ราคาน้ำมันขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ในวันจันทร์ (13 ม.ค.) จากความคาดหมายสหรัฐฯ คว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย จะบีบให้ผู้ซื้อในอินเดียและจีนต้องไปควานหาซัปพลายเออร์รายอื่น ส่วนวอลล์สตรีทปิดผสมผสาน จากความคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ทองคำปรับลด
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 2.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 78.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 81.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
บรรดาโรงกลั่นในจีนและอินเดียกำลังหันไปหาซัปพลายเออร์น้ำมันเจ้าอื่นๆ ในความพยายามปรับตัวเข้ารับมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดเล่นงานพวกผู้ผลิตและเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติจีน ซึ่งออกแบบมาเพื่อสกัดรายได้ของรัสเซีย ชาติผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก
โกลด์แมนแซค ประมาณการว่าเรือขนส่งน้ำมันที่ตกเป็นเป้าหมายของมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ลำเลียงน้ำมันรวมแล้ว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2024 หรือ 25% ของการส่งออกของรัสเซีย ขณะเดียวกันสถาบันการเงินแห่งนี้ยังปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันเบรนท์ในปีนี้สู่ระดับ 70-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดผสมผสานในวันจันทร์ (13 ม.ค.) เอสแอนด์พี 500 ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มอัตราการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 358.67 จุด (0.86 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 42,297.12 เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 9.18 จุด (0.16 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 5,836.22 จุด แนสแดค ลดลง 73.53 จุด (0.38 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 19,088.10 จุด
ข้อมูลทางเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ก่อแรงกดดันต่อตลาดทุน บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น ท่ามกลางแรงกดดันด้านราคาที่ยังไม่เบาบางลง
คำประกาศรีดภาษีสินค้านำเข้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็โหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อเช่นกัน ทำให้เวลานี้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจลดระดับในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และคาดหมายว่ามีโอกาส 52.9% ที่จะมีการปรับดอกเบี้ยอีกทีในเดือนมิถุนายน
ด้านราคาทองคำขยับลงในวันจันทร์ (13 ม.ค.) หลังดอลลาร์แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี จากรายงานการจ้างงานที่แข็งแกร่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่เพิ่มความคาดหมายว่าเฟดจะยังคงระมัดระวังที่จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ปิดที่ 2,678.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์)