ขวดพลาสติกและกระป๋องเบียร์เปล่าๆ ถูกพบเห็นกลิ้งไปกลิ้งมาอยู่บริเวณก้นทะเลในน่านน้ำรอบๆ ภูเก็ต ทางภาคใต้ของไทย ในขณะเดียวกัน ก็พบเจอกองขยะปริมาณมากสะสมเป็นกองพะเนินบนตัวเกาะเอง ทั้งที่เกาะแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันสำคัญ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านชายหาดและพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าอันงดงาม ตามรายงานข่าวของรอยเตอร์ในวันพฤหัสบดี (16 ม.ค.)
รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า ในมุมหนึ่งของเกาะภูเก็ต รถบรรทุกและรถแทรกเตอร์ เคลื่อนไปเคลื่อนมาในความพยายามกระจายขยะรอบๆ พื้นที่ฝังกลบที่กว้างขวางแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของขยะที่เก็บมาจากทั่วภูเก็ต มากกว่า 1,000 ตัน ในแต่ละวัน
รอยเตอร์ระบุว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พื้นที่ฝังดังกล่าวมีขยะเพิ่มมากขึ้น จนถึงขั้นบดบังทิวทิศน์ภูเขา ที่ก่อนหน้านี้สามารถมองเห็นได้จากบ้านพักของ Vassana Toyou หนึ่งในผู้อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้กับกองขยะ "ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านได้ เราทำได้แค่อยู่แต่ภายในบ้าน กลิ่นมันเหม็นรุนแรงมาก คุณจำเป็นต้องสวมหน้ากาก"
เพื่อรับมือกับสภาพเช่นนี้ Vassana บอกว่าเธอต้องเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศไว้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ต้องเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ภูเก็ต เกาะใหญ่ที่สุดของไทย พัฒนาอย่างรวดเร็วสืบเนื่องจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยทั้งมวล ทั้งนี้ในปี 2024 มีชาวต่างชาติเดินทางมาเยือนไทยมากกว่า 35.5 ล้านคน ในนั้น 13 ล้านคน มุ่งหน้ามายังเกาะแห่งนี้
"การเติบโตของเมือง (ภูเก็ต) รวดเร็วกว่าที่มันควรจะเป็นมาก" ศุภโชค ละอองเพชร รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าว พร้อมอ้างว่าการเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวและการก่อสร้าง ทำให้ปริมาณขยะมากกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เสียอีก ตามรายงานของรอยเตอร์
เขาบอกว่าในช่วงสิ้นปี เกาะแห่งนี้อาจก่อขยะสูงสุด 1,400 ตันต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าจะล้นพื้นที่ฝังกลบหนึ่งเดียวของเกาะ
รอยเตอร์ระบุว่า พวกเจ้าหน้าที่กำลังผลักดันเดินหน้าแผนการต่างๆ ในการลดการก่อขยะ 15% ใน 6 เดือน ขยายพื้นที่ฝังกลบและสร้างเตาเผาขยะแห่งใหม่ จากการเปิดเผยของนายศุภโชค ในความพยายามทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์อ้างความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าการเพิ่มพื้นที่และมีเตาเผาหลายเตา ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาทั้งหมด "หากคุณเอาแต่เพิ่มเตาเผาขยะ ผมไม่คิดว่ามันจะแก้ปัญหาได้" ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านบริหารจัดการขยะแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์ "พวกเขาจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การลดและแยกขยะ"
(ที่มา : รอยเตอร์)