xs
xsm
sm
md
lg

แหล่งข่าวชี้! จนท.พบ ‘ขนนก-เลือด’ ติดอยู่ในเครื่องยนต์ทั้ง 2 ฝั่งของ ‘เจจูแอร์’ ที่ไถลหลุดรันเวย์ในเกาหลีใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พนักงานสอบสวนพบขนนกและเลือดติดอยู่ภายในเครื่องยนต์ทั้ง 2 ฝั่งของเครื่องบินเจจูแอร์ (Jeju Air) ที่ประสบอุบัติเหตุไถลหลุดรันเวย์ในเกาหลีใต้เมื่อเดือนที่แล้วจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 179 ศพ ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เปิดเผยกับรอยเตอร์วันนี้ (17 ม.ค.)

เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ลำนี้ออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าสนามบินมูอัน (Muan) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ ก่อนจะลงจอดในสภาพล้อไม่กาง และลื่นไถลหลุดรันเวย์ไปชนกำแพงคอนกรีตตรงปลายรันเวย์จนระเบิดไฟลุกท่วมเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.

เหตุการณ์นี้มีเพียงลูกเรือ 2 คนที่นั่งอยู่ท้ายลำที่รอดชีวิตมาได้

นักบินผู้ควบคุมเครื่องได้แจ้งไปยังหอควบคุมการบินว่าเครื่องบิน “พุ่งชนนก” และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินราวๆ 4 นาทีก่อนที่เครื่องจะชนเข้ากับกำแพงคอนกรีตปลายรันเวย์

ทั้งนี้ หอควบคุมการบินเองได้มีการแจ้งเตือน “กิจกรรมของนก” บริเวณรอบๆ สนามบิน ก่อนที่เครื่องบินลำนี้จะส่งสัญญาณ Mayday ประมาณ 2 นาที และหลังจากที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว นักบินได้ตัดสินใจยกเลิกการลงจอด และนำเครื่องกลับไปบินวน 1 รอบ

อย่างไรก็ตาม แทนที่จะบินวนจนครบรอบ เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 ลำนี้กลับหักเลี้ยวอย่างกะทันหัน และตรงเข้าไปยังรันเวย์เดี่ยวของทางสนามบินมูอันจากทิศทางตรงกันข้าม ก่อนจะลงจอดในสภาพที่ท้องเครื่องบินครูดไถลไปกับพื้นด้วยความเร็วสูง

พนักงานสอบสวนระบุในเดือนนี้ว่า เศษขนนกถูกพบอยู่ในเครื่องยนต์ฝั่งหนึ่งที่เก็บกู้มาจากจุดตก และอ้างถึงคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่ามีนกพุ่งเข้าไปติดในเครื่องยนต์ฝั่งหนึ่ง

กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า มีการพบขนนกและเลือดอยู่ในเครื่องยนต์ทั้ง 2 ฝั่งหรือไม่

กล่องบันทึกข้อมูลการบินและกล่องบันทึกเสียงภายในห้องนักบินซึ่งเป็น 2 กุญแจสำคัญที่จะไขต้นตอของอุบัติเหตุครั้งนี้หยุดทำงานไปประมาณ 4 นาทีก่อนที่เครื่องจะพุ่งชนกำแพงคอนกรีต ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับทีมสอบสวนในการที่จะหาความจริง

ซิม ไจดง (Sim Jai-dong) อดีตพนักงานสอบสวนอุบัติเหตุของกระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ ระบุว่าการค้นพบว่ากล่องดำหยุดทำงานในช่วงไม่กี่นาทีสุดท้ายถือว่าน่าประหลาดใจ และสะท้อนว่าแหล่งกำเนิดพลังงานทั้งหมดบนเครื่องรวมถึงไฟสำรองอาจถูกตัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

การที่เครื่องบินจะพุ่งชนนกจนส่งผลให้เครื่องยนต์เสียหายทั้ง 2 ฝั่งยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมากในอุตสาหกรรมการบินปัจจุบัน และเคยมีกรณีที่นักบินสามารถนำเครื่องลงจอดโดยไม่มีผู้เสียชีวิตมาแล้วในเหตุการณ์ลักษณะนี้ เช่น กรณี “ปาฏิหาริย์บนแม่น้ำฮัดสัน” ที่กัปตันนำเครื่องลงจอดกลางแม่น้ำในสหรัฐฯ เมื่อปี 2009 และการลงจอดภายในไร่ข้าวโพดที่รัสเซียเมื่อปี 2019 เป็นต้น

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น