พลเมืองกรีนแลนด์ราว 57.3% สนับสนุนข้อเสนอของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะดึงเกาะแห่งนี้เข้าเป็นดินแดนของอเมริกา จากผลสำรวจใหม่ล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ แม้ขณะเดียวกันทางนายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ ยังไม่บ่งชี้ใดๆ สำหรับเปิดรับแนวคิดดังกล่าว
ผลสำรวจที่จัดทำโดย Patriot Polling บริษัทวิจัยสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.) ยังพบด้วยว่ามีพลเมืองชาวกรีนแลนด์ปฏิเสธข้อเสนอของทรัมป์ 37.4% และอีก 5.3% ยังไม่ตัดสินใจ "ผลสำรวจของเราพบว่ามีเสียงส่วนใหญ่ค่อนข้างมากของชาวกรีนแลนด์ สนับสนุนเข้าร่วมสหรัฐฯ" ถ้อยแถลงของสำนักโพลระบุ
การสำรวจของ Patriot Polling เป็นการสอบถามความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม 416 คนในกรีนแลนด์ ระหว่างวันที่ 6 ถึง 11 มกราคม ระหว่างที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ลูกชายของว่าที่ประธานาธิบดี กำลังเดินทางเยือนเกาะปกครองตนเองของเดนมาร์กแห่งนี้ ทั้งนี้ Patriot Polling เป็นบริษัทที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก และไม่เคยจัดทำโพลนอกสหรัฐฯ มาก่อนเลย
ทรัมป์ ซึ่งเคยยื่นข้อเสนอซื้อเกาะกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก ได้พูดถึงประเด็นนี้อีกรอบในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในนั้นรวมถึงระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่แล้ว (7 ม.ค.) ซึ่งเขาไม่ตัดความเป็นไปได้ในการใช้กำลังดึงเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ไปอยู่ภายใต้การควบคุมของวอชิงตัน โดยบอกว่า "มันอาจเป็นอะไรบางอย่างที่คุณจำเป็นต้องทำ เราต้องการกรีนแลนด์เพื่อจุดประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ"
มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ ประกาศกร้าวเมื่อวันศุกร์ (10 ม.ค.) ว่าเกาะแห่งนี้ "มีไว้เพื่อประชาชนชาวกรีนแลนด์ เราไม่ต้องการเป็นคนเดนมาร์ก เราไม่ต้องการเป็นคนอเมริกา" พร้อมระบุว่าความปรารถนาของชาวเกาะคือเป็นประเทศเอกราช และสัญญาว่าจะมีการลงมติในประเด็นดังกล่าว "ในเร็วๆ นี้"
อย่างไรก็ตาม เอเกเด บอกว่าเขาพร้อมเจรจากับทรัมป์ และแสดงความกระตือรือร้นคงไว้ซึ่งความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในอนาคต
ล่าสุด ในวันจันทร์ (13 ม.ค.) นายกรัฐมนตรีรายนี้เน้นย้ำอีกรอบว่า เขตปกครองตนเองของเดินมาร์กแห่งนี้ เปิดกว้างสำหรับการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในขอบเขตต่างๆ อย่างเช่นการทำเหมือง แต่เขาไม่ได้บ่งชี้ใดๆ ว่ากรีนแลนด์เปิดกว้างสำหรับการเข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุมของอเมริกา
ทรัมป์ ซึ่งมีกำหนดสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแกซงเพื่อยึดครองปานามาและเกาะกรีนแลนด์ ให้มาอยู่ภายใต้การควบคุม และเจดี แวนซ์ ว่าที่รองประธานาธิบดี ให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ในช่วงสุดสัปดาห์ พูดเป็นนัยว่า สหรัฐฯ มีกำลังพลประจำการอยู่บนเกาะกรีนแลนด์ ณ ฐานทัพแห่งหนึ่ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือ
เอเกเด ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้โดยตรง แต่บอกว่าเกาะกรีนแลนด์เปิดกว้างสำหรับการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้นกับสหรัฐฯ "เราต้องการทำธุรกิจต่างๆ กับสหรัฐฯ เราได้เริ่มออกสตาร์ทด้านการทูตแล้ว และกำลังหาโอกาสสำหรับความร่วมมือกับทรัมป์"
นอกเหนือจากตำแหน่งที่ตั้งที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แล้ว ทางเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งกำลังหาทางเป็นเอกราชแยกตัวออกจากเดนมาร์ก ก็อุดมไปด้วยทรัพยากรเหมืองและแหล่งน้ำมันเช่นกัน แม้ห้ามดำเนินการสำรวจยูเรเนียมก็ตาม
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/เอเอฟพี)