล้านคน ไม่ได้มัวแต่รอคอยปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามยถากรรมหรอก มีผู้ซึ่งเรียกตนเอง [3] ว่า “ผู้ลี้ภัยชาวติ๊กต็อก” (TikTok refugees) จำนวนมาก เริ่มต้นหลบหนีไปอยู่กับเว็บไซต์โซเชียลมีเดียเจ้าอื่นๆ โดยระหว่างกระบวนการในการทำเช่นนี้ พวกเขาก็ไม่ลืมปล่อยมุกล้อเลียนข้อกล่าวหาของทางการสหรัฐฯที่ว่าติ๊กต็อกสร้างความกังวลใจในด้านความมั่นคงไปด้วย จนกระทั่ง แฮชแท็ก “Goodbye to my Chinese spy” (ลาก่อนสปายสายลับจีนของเรา) ฮิตติดเทรนด์ใหม่เทรนด์หนึ่ง [4] บนติ๊กต็อกทีเดียว
เว็บไซต์สื่อสังคมที่กลายเป็นทางเลือกใหม่ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้ลี้ภัยชาวติ๊กต็อกทั้งหลาย ปรากฏว่าได้แก่ เสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) [5] แอปสื่อสังคมภาษาจีน (ชื่อในภาษาจีนแปลว่า หนังสือสีแดงเล่มน้อย Little Red Book แต่ทางแอปนี้เองใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า RedNote) โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม แอปตัวนี้ผงาดขึ้นอันดับ 1 [6] ใน แอปเปิล แอป สโตร์ สหรัฐฯ (US Apple App Store) เมื่อสามารถดึงดูดยูสเซอร์รายใหม่ได้มากกว่า 700,000 ราย
การอพยพหลบภัยทางดิจิตอลของยูสเซอร์สื่อสังคมจำนวนมากๆ เช่นนี้ เป็นหลักหมายแสดงให้เห็นถึงระยะใหม่ในสงครามเย็นทางดิจิตอล [7] ที่ยังคงกำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในเวลานี้ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทว่ายังคงมีคำถามอีกเป็นจำนวนมากในเรื่องที่ว่า เรดโน้ต –หรือแพลตฟอร์มทางเลือกเจ้าอื่นๆ –จะสามารถเป็นแหล่งลี้ภัยระยะยาวที่ใช้การได้จริงๆ สำหรับยูสเซอร์ติ๊กต็อกในสหรัฐฯหรือไม่ ถ้าหากมาตรการแบนนี้ยังคงถูกผลักดันให้เดินหน้าต่อไป
แอป เรดโน้ต มีความเป็นมาอย่างไร?
เรดโน้ต หรือ เสี่ยงหงซู เป็นแพลตฟอร์มภาษาจีนทางด้านไลฟ์สไตล์, สื่อสังคม, และอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเจ้าของคือ บริษัทซิงอิ๋น อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (Xingyin Information Technology) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 มันมีลักษณะสไตล์ลูกผสมระหว่างอินสตาแกรม (Instagram) เจอกับ พินอินเทอเรสต์ (Pinterest) โดยมีผู้ใช้ที่แอคทีฟประมาณเดือนละ 300 ล้านราย [8] ซึ่งส่วนข้างมากเลยเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศจีน
เรดโน้ต จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของยูสเซอร์ของตนเอาไว้ในประเทศจีน โดยยึดมั่นปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายต่างๆ ทางด้านการปกป้องคุ้มครองข้อมูลและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีน ตลอดจนกฎระเบียบอื่นๆ ของแดนมังกร
ทว่า เรดโน้ต ก็ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มทางเลือกเพียงรายเดียวที่พวกยูสเซอร์กำลังอพยพไปขอพักพิง อีกรายหนึ่งคือ เลมอน8 (Lemon8) [9] ซึ่งก็เป็นของไบต์แดนซ์เช่นเดียวกับติ๊กต็อก โดยเรียกตัวเองว่าเป็น “ชุมชนไลฟ์สไตล์” เลมอน8 เปิดตัวครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2020 และในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถครองอันดับ 2 แอปยอดนิยมใน แอปเปิล แอป สโตร์ –ตามหลัง เรดโน้ต แอปตัวนี้ยังอนุญาตให้ผู้ที่เป็นยูสเซอร์ของติ๊กต็อกอยู่แล้ว สามารถอพยพมาโดยนำเอาวิธีดำเนินการต่างๆ และข้อมูลทั้งหลายจากบัญชีติ๊กต็อกมาด้วยได้
เหมือนๆ กับติ๊กต็อก เลมอน8 ก็จัดเก็บข้อมูลของยูสเซอร์เอาไว้นอกประเทศจีน รวมทั้งเก็บไว้ในสหรัฐฯและสิงคโปร์ด้วย อย่างไรก็ดี ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯแบนติ๊กต็อกจริงๆ แล้ว พวกเขาก็ย่อมสามารถใช้หลักเหตุผลอย่างเดียวกันมาแบนเลมอน8 ได้อย่างง่ายดาย
พวกแพลตฟอร์มท้องถิ่นที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯซึ่งอาจจะกลายเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกได้เหมือนกัน เป็นต้นว่า อิสสตาแกรม รีลส์ (Instagram Reels) และ ยูทูบ ชอร์ตส์ (YouTube Shorts) ปรากฏว่ากลับไม่ได้ถูกยูสเซอร์ติ๊กต็อกจำนวนมากมองว่าเป็นทางเลือกในอุดมคติแต่อย่างใด นี่เป็นเพราะว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ในลักษณะเป็นมิตรกับครีเอเตอร์น้อยกว่า อีกทั้งขาดความสำนึกของการเป็นชุมชนอันแรงกล้า [10]
ยูสเซอร์จำนวนมากทีเดียวมองว่า เรดโน้ต คือหนทางเลือกที่ดีที่สุด เมื่อพิจารณาจากสไตล์คอนเทนต์ และอัลกอริธึม ที่คล้ายๆ กับของติ๊กต็อก รวมทั้งเสน่ห์ดึงดูดซึ่งมีแรงขับดันจากความเป็นชุมชนก็อยู่ในท่วงทำนองเดียวกัน สิ่งที่สำคัญกว่านั้นอีกก็คือ แพลตฟอร์มนี้อยู่พ้นไปจากการควบคุมของรัฐบาลสหรัฐฯ และสหรัฐฯไม่สามารถสั่งแบนโดยตรงได้
ในเวลาที่เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ ปรากฏว่าบนเรดโน้ต แฮชแท็ก “TikTok refugee” รวบรวมยอดการมองเห็นได้แล้วถึงราวๆ 250 ล้านวิว และมีผู้คอมเมนต์ออกความเห็นอีกกว่า 5.5 ล้านคอมเมนต์ [11] ยูสเซอร์สหรัฐฯบางรายอธิบายความเคลื่อนไหวของพวกเขาด้วยถ้อยคำประชดประชันและเสแสร้าง [12] บนแพลตฟอร์ม เรดโน้ต เอาไว้ดังนี้
“เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องที่ข้อมูลส่วนตัวของพวกเรากำลังถูกจีนแอบลักลอบเอาไว้ ดังนั้นขอให้พวกเราหันมาส่งมอบข้อมูลเหล่านี้แก่รัฐบาลจีนโดยตรงอย่างละมุนละม่อมกันเถิด หลังจากนี้แล้วพวกคุณยังจะมาคว้าเอามือถือของฉันไปอีกหรือเปล่าละ?”
“ขบวนการตื่นรู้ของโลกตะวันตก”
พวกยูสเซอร์ชาวจีนของ เรดโน้ต กำลังแสดงความยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวติ๊กต็อกจากสหรัฐฯอย่างกระตือรือร้น
ตัวอย่างเช่น พวกเขากำลังผลิตวิดีโอติวเตอร์เพื่อสอนยูสเซอร์หน้าใหม่ถึงวิธีท่องไปในแอปตัวนี้ การต้อนรับด้วยความยินดีเช่นนี้สามารถประมวลเข้าด้วยกันด้วยคอมเมนต์ยอดนิยม [13] ความเห็นหนึ่งจากยูสเซอร์ชาวจีนของแพลตฟอร์มนี้ ที่กล่าวเอาไว้ว่า “เพื่อนมิตรที่มาจาก ติ๊กต็อก ฉันต้องการบอกว่า พวกคุณไม่ใช่ผู้ลีภัย พวกคุณคือนักสำรวจผู้กล้าหาญต่างหาก”
กระแสผู้อพยพใหม่เข้ามายัง เรดโน้ต ยังกลายเป็นการเพิ่มทวีความภาคภูมิใจในชาติให้แก่พวกยูเซอร์อินเทอร์เน็ตชาวจีนอีกด้วย
พวกเขาอ้างอิงอย่างมีชีวิตชีวาถึงการอพยพครั้งนี้ [14] ว่า มันคือ “ขบวนการตื่นรู้ของโลกตะวันตก” (Western awakening movement) ครั้งหนึ่ง ซึ่งเปิดทางให้เหล่าพลเมืองสหรัฐฯได้เปิดหูเปิดตาของพวกเขามองดูโลกที่อยู่นอกศูนย์กลางของฝ่ายตะวันตก
วลีนี้เป็นการขบคิดผูกคำขึ้นมา โดยมุ่งอ้างอิงไปถึง “ขบวนการสร้างเสริมความเข้มแข็งของตนเอง”( self-strengthening movement) [15] ในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นความพยายามดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายสร้างประเทศจีนแห่งความทันสมัยขึ้นมา ด้วยการนำเอาพวกเทคโนโลยี, ความรู้, และค่านิยมต่างๆ ของฝ่ายตะวันตกมาประยุกต์ใช้
กระแสการอพยพที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดหมายกันมาก่อนนี้ ยังทำให้ได้เห็นพวกหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ เรดโน้ต บางตัว พุ่งแรงพรวดพราดไปถึงราว 20% [16] ทีเดียวในช่วงต้นๆ ของสัปดาห์ที่ผ่านมา
การทูตระดับจากประชาชนสู่ประชาชน
การมีปฏิสัมพันธ์กันในทางบวกระหว่างยูสเซอร์อินเทอร์เน็ตชาวอเมริกันและชาวจีนเช่นนี้ ช่วยส่งเสริมแนวความคิดว่าด้วย “การทูตจากประชาชนสู่ประชาชน (people-to-people diplomacy) ที่เสนอออกมาโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไอเดียนี้ได้รับการรวบรวมสรุปเอาไว้ได้อย่างดีที่สุดโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อเขากล่าวในเดือนกรกฎาคม 2024 ดังนี้ “ความหวังของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯนั้น มีพื้นฐานขึ้นอยู่กับประชาชน, รากฐานของมันอยู่ที่สังคมของทั้งสองฝ่าย, อนาคตของมันขึ้นอยู่กับเยาวชน, และความมีชีวิตชีวาของมันมาจากการติดต่อแลกเปลี่ยนกันในระดับต่างๆ ที่อยู่ต่ำลงมาจากระดับชาติ
อย่างไรก็ดี เรดโน้ตอาจจะไม่ใช่เป็นแหล่งหลบภัยที่พึ่งพาอาศัยได้เป็นระยะเวลายาวนานสำหรับพวกยูเซอร์ติ๊กต็อกสหรัฐฯ
การอพยพอย่างฉับพลันไปยัง เรดโน้ต ของพวกเขา อาจจะอยู่ในลักษณะเหมือนกับการประท้วงแบบแฟลชม็อบ (flash mob) ที่มีฝูงชนมารวมตัวกันอย่างฉับพลันรวดเร็ว เพื่อมุ่งแสดงออกถึงการต่อต้านคัดค้านการแบนติ๊กต็อก เสียมากกว่า จากนั้นฝูงชนเหล่านี้ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไป มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยสำหรับพวกเขาที่จะเกิดความคุ้นเคยกับระบบนิเวศดิจิตอลที่มีความผิดแผกแตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก –และตัดสินใจที่จะพำนักอาศัยอยู่อย่างถาวรบนแอปจีนตัวนี้
เรดโน้ต ได้โพสต์แจ้งรับสมัครงาน [17] เรียบร้อยแล้ว เพื่อเร่งระดมหาพวกพิธีกรผู้แนะนำด้านคอนเทนต์ (content moderators) ที่เข้าใจภาษาอังกฤษ มารับมือกับการเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วน่าตื่นตาตื่นใจของยูสเซอร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษของตนเช่นนี้
นอกจากนั้น อีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีคุณค่าสมควรแก่การตั้งข้อสังเกตเอาไว้ ก็คือว่า การอพยพมายัง เรดโน้ต นี้ ถึงอย่างไรก็ยังคงมีขนาดเล็กมาก แลเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของผู้คน 170 ล้านคนในสหรัฐฯที่เล่นติ๊กต็อกกันอยู่
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลสหรัฐฯยังมีอำนาจที่จะกดดัน แอปเปิล ให้ถอน เรดโน้ต ออกจาก ยูเอส แอป สโตร์ ถ้าหากพวกเขาคิดว่าการอพยพโยกย้ายนี้กำลังกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติขึ้นมา
แต่ไม่ว่าเรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นมาหรือไม่ การที่เกิดผู้ลี้ภัยชาวติ๊กต็อกอพยพไปหา เรดโน้ต กันเป็นจำนวนมากๆ เช่นนี้ –แม้กระทั่งว่ามันจะเป็นเพียงการอพยพชั่วคราวก็ตามที – ก็แสดงให้เห็นอยู่ดีว่า การออกกฎเกณฑ์มุ่งจัดระเบียบพวกเทคโนโลยีดิจิตอลของสหรัฐฯ โดยมีแรงขับดันจากการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น ได้ส่งผลทำให้อินเทอเน็ตระดับโลกเกิดการแตกแยกร้าวฉานอย่างสำคัญขึ้นมาแล้ว
ยังโชคดีที่เราได้เป็นประจักษ์พยานมองเห็นถึงจิตวิญญาณแห่งการมองโลกในแง่ดีและลัทธิมนุษยธรรมในหมู่ยูสเซอร์ชาวสหรัฐฯและชาวจีน ในท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามเย็นทางดิจิตอลคราวนี้
เจียน ซู เป็นรองศาสตราจารย์ในด้านการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเดียคิน (Deakin University) รัฐวิกตอเรีย, ออสเตรเลีย
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/us-tiktok-refugees-are-fleeing-to-chinese-app-rednote-its-a-new-phase-of-the-digital-cold-war-247342
เชิงอรรถ
[1] https://www.reuters.com/technology/tiktok-preparing-us-shut-off-sunday-information-reports-2025-01-15/
[2] https://edition.cnn.com/2024/04/23/tech/congress-tiktok-ban-what-next/index.html
[3]https://www.tiktok.com/@also.steph/video/7459520445495168278?q=tiktok%20refugee&t=1736984427635
[4]https://www.theverge.com/2025/1/13/24343063/tiktok-ban-goodbye-chinese-spy-trend
[5] https://www.xiaohongshu.com/explore
[6] https://www.reuters.com/technology/over-half-million-tiktok-refugees-flock-chinas-rednote-2025-01-14/
[7] https://www.reuters.com/technology/us-china-tech-war-seen-heating-up-regardless-whether-trump-or-harris-wins-2024-10-23/
[8] https://www.scientificamerican.com/article/u-s-tiktok-users-flock-to-rednote-as-ban-looms/
[9] https://www.lemon8-app.com/feed/foryou?region=us
[10] https://www.castmagic.io/post/tiktok-vs-reels-vs-shorts
[11] https://edition.cnn.com/2025/01/14/tech/rednote-china-popularity-us-tiktok-ban-intl-hnk/index.html
[12] https://www.guancha.cn/industry-science/2025_01_14_762012.shtml
[13]https://www.globaltimes.cn/page/202501/1326866.shtml
[14]https://www.163.com/dy/article/JLV0R4AL055647HN.html
[15]https://www.oxfordreference.com/display/10.1093/oi/authority.20110803100453486
[16] https://www.reuters.com/technology/over-half-million-tiktok-refugees-flock-chinas-rednote-2025-01-14/
[17] https://finance.sina.com.cn/tech/roll/2025-01-15/doc-ineezwyz7189312.shtml
ข่าวอัปเดต
ติ๊กต็อก‘จอดำ’ประกาศหยุดให้บริการในสหรัฐฯแล้ว ขณะ‘ทรัมป์’หยอดคำหวาน สัญญาจะต่อเวลาให้90วันเมื่อตนรับตำแหน่งวันจันทร์
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์
TikTok stops working for US users, disappears from Apple, Google stores
By Reuters
19/012025
ติ๊กต็อก หยุดการดำเนินงานในอเมริกาตั้งแต่ตอนดึกวันเสาร์ (18 ม.ค.) และหายไปจากแอปสโตร์ของ แอปเปิล และ กูเกิล ก่อนหน้าที่กฎหมายสหรัฐฯฉบับซึ่งกำหนดให้ปิดแอปยอดนิยมตัวนี้ที่มียูสเซอร์ชาวอเมริกันเล่นกัน 170 ล้านคน มีผลบังคับอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ (19)
ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรนัมป์ พูดเอาไว้ก่อนหน้านั้นของวันเดียวกันว่า “มีความเป็นไปได้มากที่สุด” ที่เขาจะเลื่อนการแบนติ๊กต็อกออกไป 90 วัน หลังจากเขาสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งในวันจันทร์ (20) โดยที่ทางติ๊กต็อกก็ได้นำเอาคำสัญญานี้มาอ้างอิงไว้ในประกาศที่โพสต์ถึงยูสเซอร์ในสหรัฐฯบนแอปของตนด้วย
ติ๊กต็อก ซึ่งมี ไบต์แดนซ์ บริษัทจีนเป็นเจ้าของ แจ้งกับพวกยูสเซอร์ที่กำลังพยายามใช้ใช้แอปตัวนี้ เมื่อประมาณ 22.45 น. ตามเวลาทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ (10.45 p.m. ET ตรงกับ 10.45 น. วันอาทิตย์ที่ 19 ม.ค. ตามเวลาเมืองไทย) ในประกาศฉบับดังกล่าวว่า “กฎหมายที่กำลังสั่งแบนติ๊กต็อก มีผลบังคับในสหรัฐฯแล้ว โชคร้ายที่ว่า นี่หมายความว่าคุณจะไม่สามารถใช้ติ๊กต็อกได้ในขณะนี้ เราโชคดีที่ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีว่าเขาจะทำงานกับเราในเรื่องหนทางแก้ไขเพื่อนำติ๊กต็อกกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่ง โปรดรอติดตามข่าวต่อไป”
แอปตัวอื่นๆ ที่เป็นของไบต์แดนซ์ รวมทั้ง แคปคัต (Capcut) แอปสำหรับการตัดต่อวิดีโอ และ เลมอน8 (Lemon8) แอปโซเชียลไลฟ์สไตล์ ก็ถูกอออฟไลน์ ตลอดจนไม่สามารถดาวน์โหลดได้จากพวกแอปสโตร์สหรัฐฯด้วยเช่นกัน ตั้งแต่ตอนดึกวันเสาร์
“การยืดเวลาออกไป 90 วัน มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะมีการดำเนินการ เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม” ทรัมป์ กล่าวเช่นนี้กับเครือข่ายทีวี เอ็นบีซี “ถ้าผมตัดสินใจที่จะทำอย่างนั้น ผมก็อาจจะประกาศออกมาในวันจันทร์”
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ยังมียูสเซอร์สหรัฐฯคนไหนหรือไม่ที่ยังสามารถเข้าถึงแอปตัวนี้ แต่สำหรับยูสเซอร์จำนวนมากแล้ว แอปตัวนี้อยู่ในสภาพไม่ทำงานอีกต่อไปแล้ว และผู้ที่พยายามเข้าถึงมันโดยผ่านแอปพลิคั่นทางเว็บ ก็จะพบกับป็อปอัพข้อความอย่างเดียวกันที่ระบุว่า ติ๊กต็อกใช้งานไม่ได้แล้ว
ติ๊กต็อก ซึ่งมีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดให้ชาวอเมริกันเกือบๆ ครึ่งหนึ่งเข้ามาใช้ อีกทั้งให้พลังแก่พวกธุรกิจขนาดเล็กๆ ตลอดจนมีบทบาทสูงในการก่อรูปปรับโฉมวัฒนธรรมออนไลน์ ออกมาเตือนตั้งแต่วันศุกร์ (17) ว่าจะต้องหยุดให้บริการในสหรัฐฯตั้งแต่วันอาทิตย์ หากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่ให้คำมั่นแก่พวกบริษัทต่างๆ อย่างเช่น แอปเปิล และ กูเกิล ว่า พวกเขาจะไม่ต้องประสบกับการปฏิบัติการเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อคำสั่งแบนมีผลบังคับ
ตามกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาและประธานาบดีไบเดนลงนามรับรองตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว และได้รับการวินิจฉัยตัดสินว่ากฎหมายนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเสียงเอกฉันท์จากคณะตุลาการศาลสูงสุดสหรัฐฯในวันศุกร์ (17) แพลตฟอร์มสื่อสังคมเน้นคลิปวิดีโอสั้นนี้ มีเวลาจนถึงวันอาทิตย์ เพื่อตัดความผูกพันที่มีอยู่กับ ไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ซึ่งตั้งฐานอยู่ในจีน หรือไม่ก็ต้องปิดการดำเนินงานในสหรัฐฯของตน เพื่อแก้ไขคลี่คลายความห่วงกังวลที่ว่า ติ๊กต็อกเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
ทำเนียบขาวออกมาเน้นย้ำในวันเสาร์ (18) ว่าต้องขึ้นอยู่กับคณะบริหารที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
“เรามองไม่เห็นเหตุผลใดๆ เลยสำหรับการที่ ติ๊กต็อก หรือบริษัทอื่นๆ จะดำเนินการอะไรในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า ก่อนที่คณะบริหารทรัมป์จะเข้าดำรงตำแหน่งในวันจันทร์” คารีน ฌอง-ปีแอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อของทำเนียบขาว ระบุเช่นนี้ในคำแถลง
ติ๊กต็อก ไม่ได้ตอบสนองใดๆ เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามขอความคิดเห็นเกี่ยวกับคำแถลงฉบับล่าสุดนี้จากทำเนียบขาว
ทางด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน ออกมาแถลงตั้งแต่วันศุกร์ กล่าวหาสหรัฐฯว่ากำลังใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อกำราบปราบปรามติ๊กต็อก พร้อมกับบอกว่า “จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทุกอย่างเพื่อคุ้มครองปกป้องอย่างเด็ดเดี่ยวซึ่งสิทธิและผลประโยชน์อันถูกต้องตามกฎหมายของตน” โฆษกของสถานเอกอัครราชทูตระบุ