(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China’s J-36 stealth fighter another blow to US air superiority
by Gabriel Honrada
02/01/2025
เครื่องบินสู้รบเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ที่มีลูกเรือประจำการอยู่ในเครื่องรุ่นใหม่ 2 รุ่นที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงสิ้นปี 2024 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการก้าวกระโดดในแสนยานุภาพทางอากาศของจีน ซึ่งอาจทำให้ต้องนิยามจำกัดความเรื่องพลวัตของการสู้รบทางอากาศกันเสียใหม่
ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาที่สร้างความเซอร์ไพรซ์มากในแวดวงอาวุธยุทโธปกรณ์ นั่นคือ ประเทศจีนได้เปิดตัวเครื่องบินสู้รบเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ที่มีลูกเรือประจำการอยู่ในเครื่อง (crewed stealth combat aircraft) เจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งอาจทำให้ต้องนิยามจำกัดความเรื่องพลวัตของการสู้รบทางอากาศกันเสียใหม่ และมีศักยภาพท้าทายฐานะของอเมริกาในการครอบครองน่านฟ้าอย่างไม่มีใครต่อกรได้ในเอเชีย [1]
เครื่องบินใหม่ชนิดนี้ลำแรก ซึ่งถูกระบุนามรุ่นว่า J-36 ทว่ายังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการนี้ ลักษณะที่โดดเด่นเตะตาคือไม่มีหางอย่างที่เห็นกันในเครื่องบินทั่วไปมาแต่ไหนแต่ไร ขณะที่มีปีกทรงสามเหลี่ยม (delta wing) แบบที่ผ่านการดัดแปลงปรับปรุงแล้ว ทั้งนี้ตามรายงานของ เดอะ วอร์โซน (The War Zone หรือ TWZ) เว็บไซต์ข่าวสารและบทวิเคราะห์แวดวงอุตสาหกรรมกลาโหม [2]
เวลานี้ทั้งอัตลักษณ์และข้อกำหนดรายละเอียดทางเทคนิคอย่างแน่นอนของเครื่องบินรุ่นนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบกันชัดเจน แต่ตามรายงานของ เดอะ วอร์โซน ผู้ผลิตน่าจะเป็นบริษัทเฉิงตูแอร์คราฟต์คอร์เปอเรชั่น (Chengdu Aircraft Corporation หรือ CAC) และดูเหมือน เจ-36 จะเป็นหมายเลขลำดับสูงสุดเท่าที่มีการยืนยันกันในบัญชีรายชื่อรุ่นเครื่องบินขับไล่ของจีน (Jianjiji fighter jet series) โดยที่หมายเลขลำดับสูงสุดก่อนหน้านี้คือ รุ่น เจ-35
ดีไซน์ของเครื่องบินรุ่นนี้ ดูสอดคล้องอยู่ในแนวทางเดียวกับความมุ่งมั่นปรารถนาของจีนในเรื่องการมีแสนยานุภาพทางอากาศระดับก้าวหน้าล้ำยุค, การเน้นสมรรถนะในการหลบหลีกเรดาร์ และในเรื่องพิสัยทำการไกล รูปร่างที่ไร้หางของเครื่องเกิดขึ้นจากเจตนาในการลดพื้นที่การถูกตรวจจับจากเรดาร์ (radar signature) และเป็นการปรับปรุงยกระดับประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ ถึงแม้มันอาจจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวพลิกพลิ้วได้อย่างคล่องแคล่ว รายงานชิ้นนี้ของ เดอะ วอร์โซน ตั้งข้อสังเกต
การที่เครื่องบินนี้ติดตั้งเครื่องยนต์จำนวน 3 เครื่อง ส่อแสดงให้เห็นว่ามุ่งโฟกัสที่การทำให้เที่ยวบินรักษาความเร็วสูง และการปฏิบัติการในระดับน่านฟ้าสูงๆ ได้นาน จวบจนถึงเวลานี้ กระทรวงกลาโหมของจีนเองยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องบินใหม่นี้เลย
ทันทีหลังจากเปิดตัวเครื่องบินไอพ่นทางยุทธวิธีเจเนอเรชั่นใหม่ของตนนี้แล้ว เดอะ วอร์โซน รายงาน [3] ว่า จีนยังได้เผยโฉมเครื่องบินใหม่อีกรุ่นหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งผลิตโดยบริษัทเสิ่นหยางแอร์คราฟต์คอร์เปอเรชั่น (Shenyang Aircraft Corporation หรือ SAC)
เดอะ วอร์โซน บอกว่า เครื่องบินลำหลังนี้ซึ่งได้รับการขนานนามรุ่นว่า J-50 มีลักษณะเด่นๆ หลายประการของเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ รวมไปถึงดีไซน์แบบไร้หาง ที่มุ่งเพิ่มพูนคุณสมบัติที่ทำให้ถูกสังเกตตรวจตรา (observability)ได้ต่ำ อีกทั้งลดส่วนที่จะทำให้ถูกเรดาร์ตรวจจับ (radar signature) แล้วไม่เหมือนกับ เจ-36 ที่ใช้เครื่องยนต์ 3 เครื่อง รายงานข่าวนี้ชี้ว่า เจ-50 มีรูปทรงแบบติดตั้งเครื่องยนต์ 2 เครื่อง
ขณะที่เครื่องบินทหารรุ่นใหม่ๆ ของจีนเหล่านี้ ถูกระบุว่าเป็น “เครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 6” แต่เนื่องจากวลีนี้มีคำจำกัดความที่หลวมๆ จึงอาจทำให้เรื่องสมรรถนะทางทหาร ถูกนำไปใช้อวดโอ่เพื่อวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างง่ายดาย
ในบทความ [4] ที่เขียนให้นิตยสาร แอร์ แอนด์ สเปซ ฟอร์เซส (Air and Space Forces) เมื่อเดือนตุลาคม 2009 จอห์น เทอร์แพค (John Tirpak) เสนอว่า เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 คือแนวความคิดว่าด้วยเครื่องบินสู้รบระดับก้าวหน้า ที่มุ่งเน้นเรื่องความสามารถในการหลบหลีกเรดาร์ได้อย่างสุดๆ, ความสามารถในการปรับตัวให้ปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้หลายหลาก, และการบูรณาการด้านเทคโนโลยี
ตามความคิดเห็นของ เทอร์แพค เครื่องบินดังที่กล่าวถึงนี้จะรวมเอาคุณสมบัติต่างๆ อย่างเช่น ลำตัวเครื่องบินที่สามารถดัดแปลงปรับเปลี่ยนให้เข้ากับภารกิจใหม่ได้ในระหว่างทำการบิน (morphing airframes), การติดตั้งพวกอาวุธพลังงานตรง (directed energy weapons พวกอาวุธที่สามารถสร้างความเสียหายให้แก่เป้าหมายด้วยพลังงานที่มีการรวมศูนย์ระดับสูง โดยไม่ต้องอาศัยอาวุธปล่อยแบบของแข็ง ตัวอย่างของพวกอาวุธเหล่านี้ ได้แก่ เลเซอร์, ไมโครเวฟ, พาร์ติเคิล บีมส์, ซาวด์ บีมส์), และ การมี “เปลือกนอกแบบอัจฉริยะ” (smart skins) ซึ่งติดตั้งตัวเซนเซอร์ต่างๆ สำหรับทำให้เกิดการตระหนักรับรู้สถานการณ์อย่างชนิดที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน
เขาเสนอแนะว่า เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 จะถูกออกแบบมาให้ใช้ได้ทั้งการปฏิบัติการแบบที่มีมนุษย์อยู่ในเครื่องและแบบที่ไม่มี , มีความสามารถในการบูรณการพวกสมรรถนะในลักษณะเป็นเครือข่ายก้าวหน้าล้ำยุคทั้งหลาย, และมีความสามารถในการประสานงานร่วมมือกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้แบบไร้รอยตะเข็บ
เทอร์แพคระบุว่า เครื่องบินเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงในทุกๆ ระบบการบิน (flight regimes นั่นคือ ไม่ว่าจะเป็นการบินด้วยความเร็วต่ำกว่าความเร็วเสียง, ความเร็วเท่าเสียง, ความเร็วสูงกว่าเสียง, ความเร็วสูงกว่าเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป), มีศักยภาพที่จะใช้เครื่องยนต์ซึ่งมี cycle หลากหลาย (variable-cycle engines เครื่องยนต์ไอพ่นเครื่องบินซึ่งออกแบบมาให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนใต้เที่ยวบินที่ใช้ระบบการบินผสมผสาน เช่น มีทั้งบินด้วยความเร็วต่ำกว่าเสียง, ความเร็วเท่าเสียง, และความเร็วเหนือเสียง) และมีอาวุธป้องกันตัวแบบพลังงานตรง
เขาบอกว่า ด้วยสมรรถนะในการทำสงครามทางไซเบอร์ และค่าใช้จ่ายโดยรวมตลอดอายุการใช้งาน (lifecycle costs) ที่ลดลง เครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 6 จึงสามารถตั้งจุดมุ่งหมายที่จะธำรงรักษาการครองน่านฟ้าเอาไว้อย่างเหนือล้ำ ในเวลาเดียวกับที่รับมือกับความท้าทายในเชิงปฏิบัติการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่เครื่องบินสู้รบสเตลธ์เจเนอเรชั่นใหม่ของจีน อาจจะมีคุณสมบัติบางประการของเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 6 ที่พูดคุยอภิปรายกันอยู่ในโลกตะวันตก แต่เวลานี้เรายังคงมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับสมรรถนะต่างๆ ของมันจนสามารถให้คำรับรองได้ว่ามันสมควรได้รับสมญานามดังกล่าวแล้ว
นอกจากนั้นแล้ว ไอเดียของจีนเกี่ยวกับเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 6 ยังอาจจะแตกต่างอย่างมากกับของทางตะวันตก ตลอดจนคำนิยามของฝ่ายอื่นๆ ซึ่งนี่ก็อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเรียกร้องต้องการที่เป็นการเฉพาะไม่เหมือนใครของจีนเอง
สำหรับสมรรถนะอันเป็นไปได้ที่เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ซึ่งจีนเพิ่งเปิดตัวเหล่านี้จะมีอยู่นั้น บิลล์ สวีตแมน (Bill Sweetman) กล่าวอ้างอิงไว้ในบทความชิ้นหนึ่ง [5] ที่เขียนให้แก่ เดอะ สแทรเทจิสต์ (The Strategist) เมื่อเดือนที่แล้วว่า เจ-36 เป็นตัวแทนการก้าวกระโดดครั้งสำคัญในเทคโนโลยีทางการบิน สวีตแมนชี้ว่า เจ-36 เป็นเครื่องบินสู้รบขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งพัฒนาขึ้นในประเทศจีน และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในรอบระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา
สวีตแมนบอกว่า ปีกของ เจ-36 ที่ถูกออกแบบเป็นรูปสามเหลี่ยม ดับเบิล เดลตา (double-delta wing) เป็นตัวเพิ่มพูนการทำงานในเวลาบินด้วยความเร็วเหนือเสียง ตลอดจนสมรรถนะการหลบหลีกเรดาร์อย่างรอบด้านของมัน ขณะที่ในเรื่องมิติต่างๆ ของเครื่องบินนี้ เขาให้ตัวเลขว่ามันมีความยาวประมาณ 23 เมตร ระยะระหว่างปลายปีก 2 ข้างอยู่ที่ 19 เมตร และมีพื้นที่สำคัญของส่วนปีกอยู่ที่ราว 200 ตารางเ-มตร
เขาระบุว่า ห้องเก็บอาวุธหลักของ เจ-36 วัดความยาวได้ประมาณ 7.6 เมตร และเสริมเติมด้วยพวกช่องเก็บอาวุธด้านข้างๆ สำหรับอาวุธขนาดเล็กลงมา บ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการประกอบอาวุธระดับใหญ่โตทีเดียว
เขายังอ้างอิงถึงเรื่องที่เครื่องบินรุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์รวม 3 เครื่อง โดยที่เครื่องยนต์ 2 ตัว อากาศถูกป้อนเข้าทางช่องทางเข้ารูปตัววีคว่ำ (caret-shaped inlet) ขณะที่เครื่องยนต์ตัวที่ 3 อากาศเข้าแบบ diverterless supersonic inlet บ่งชี้ให้เห็นว่ามุ่งโฟกัสอยู่ที่ทำให้เกิดสมรรถนะการบินระยะยาวด้วยความเร็วเหนือเสียง (supercruise capabilities) โดยไม่ต้องพึ่งพาอาฟเตอร์เบิร์นเนอร์ (afterburners)
สวีตแมนบอกว่า ดีไซน์ของ เจ-36 เน้นหนักเรื่องการหลบหลีกเรดาร์ โดยที่ไม่มีพื้นผิวแพนหางแนวดิ่ง (vertical tail surfaces) และใช้เปลือกนอกแบบปรับเปลี่ยนได้ (flexible skins) มาปกปิดเส้นพับหักงอต่างๆ
ทางด้าน ดีเฟนซ์ เอกซ์เพรส (Defense Express) เดือนที่แล้วได้อ้างอิง [6] ถึงเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ เจ-50 โดยบอกว่าช่วงระหว่างปีก 2 ข้างมีความยาวประมาณ 22 เมตร ขณะที่พื้นที่ปีกอยู่ที่ราวๆ 145 ตารางเมตร
รายงานนี้บอกว่า เจ-50 น่าจะมีน้ำหนักในเวลาทะยานขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 40 ตัน ทำความเร็วได้สูงสดที่ มัค 2 และมีรัศมีทำการสู้รบ 2,200 กิโลเมตร
รายงานนี้ยังชี้ด้วยว่า ดีไซน์ของ เจ-50 มีช่องสำหรับการจัดเก็บอาวุธได้หลายช่อง ช่องใหญ่ที่สุดนั้นสามารถประกอบขีปนาวุธอากาศสู่อากาศแบบ พีแอล-17 (PL-17) จำนวน 4 ลูก แต่ละลูกมีพิสัยทำการได้ 300 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังสามารถบรรทุกขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ วายเจ-12 (YJ-12) ได้ 1 ลูก ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วเป็น 3 เท่าตัวของความเร็วเสียง โดยมีพิสัยทำการ 400 กิโลเมตร
ตรงกันข้ามกับความก้าวหน้าในแสนยานุภาพทางอากาศเจเนอเรชั่นหน้าของจีน ความพยายามของสหรัฐฯ [7]ในการแข่งขันชิงชัยทางด้านนี้ ดูเหมือนว่ากำลังตกอยู่ในอาการสับสนอลหม่าน
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2024 เอเชียไทมส์ [8 ]เคยรายงานเอาไว้ว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯกำลังกลับมาพิจารณาทบทวนโครงการเครื่องบินขับไล่ “ครอบครองความเหนือกว่าทางน่านฟ้าเจเนอเรชั่นหน้า” (Next-Generation Air Dominance หรือNGAD) ของตนกันใหม่ สืบเนื่องจากความรัดตัวด้านงบประมาณ, ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, และภัยคุกคามที่กำลังวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จากพวกโดรนติดอาวุธ
รัฐมนตรีทบวงกองทัพอากาศสหรัฐฯ (US Air Force Secretary) แฟรงก์ เคนดัลล์ (Frank Kendall) ได้ประกาศหยุดพักโครงการ NGAD มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2024 จากการที่ แอนดรูว์ ฮันเตอร์ (Andrew Hunter) ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการจัดซื้อจัดหา (acquisition chief) และ เจมส์ สไลฟ์ (James Slife) รองเสนาธิการ (Vice Chief of Staff General) ของกองทัพอากาศ เสนอแนะว่าจำเป็นต้องมีการประเมินทบทวนกันใหม่
การทบทวนคราวนี้จะมีการสำรวจว่า สามารถบรรลุความเหนือล้ำทางอากาศได้หรือไม่ ด้วยการบูรณาการเครื่องบินที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น เอฟ-35, เอฟ-15อีเอ็กซ์, และเอฟ-22 กับพวกเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น แนวความคิดเรื่องอากาศยานรบทำงานร่วมกัน (Collaborative Combat Aircraft หรือ CCA) ทั้งนี้ความก้าวหน้าต่างๆ ในเรื่องระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติภายในเครื่องบินเป็นผู้บังคับเครื่อง (autonomy) และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานับตั้งแต่การวิเคราะห์เพื่อจัดทำโครงการ NGAD ในตอนแรกๆ คือตัวเร่งรัดให้เกิดการพิจารณากันใหม่ในคราวนี้
ปัจจัยที่สำคัญๆ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสูงลิ่วที่เกิดขึ้นกับโครงการ NGAD โดยประมาณการกันว่าทำให้ต้องใช้จ่ายถึงเกือบๆ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียวสำหรับเครื่องบินแต่ละลำ รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการดำเนินการซึ่งคำนึงถึงความคุ้มค่าให้มากขึ้น
นอกเหนือจาก NGAD แล้ว กองทัพอากาศสหรัฐฯยังเผชิญกับความล่าช้าในโครงการเครื่องบิน เอฟ-35 และพวกโครงการขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (intercontinental ballistic missile หรือ ICBM) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงอย่าง บี-21 เรดเดอร์ (B-21 Raider) และ เซนทิเนล (Sentinel) อีกด้วย
การที่จีนเดินหน้าปรับปรุงกำลังทางอากาศให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เป็นสัญญาณแสดงถึงการปรับเปลี่ยนอย่างสำคัญยิ่งประการหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการทหารของพวกเขา ซึ่งมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อความมั่นคงทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก
ใน “รายงานแสนยานุภาพทางทหารของจีนปี 2024” (2024 China Military Power Report) [9] ที่จัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การเริ่มต้นออกแบบเครื่องบินขับไล่ระดับก้าวหน้าล้ำยุค รวมทั้งพวกเครื่องบินที่มีความสามารถในการหลบหลีกเรดาร์อย่างเช่นรุ่น เจ-20 และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของพวกระบบเจเนอเรชั่นที่ 6 เน้นย้ำให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ในการบรรลุความเท่าเทียม หรือการก้าวล้ำแซงหน้าสมรรถนะทางอากาศของสหรัฐฯและเหล่าพันธมิตร
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า พัฒนาการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้วิธีการแบบบูรณาการเพื่อให้มีฐานะเหนือล้ำครองน่านฟ้า, การเน้นไปที่การปฎิบัติการแบบเครือข่าย-จุดศูนย์กลาง (network-centric operations), สมรรถนาะการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์, และพวกแพลตฟอร์มขีปนาวุธที่สมรรถนะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น รายงานนี้ยังกล่าวว่า จากการโอนย้ายพวกหน่วยการบินนาวี และการบูรณาการระบบการป้องกันภัยทางอากาศต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เป็นเครื่องบ่งชี้เห็นได้ชัดว่าจีนมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในด้านการควบคุมบังคับบัญชา, การหนุนเสริมศักยภาพของตนในการสำแดงอำนาจทั้งภายในแนววงล้อมหมู่เกาะชั้นแรก (First Island Chain) และพื้นที่ไกลไปกว่านั้น
ตามที่กล่าวไว้ในรายงานฉบับนี้ กองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนให้ความสำคัญกับเรื่องกระบวนการทำให้ผู้คนในประเทศมีอำนาจควบคุมสิ่งต่างๆ (indigenization) และเรื่องการทำให้พวกเทคโนโลยีล้ำหน้าทั้งหลาย ผูกพันอยู่กับเป้าหมายทางการทหารในวงกว้างของจีนในเรื่องการทำสงคราม “ที่เน้นความเป็นอัจฉริยะ” (“intelligentized” warfare) ด้วยการนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และการคำนวณเชิงควอนตัม (quantum computing) มาใช้ ความก้าวหน้าเหล่านี้ [10] กลายเป็นความท้าทายฐานะเหนือล้ำทางอากาศของสหรัฐฯ และก่อให้เกิดความเสี่ยงที่กำลังบานปลายขยายตัวออกไปในทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวันอีกด้วย
รายงานชี้ว่า เนื่องจากระบบเหล่านี้เป็นระบบออนไลน์ จึงอาจจะส่งผลเปลี่ยนแปลงการคาดคำนวณเชิงยุทธศาสตร์ของพวกรัฐเพื่อนบ้าน และสร้างความยุ่งยากให้แก่การวางแผนด้านกลาโหมของสหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน่านฟ้าอินโด-แปซิฟิกที่กำลังแข่งขันช่วงชิงกันอยู่
เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2023/05/us-china-air-supremacy-race-hits-a-higher-gear/
[2] https://www.twz.com/air/china-stuns-with-heavy-stealth-tactical-jets-sudden-appearance
[3] https://www.twz.com/air/yes-china-just-flew-another-tailless-next-generation-stealth-combat-aircraft
[4]https://www.airandspaceforces.com/PDF/MagazineArchive/Documents/2009/October%202009/1009fighter.pdf
[5] https://www.aspistrategist.org.au/chinas-big-new-combat-aircraft-a-technical-assessment/#:~:text=It%20is%20the%20largest%20combat%20aircraft%20designed%20and,designed%20to%20combine%20supersonic%20performance%20with%20all-aspect%20stealth.
[6] https://defence-ua.com/weapon_and_tech/rozkrito_harakteristiki_novogo_kitajskogo_vinischuvacha_shenyang_j_50-17589.html
[7] https://asiatimes.com/2024/11/us-lacks-the-planes-to-win-an-air-war-with-china/
[8] https://asiatimes.com/2024/09/us-air-force-thinks-about-ditching-ngad-fighter-program/
[9] https://media.defense.gov/2024/Dec/18/2003615520/-1/-1/0/MILITARY-AND-SECURITY-DEVELOPMENTS-INVOLVING-THE-PEOPLES-REPUBLIC-OF-CHINA-2024.PDF
[10] https://asiatimes.com/2024/11/china-claims-its-radars-closing-in-on-us-stealth-fighters/