เอเจนซีส์ - มีรายงานปักกิ่งกำลังอยู่ระหว่างสร้างเรือยกพลขึ้นบกพบไม่ต่ำกว่า 3 ลำที่อู่ต่อเรือกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ระหว่างอเมริกากำลังยุ่งเปลี่ยนผ่านอำนาจ พบมหาวิทยาลัยหลี่ซุ่ยตั้งตรงข้ามไต้หวันเป็นเจ้าของผลงานคิดค้นการตัดเคเบิลใต้ทะเลเคยขอจดสิทธิบัตรเมื่อปี 2020 อื้อฉาวหลังจีน-รัสเซียกลายเป็นจำเลยโลกคดีเคเบิลใต้น้ำโดนตัดอย่างจงใจทั้งฟินแลนด์ นอร์เวย์ มาจนถึงไต้หวัน
เดลีเทเลกราฟของอังกฤษรายงานวันจันทร์ (13 ม.ค.) ว่า ปักกิ่งมีรายงานกำลังแอบซุ่มต่อฝูงเรือยกพลขึ้นบกที่คาดว่าอาจจะใช้เพื่อบุกไต้หวัน อ้างอิงจาก Naval News
เรือดังกล่าวนี้มีลักษณะคล้ายกับท่าเรือยกพลขึ้นบกชั่วคราวชื่อดัง "Mulberry harbours" ที่สร้างโดยกองทัพอังกฤษสำหรับการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีในปี 1944 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ผู้เชี่ยวชาญได้ให้สัมภาษณ์กับเดลีเทเลกราฟว่า เรือยกพลขึ้นบกจีนที่มีรายงานว่ากำลังต่อขึ้นนี้อาจได้แรงบันดาลใจจากท่าเรือยกพลขึ้นบกชั่วคราว “Mulberry Harbours” และสิ่งนี้อาจเป็นการพิสูจน์ได้อย่างสำคัญต่อความทะเยอทะยานของปักกิ่งในการบุกไต้หวัน เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่สหรัฐฯ พันธมิตรหลักทางการทหารของไต้หวันกำลังอยู่ในช่วงสุญญากาศทางการเมือง
Naval News รายงานว่า พบมีเรือยกพลขึ้นบกที่ออกแบบมาเป็นพิเศษไม่ต่ำกว่า 3 ลำที่อู่ต่อเรือกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ทางใต้ของจีน
เรือพิเศษเหล่านั้นมาพร้อมกับสะพานยาว 120 เมตรที่จะทำให้รถถังหรือยานยนต์ทางการทหารอื่นๆ สามารถขึ้นฝั่งที่มีทั้งทรายและโขดหินเพื่อไปยังถนนชายฝั่งสำคัญของไต้หวันได้อย่างไม่ยากเย็น
ฐานสำหรับยกพลขึ้นบกนั้นเชื่อว่ามีเสาเพื่อที่จะลดระดับลงสู่ทะเลเพื่อทำให้เรือสามารถทรงตัวได้ดีในทะเลที่ไม่สงบ
นอกเหนือจากนี้ การออกแบบของเรือยังมีฐานเปิดที่จะอนุญาตให้เรืออื่นสามารถจอดและโหลดสิ่งของลงได้
สื่ออังกฤษรายงานว่า เรือพิเศษดังกล่าวจะเพิ่มทางเลือกให้ปักกิ่งอย่างสูงสำหรับการบุกไต้หวันที่ปักกิ่งมองว่าเป็นหนึ่งในดินแดนของตัวเอง แต่ไต้หวันปฏิเสธ
ผู้เชี่ยวชาญมากมายจากทั้งศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ (Centre for Strategic and International Studies) และสถาบันวัตสัน (Watson Institute) ของมหาวิทยาลัยบราวน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ชี้ว่า ปักกิ่งศึกษา Mulberry harbours และการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีมาเป็นอย่างดี
และประเมินว่า ปักกิ่งน่าจะต้องใช้เรือยกพลขึ้นบกไม่ต่ำกว่า 24 ลำเพื่อที่จะลำเลียงยานยนต์หุ้มเกราะและปัจจัยขึ้นฝั่ง
นิวสวีกของสหรัฐฯ รายงานวันศุกร์ (10) ก่อนหน้าว่า มีการเปิดเผยว่า ปักกิ่งใช้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลี่ซุ่ย (Lishui University) มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับไทเปโดยมีช่องแคบไต้หวันขวางกั้น เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการตัดเคเบิลใต้น้ำไต้หวัน
พบว่าวิศวกรทางทะเลมหาวิทยาลัยจีนในปี 2020 ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรสำหรับวิธีการตัดเคเบิลใต้น้ำที่ต้องใช้การลาก โดยเป็นการจดสิทธิบัตรที่มาจากการพัฒนา "อุปกรณ์การตัดแบบลาก" (ocean towing type cutting device) ขององค์การบริหารมหาสมุทรจีน SOA ที่พัฒนาขึ้นเมื่อราวปลายยุค 2000 สำหรับทะเลจีนใต้
อุปกรณ์นี้รวมไปถึงกลไกยืนยันเพื่อตรวจจับเศษตกค้างทองแดงซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักสำหรับเคเบิลส่วนใหญ่ในการประกันความสำเร็จของการตัดสายเคเบิลที่ตามการงานวิจัยอ้างว่า "เพื่อต้องการลดต้นทุนและความซับซ้อนของปฏิบัติการใต้ทะเล เป็นต้นว่าการรื้อเคเบิลเก่าทิ้ง" แต่อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดการยื่นขอจดทะเบียนจากมหาวิทยาลัยจีนนี้โดนปฏิเสธ
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยจีนได้กล่าวในการยื่นขอว่า
“ด้วยการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสายเคเบิลใต้ทะเลและเคเบิลการสื่อสารถูกวางพาดท้องทะเลทั่วโลกและจำเป็นต้องตัดออกใน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” บางอย่าง”
นิวสวีกรายงานว่า อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญชาวนอร์เวย์ด้านสายเคเบิลใต้ทะเลที่ไม่เปิดเผยชื่อได้ให้สัมภาษณ์กับนิวสวีกว่า เหตุผลที่อุปกรณ์นี้มีความจำเป็นต้องนำเคเบิลใต้ทะเลเถื่อนออกไปนี้ประหลาดโดยสิ้นเชิง และวิธีการนั้นไม่แน่นอนและอาจสร้างความเสียหายให้เคเบิลอื่นๆ ที่ยังใช้การได้
ส่วนผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ชื่อดังของสหรัฐฯ เกร็กกอรี ฟัลโก (Gregory Falco) ยอมรับว่าอุปกรณ์เช่นนี้สามารถใช้ได้ในเชิงพาณิชย์แต่มันเป็นที่ชัดเจนว่า "สิ่งนี้สามารถถูกใช้สำหรับจุดประสงค์อื่นเช่นกัน" โดยชี้ว่าปักกิ่งหาประโยชน์จากอุปกรณ์ที่ใช้ได้ทั้งด้านพลเรือนและการทหารมานานหลายปี
สิ่งนี้สามารถถูกใช้เพื่อก่อวินาศกรรมโดยปักกิ่ง ซึ่งยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงการใช้ยุทธวิธีสีเทาของปักกิ่งเพิ่มขึ้น