xs
xsm
sm
md
lg

สื่อผู้ดีแฉสุดเซอร์ไพรส์ “ทรัมป์” ได้ความคิดซื้อเกาะกรีนแลนด์จาก “ทายาท ESTEE LAUDER” คาดอาจต้องจ่ายถึง 230 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าตอนซื้อ “รัฐอะแลสกา” จาก “รัสเซีย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/รอยเตอร์/MGRออนไลน์ - เชื่อว่าอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจได้ความคิดซื้อเกาะกรีนแลนด์จากทายาทเครื่องสำอาง ESTÉE LAUDER “โรแนลด์ ลอเดอร์” (Ronald Lauder) เพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย นายกรัฐมนตรีอิตาลีฟันธง เหมือนสัญญาณเตือนไป “ปักกิ่ง” ไม่กี่วันหลังวอชิงตันล็อบบี้ไม่ให้ขายบริษัทเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) ของกรีนแลนด์ไปให้ปักกิ่ง

หนังสือพิมพ์ดิอินดีเพนเดนท์ของอังกฤษรายงานวันพุธ (8 ม.ค.) ว่า มีการเชื่อว่า ความคิดการซื้อเกาะกรีนแลนด์อาจมาจากเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยของทรัมป์ ทายาทเครื่องสำอาง ESTÉE LAUDER “โรแนลด์ ลอเดอร์” (Ronald Lauder) อ้างจากหนังสือ The Divider ของปีเตอร์ เบเกอร์ (Peter Baker) จากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส และซูซาน กลาสเซอร์ (Susan Glasser) จาก The New Yorker ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอดีตผู้นำสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่อยู่ในทำเนียบขาวระหว่างปี 2017-2021

“เพื่อนคนหนึ่งของผมที่เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์มากๆ คิดว่าเราควรได้เกาะกรีนแลนด์” ทรัมป์กล่าวต่อที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติในเวลานั้น อ้างอิงจากหนังสือ

ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในเวลานั้นถามย้ำว่า “คุณคิดว่าอย่างไร?”

และส่งผลทำให้มีการตั้งทีมศึกษา การหาทางออกต่างๆ เป็นต้นว่า ข้อเสนอขอเช่าเกาะ ที่คล้ายข้อตกลงอสังหาริมทรัพย์นิวยอร์ก

อ้างอิงจากนิวยอร์กไทม์ส มีความวิตกในกลุ่มผู้ช่วยทรัมป์ว่า หากแนวคิดการซื้อเกาะกรีนแลนด์หากรั่วออกไปอาจส่งผลกระทบทางการทูตได้

ทรัมป์ให้มสัมภาษณ์กับผู้แต่งว่า “ผมพูดว่า ทำไมพวกเราไม่ครอบครองมัน” และเสริมว่า “คุณมองไปที่แผนที่สิ ผมเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผมมองไปที่ตรงมุม ผมพูดว่า ผมจะต้องมีร้านสำหรับตึกที่ผมกำลังจะสร้างและอื่นๆ มันไม่ต่างกันเลย”

ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่า “ผมรักแผน และผมมักพูดว่า มองไปที่ขนาดของมันสิ มันใหญ่มหึมามาก มันสมควรเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา”

ดิอินดีเพนเดนท์รายงานว่า อ้างอิงจากหนังสือพบว่า ทายาท Estée Lauder ได้หารือกับทรัมป์เกี่ยวกับเกาะกรีนแลนด์มาตั้งแต่เริ่มแรกของสมัยการดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2017 และแม้กระทั่งเสนอตัวเองเป็นประตูหลังติดต่อรัฐบาลเดนมาร์กสำหรับการเจรจาต่อรอง

ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ จอห์น โบลตัน (John Bolton) ในเวลานั้นได้สั่งผู้ช่วยของเขา ฟิโอนา ฮิลล์ (Fiona Hill) ให้ตั้งทีมงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และพบมีการแอบหารือลับร่วมกับเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก พร้อมกับเมโมเสนอช่องทางตัวเลือก

ทั้งนี้ โบลตันวิตกการแผ่อิทธิพลของ "ปักกิ่ง" มายังภูมิภาคอาร์กติก ขั้วโลกเหนือ และเชื่อว่าการที่สหรัฐฯ จะเพิ่มอิทธิพลปรากฏตัวบนเกาะกรีนแลนด์จะเป็นความคิดที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม โบลตันเชื่อว่า ความคิดซื้อเกาะกรีนแลนด์นั้นไม่มีความเป็นไปได้

มีการสานสัมพันธ์ระหว่างกรีนแลนด์และจีน อ้างอิงจาก highnorthnews รายงานเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ปี 2021 ว่า เกาะกรีนแลนด์ได้เปิดสำนักงานตัวแทนขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เพื่อโปรโมตทางเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรมระหว่างกรีนแลนด์และเอเชีย โดยมีเป้าหมายไปที่ "จีน" แต่ยังครอบคลุมไปถึงญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ 

ความกังวลของโบลตันเกี่ยวกับกรีนแลนด์ในเวลานั้นยังสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของวอชิงตันเมื่อล่าสุด

รอยเตอร์รายงานวันศุกร์ (10) ล่าสุดว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่กำลังจะหมดสมัยได้ร่วมกับโคเปนเฮเกนแอบล็อบบี้บริษัทเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) Tanbreez Mining ของกรีนแลนด์ที่มีนโยบายว่า ทำเหมืองเพื่อเทคโนโลยีสะอาดกว่า (Mining for Greener Technologies) ไม่ให้ถูกขายไปให้ปักกิ่ง

แร่แรร์เอิร์ธนั้นมีคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กสูงและมีความสำคัญต่อการพัฒนาตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงจรวดมิสไซล์ที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างแข่งขันเพื่อครอบครอง

เกร็ก บาร์นส์ (Greg Barnes) ซีอีโอบริษัท Tanbreez Mining ที่ขัดสนเงินให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันปีที่แล้วเดินทางมาที่ทางใต้ของเกาะกรีนแลนด์ถึง 2 ครั้งเพื่อเตือนไม่ให้ขายไปให้ผู้ซื้อที่เชื่อมโยงกับปักกิ่ง

และในท้ายที่สุดเขาจำเป็นต้องขายบริษัทเหมืองแร่กรีนแลนด์ไปให้บริษัทเหมืองแร่ Critical Metals ที่มีฐานในนิวยอร์กในข้อตกลงที่สลับซับซ้อนและได้เงินน้อยกว่า ซึ่งสัญญาจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้

ทั้งนี้บาร์นส์จะได้เงินสด 5 ล้านดอลลาร์และหุ้นใน Critical Metals สำหรับ Tanbreez Mining เป็นมูลค่า 211 ล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าสัญญาขายน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบออกมาจากฝั่งของบริษัทจีน

ทรัมป์ต้องการได้เกาะกรีนแลนด์เพื่อกันจีนนั้นยังออกมาจากความเห็นของนายกรัฐมนตรีอิตาลี จอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni)

ฟรานซ์24 ของฝรั่งเศสรายงานวันพฤหัสบดี (9) ว่า ผู้นำหญิงอิตาลีเปิดเผยว่า เธอมองว่าการที่ว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ข่มขู่จะใช้กำลังทหารเข้ายึดเกาะกรีนแลนด์หรือคลองปานามาเป็นเสมือนคำเตือนไปยังประเทศฝ่ายตรงข้ามเป็นต้นว่า “จีน” ที่สมควรทำตัวออกห่างจากพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

เดลีเมลของอังกฤษรายงานวันเสาร์ (11) ว่า นายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์ Múte Egede ในวันศุกร์ (10) ที่เดนมาร์ก ได้แสดงความปรารถนาจะเข้าสู่การเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับผลประโยชน์ร่วมกัน พร้อมย้ำว่า “ชาวกรีนแลนด์ไม่ต้องการเป็นอเมริกันชน”

เกิดขึ้นหลังแอ็กซิออส (Axios) รายงานว่า เจ้าหน้าที่เดนมาร์กได้สื่อสารในทางลับกับทีมของทรัมป์ประเด็นเกาะกรีนแลนด์ก่อนหน้าวันพิธีสาบานตนในวันที่ 20 ม.ค.

สหรัฐฯ ที่ตั้งชาติมาอย่างหลากหลายวิธีทั้งสู้รบในสงครามปฏิวัติอเมริกากับอังกฤษ และการสู้รบสเปน และเม็กซิโกในการขยายดินแดน และยังรวมไปถึงการใช้เงินเพื่อซื้อดินแดน

เดลีเมลของอังกฤษประเมินว่า หากสหรัฐฯ เดินหน้าซื้อเกาะกรีนแลนด์จริงอาจต้องจ่ายแพงกว่าตอนซื้อรัฐอะแลสกาจากรัสเซียเมื่อปี 1867 ในราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 153.5 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

โดยชี้ว่า เกาะกรีนแลนด์ใหญ่กว่ารัฐอะแลสกา 150 เท่า คาดว่าอาจต้องควักกระเป๋าจ่ายถึง 230.25 ล้านดอลลาร์
สหรัฐฯ เคยซื้อเกาะเวอร์จินจากเดนมาร์กเมื่อปี 1917 ด้วยทองคำมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับ 616.2 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

และรัฐบาลลุงแซมยังเคยทุ่มซื้อรัฐลุยเซียนาจากฝรั่งเศสเมื่อปี 1803 ในราคา 15 ล้านดอลลาร์ หรือตกราว 418.8 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น