(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Singapore-Malaysia SEZ promises a production powerhouse
by Marcus Loh
10/01/2025
โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (JS-SEZ) ที่เพิ่งลงนามกันหมาดๆ นำเอา 2 ชาติเพื่อนบ้าน คือ สิงคโปร์ กับ มาเลเซีย เข้ามาอยู่ในสหภาพทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังอาจกลายเป็นคำตอบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากนครเซินเจิ้น ของประเทศจีน
เมื่อ 60 ปีก่อน สิงคโปร์ต้องแยกตัวออกมาจากมาเลเซีย เรื่องนี้กลายเป็นเครื่องหมายของการพังทลายอันเจ็บปวด สำหรับการทดลองทางการเมืองที่ต้องถือว่าห้าวหาญ
สิ่งซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาในสภาพของสหภาพที่ยึดโยงอยู่กับคำมั่นสัญญาว่าด้วยอนาคตที่มีอยู่ร่วมกันและตลาดร่วมอันหนึ่งอันเดียวกัน กลับต้องมีอันล้มครืนลงภายใต้น้ำหนักแรงกดทับของการมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่แตกต่างกันจนไม่สามารถรอมชอมกันได้ ตลอดจนความตึงเครียดระหว่างชุมชนต่างๆ ซึ่งบาดร้าวล้ำลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับสิงคโปร์แล้ว การแยกตัวในปี 1965 คือช่วงขณะอันสั่นสะเทือนหวั่นไหวที่ทำให้ต้องขบคิดพิจารณา และกลายเป็นแรงขับดันให้ชาติที่เพิ่งงอกปีกงอกหางรายนี้ ต้องก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งเอกราชในฐานะที่เป็นนครรัฐเล็กๆ แห่งหนึ่ง
ในปีนี้ ขณะที่สิงคโปร์เฉลิมฉลองวชิรสถาปนา --วาระแห่งการก่อตั้งประเทศครบรอบ 60 ปี หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า SG60 โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (Johor-Singapore Special Economic Zone หรือ JS-SEZ) ก็กำลังเสนอโอกาสสำหรับการก่อตั้งความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าวขึ้นมาใหม่ ในห้วงเวลาที่ความผูกพันทวิภาคี ณ ระดับการเมือง กำลังมีพื้นฐานที่หนักแน่นมั่นคงอย่างมองเห็นได้เด่นชัด
เขต JS-SEZ ที่มีการประกาศก่อตั้งขึ้น ระหว่างการหารือทวิภาคีอย่างไม่เป็นทางการในระดับผู้นำของประเทศทั้ง 2 ครั้งที่ 25 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของการร่วมมือกันอย่างชนิดที่จะกลายเป็นหลักหมายสำคัญต่อไปในอนาคต โดยมุ่งผสมผสานความชำนาญทางเทคโนโลยีและทางการเงินของสิงคโปร์ เข้ากับที่ดิน, แรงงาน, และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ของยะโฮร์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.businesstimes.com.sg/international/johor-singapore-special-economic-zone-agreement-signed-leaders-retreat)
เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่แห่งนี้ ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตกว้างขวางด้วยพื้นที่ 3,571 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 4 เท่าตัวของขนาดประเทศของสิงคโปร์ ตั้งจุดหมายเอาไว้ว่าจะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่สิงคโปร์จะพึ่งพาใช้ประโยชน์จากความองอาจในด้านการเงินการคลังและด้านการสร้างนวัตกรรมของตน ขณะเดียวกันรัฐยะโฮร์ของมาเลเซียก็จะแสวงหาทางเอาประโยชน์จากความเข้มแข็งในด้านการผลิตและความสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ ของตนเช่นกัน
โครงการ JS-SEZ ยังเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การค้าทวิภาคีระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียไต่สูงขึ้นสู่ระดับ 78,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯแล้วในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปี 2024 เพิ่มขึ้น 6.7% จากระยะเวลาเดียวกันของปี 2023 เป็นที่คาดหมายกันว่า JS-SEZ จะผงาดขึ้นได้โดยอาศัยแรงกระตุ้นดังกล่าวนี้
มาเลเซียได้กำหนดเป้าหมายต่างๆ อันสูงลิ่วซึ่งเล็งว่าจะได้รับจาก JS-SEZ ออกมาแล้ว โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะมีส่วนทำรายได้ 35,500 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้แก่จีดีพีของตน –หรือเท่ากับเกือบๆ 5% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของแดนเสือเหลืองทีเดียว
เวลาเดียวกันนั้น ทางฝ่ายสิงคโปร์คาดว่ามันจะมีส่วนเพิ่มพูนจีดีพีของตนในระดับไม่มากนัก นั่นคือแค่ราวๆ 0.2% ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ขณะที่ดอกผลอันใหญ่โตกว้างขวางยิ่งกว่านั้นที่สิงคโปร์วาดหวังจะได้รับ กลับอยู่ที่การเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความผูกพันที่มีอยู่กับมาเลเซีย ชาติเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของตน , การจับมือสร้างพันธมิตรที่มีผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน, และการส่งเสริมเพิ่มพูนบทบาทฐานะของตนในการค้าโลกและนวัตกรรมของโลก
พวกธุรกิจต่างๆ ของสิงคโปร์ โดยเฉพาะพวกที่มีขนาดกลางๆ ต่างพากันออกไปสำรวจหาลู่ทางที่ยะโฮร์กันเรียบร้อยแล้ว ในฐานะที่จะเป็นฐานสำหรับการดำเนินงานและการผลิต ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุน เพื่อเป็นส่วนเสริมเติมให้แก่กิจกรรมสร้างมูลค่าสูงซึ่งมีการดำเนินการกันอยู่แล้วภายในสิงคโปร์ เป็นต้นว่า การวิจัยและการพัฒนา และการเป็นสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค
ปลดล็อกความสามารถที่จะเสริมส่งเติมเต็มให้กันและกัน
เขตเศรษฐกิจพิเศษ JS-SEZ มีความพิเศษโดดเด่นในเรื่องความสามารถของมันที่จะปลดล็อกความสามารถของสิงคโปร์และมาเลเซียในการเสริมส่งเติมเต็มให้แก่กันและกัน โดยที่ประเทศหนึ่งประเทศใดโดดๆ น่าจะไม่สามารถกระทำได้สำเร็จ การเสริมฤทธิ์ให้แก่กันและกันจากการผนึกกำลังกันเหล่านี้ เห็นกันว่าจะเกิดขึ้นได้ในขอบเขตกว้างๆ 4 ขอบเขตด้วยกัน ได้แก่ การเชื่อมโยงในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน, ลอจิสติกส์, การเคลื่อนย้ายผู้คน, และการสร้างความสะดวกให้แก่การทำธุรกิจข้ามพรมแดน
ประการแรกสุดเลย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นตัวสร้างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ได้ประมาณ 7% อยู่แล้ว อีกทั้งเป็นตัวสร้างผลผลิตทางเซมิคอนดักเตอร์ในอัตราส่วนสูงกว่า 10% ของโลก รวมทั้งเป็นผู้มีส่วนในการผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ทางเซมิคอนดักเตอร์ถึงราวๆ 20% ของโลก จะได้ประโยชน์จากศักยภาพในการประกอบชิ้นส่วนและในการทดสอบ ซึ่งกำลังก่อตัวเป็นหน่ออ่อนขึ้นมาแล้วของรัฐยะโฮร์
ความร่วมมือกันเช่นนี้สามารถที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคขึ้นมาแข่งขันกับ เซินเจิ้น ของจีนได้ทีเดียว โดยที่สามารถเสนอข้อได้เปรียบของตนนั่นคือความหยุ่นตัวและการมีที่ตั้งใกล้ชิดยิ่งกว่ากับพวกตลาดทั้งหลายในสมาคมอาเซียน
เวลาเดียวกัน พวกทรัพยากรด้านพลังงานหมุนเวียนของยะโฮร์ เป็นต้นว่า พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานมวลชีวภาพ ก็สามารถที่จะเป็นตัวจ่ายพลังให้แก่บรรดาศูนย์ข้อมูลซึ่งต้องมีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นทั้งหลาย จึงทำให้กิจการต่างๆ ในสิงคโปร์สามารถที่จะขยายโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ขณะที่ระเบียบวาระด้านพลังงานสีเขียวของทั่วโลกกำลังถูกผลักดันให้คืบหน้ายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
ประการที่สอง ที่ดินซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์และต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ที่อยู่ในระดับสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของยะโฮร์ ทำให้รัฐของมาเลเซียแห่งนี้กลายเป็นหุ้นส่วนในอุดมคติสำหรับการขยายตัวของพวกวิสาหกิจอุตสาหกรรมการผลิตทางด้านอาหาร และวิสาหกิจเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งปัจจุบันตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์
ในอีกด้านหนึ่ง ตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังบูมมากของอาเซียน โดยที่คาดการณ์กันว่าจะมีมูลค่าทะลุหลัก 300,000 ล้านดอลลาร์ได้ภายในปี 2025 นั้น ในตัวมันเองย่อมเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการมีลอจิสติกส์ที่ทรงประสิทธิภาพ จากการมีที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ และโครงสร้างพื้นฐานอันพรักพร้อม เขต JS-SEZ จึงอยู่ในตำแหน่งที่ดีงามสำหรับกลายเป็นศูนย์ลอจิสติกส์ระดับภูมิภาคแห่งหนึ่ง เพิ่มพูนความสามารถของทั้งสองประเทศในการเอาชนะพวกชาติคู่แข่งในภูมิภาค
ประการที่สาม ไม่เหมือนกับแผนการริเริ่มอื่นๆ ที่ถูกเสนอขึ้นมาก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่า โครงการ อิสกันดาร์ มาเลเซีย (Iskandar Malaysia) โครงการ JS-SEZ ให้ความสำคัญลำดับแรกแก่การต่อเชื่อมระหว่างประเทศทั้งสอง ระบบทางรถไฟความเร็วสูง (Rapid Transit System หรือRTS) เชื่อมระหว่างสิงคโปร์กับยะโฮร์ มีกำหนดเปิดใช้งานได้ในปี 2026 ซึ่งจะลดเวลาการเดินทางระหว่างยะโฮร์บารู เมืองเอกของรัฐยะโฮร์ กับสิงคโปร์ ลงไปได้ ทำให้บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และเพิ่มพูนส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ระบบการตรวจสอบด้วยคิวอาร์โค้ดโดยไม่ต้องแสดงหนังสือพาร์ตปอร์ตที่จะใช้สำหรับคนงานที่เดินทางข้ามไปทำงานยังอีกประเทศหนึ่ง รวมทั้งกระบวนการทางด้านศุลกากรที่จะกลายเป็นระบบดิจิตอล ล้วนมีจุดมุ่งหมายทำให้การผ่านแดนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ ให้แก่ภาคธุรกิจทั้งหลายอย่างสำคัญทีเดียว
ประการสุดท้าย การปฏิรูปต่างๆ ทางด้านธรรมาภิบาล คือตัวสนับสนุนอันสำคัญยิ่งในการวางแผนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ขึ้นมา ศูนย์อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถทำทุกอย่างโดยติดต่อกับที่นี่ทีเดียว ซึ่งกำหนดจัดตั้งขึ้นในยะโฮร์ จะเป็นผู้ดูแลทั้งเรื่องการพิจารณาอนุมัติการลงทุน, การแก้ไขคลี่คลายข้อร้องเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเกี่ยวกับความล่าช้าอันสืบเนื่องจากระบบราชการ
มาตรการจูงใจพิเศษทางด้านภาษีอากร ซึ่งรวมไปถึงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต่ำลงมา และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับนักวิชาชีพที่มีทักษะความชำนาญ คือสิ่งที่วางแผนเอาไว้เพื่อดึงดูดพวกอุตสาหกรรมมูลค่าสูงและผู้มีความรู้ความสามารถระดับโลกตัวท็อปๆ ถ้าหากมาตรการเหล่านี้ถูกนำออกมาดำเนินการอย่างประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะกลายเป็นแม่เหล็กอย่างหนึ่งของ JS-SEZ ในการดึงดูดพวกนักลงทุน
จินตนาการอีกครั้งถึง “การควบรวม 2 ประเทศ
การก่อตั้ง JS-SEZ เป็นตัวแทนของการสร้างจินตนาการขึ้นมาใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย ในการจับมือเป็นหุ้นส่วนกันบนพื้นฐานอันหนักแน่นของการมีผลประโยชน์ร่วมกันและการมองการณ์ไกลทางเศรษฐกิจ โดยที่จะต้องเดินหน้าไปให้ไกลเกินกว่าศักยภาพของ “การควบรวมประเทศ” ระหว่างมาเลเซีย-สิงคโปร์ที่แสนสั้นในปี 1963 ได้เคยคาดการณ์กันเอาไว้
โครงการนี้สามารถทำให้ทั้งสองฝ่ายก้าวขึ้นไปอยู่เหนือกว่าความจำกัดต่างๆ ในระดับชาติ และก็เป็นคำแถลงอันห้าวหาญที่แสดงถึงความเชื่อมั่นในความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการเติบโตขยายตัวในตลาดโลก ซึ่งเวลานี้เต็มไปด้วยปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิกีดกันการค้าที่กำลังพุ่งแรง, ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว, และการตั้งข้อจำกัดทางการค้าอย่างเข้มงวดกวดขันขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับสิงคโปร์แล้ว เขตเศรษฐกิจนี้คือโอกาสเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะความจำกัดต่างๆ ทั้งทางกายภาพและทางโครงสร้าง เป็นการจัดวางเส้นทางสำหรับระยะการเติบโตต่อไปของประเทศนี้ภายใต้การเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง ขณะเดียวกับที่เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความผูกพันที่มีอยู่กับชาติเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุดของตน
ส่วนสำหรับมาเลเซีย นี่คือลู่ทางโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงยะโฮร์ให้กลายเป็นมหาอำนาจทางการผลิตรายหนึ่ง, ดึงดูดการลงทุนระดับโลก, และกระตุ้นการพัฒนาของภูมิภาคด้วยข้อตกลงความเป็นหุ้นสรวนซึ่งลงนามกันในช่วงการเป็นประธานสมาคมอาเซียนของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบรอฮิม
ภายหลัง “การหย่าร้างแยกจากกัน” มาเป็นเวลา 60 ปี เขต JS-SEZ ก็กำลังเสนอโอกาสแก่ทั้ง 2 ชาติที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนข้อเสนอสร้างมูลค่าของแต่ละฝ่าย โดยที่ผลรวมที่เกิดขึ้นจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเหนือกว่าแต่ละส่วนซึ่งมารวมกันอย่างแน่นอน อีกทั้งนี่ยังเป็นการเสนอผืนผ้าใบสดใหม่ผืนใหม่สำหรับวาดภาพเรื่องราวของพวกเขาในฐานะหุ้นส่วนที่เสริมส่งเติมเต็มให้แก่กัน, รวมตัวกันด้วยเป้าหมายต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกันทั้งเพื่อตัวพวกเขาเองและเพื่อภูมิภาคนี้ในท่ามกลางภูมิทัศน์ของโลกที่กำลังสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่นายกรัฐมนตรี หว่อง ของสิงคโปร์ กล่าวเอาไว้ว่า “การแข่งขันอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่งขึ้นที่เรากำลังเผชิญอยู่ มันไม่ใช่การแข่งขันในระหว่างพวกเรากันเองภายในสมาคมอาเซียนเลย แต่มันเป็นการแข่งขันกับผู้ที่อยู่ข้างนอกของภูมิภาคนี้ อาเซียนจำเป็นต้องเข้ามารวมตัวกัน มองหาหนทางต่างๆ สำหรับส่งเสริมเพิ่มพูนข้อเสนอสร้างมูลค่าของพวกเรา และสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยกัน”
ประวัติศาสตร์อาจจะไม่ถึงกับซ้ำรอย แต่บ่อยครั้งทีเดียวมันมักเปล่งจังหวะทำนองที่คล้ายๆ กันออกมา สำหรับสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ในที่สุด JS-SEZ อาจจะก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างที่ประชาชนของพวกเขาเสาะแสวงหามาอย่างยาวนาน
มาร์คัส หลอ เป็นผู้อำนวยการคนหนึ่งของบริษัทเทมัส (Temus) กิจการให้บริการต่างๆ ในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ โดยที่เขาเป็นผู้ดูแลฝ่ายประชาสัมพันธ์ และโปรแกรม “Step IT Up” ซึ่งเป็นโปรแกรมเปลี่ยนอาชีพทางเทคโนโลยีที่ชนะได้รับรางวัลมาแล้วของเทมัส