xs
xsm
sm
md
lg

'มาลาลา' ซัดเดือดตอลิบาน 'ไม่มองผู้หญิงเป็นมนุษย์' วอนผู้นำโลกมุสลิมอย่านิ่งเฉย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาลาลา ยูซาฟไซ สาวชาวปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ออกมาเรียกร้องให้บรรดาผู้นำรัฐมุสลิมท้าทายนโยบายกดขี่สตรีและเด็กผู้หญิงของรัฐบาลตอลิบานในอัฟกานิสถาน โดยกล่าวต่อที่ประชุมนานาชาติว่าด้วยการศึกษาของเด็กผู้หญิงในกลุ่มประเทศมุสลิมว่า "พูดง่ายๆ ก็คือ พวกตอลิบานในอัฟกานิสถานไม่ได้มองผู้หญิงว่าเป็นมนุษย์"

เธอกล่าวต่อบรรดาผู้นำมุสลิมซึ่งเข้าร่วมการประชุมที่กรุงอิสบามาบัดของปากีสถานวานนี้ (12 ม.ค.) ว่า นโยบายของตอลิบาน "ไม่มีอะไรที่เป็นอิสลาม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำงานและเข้าถึงระบบการศึกษาเล่าเรียน

มาลาลา ซึ่งปัจจุบันอายุ 27 ปี ถูกอพยพออกจากปากีสถานตอนอายุ 15 หลังโดนมือปืนตอลิบานในปากีสถานดักยิงศีรษะจนบาดเจ็บสาหัส เนื่องจากไม่พอใจที่เด็กสาวออกมาเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษาของผู้หญิง

มาลาลา ชี้ด้วยว่า รัฐบาลตอลิบานได้สร้างระบบแบ่งแยกกีดกันทางเพศ (gender apartheid) ขึ้นมา และ "ลงโทษผู้หญิงและเด็กหญิงที่กล้าท้าทายกฎหมายอันคลุมเครือเหล่านั้นโดยการทุบตี กักขัง และกระทำอันตรายต่อพวกเธอ"

เธอยังบอกด้วยว่า รัฐบาลตอลิบาน "พยายามปกปิดอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ โดยเอาวัฒนธรรมและศาสนามาเป็นข้ออ้าง" แต่แท้ที่จริงแล้วการกระทำของพวกเขา "ขัดแย้งต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่อิสลามยึดถือ"

รัฐบาบตอลิบานเคยอ้างว่า พวกเขา "เคารพสิทธิสตรี" โดยยึดถือตามวัฒนธรรมอัฟกันและกฎหมายอิสลามในแบบที่พวกเขาตีความเอง

ผู้นำรัฐบาลตอลิบานได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมซึ่งจัดโดยองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) รัฐบาลปากีสถาน และสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) แต่สุดท้ายก็ไม่มีการส่งตัวแทนมา

นับตั้งแต่ตอลิบานกลับเข้าปกครองอัฟกานิสถานในปี 2021 รัฐบาลของพวกเขาเพิ่งจะรับการรับรองจากต่างชาติเพียงประเทศเดียว ขณะที่มหาอำนาจตะวันตกออกมาย้ำเตือนว่าตอลิบานจำเป็นต้องยกเลิกนโยบายต่างๆ ที่เป็นการกดขี่สิทธิและเสรีภาพของสตรี

ปัจจุบัน อัฟกานิสถานเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ผู้หญิงและเด็กหญิงถูกห้ามเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นทุติยภูมิและขั้นสูง และมีผู้หญิงประมาณ 1.5 ล้านคนที่ถูกรัฐ "จงใจ" ปิดกั้นไม่ให้ศึกษาเล่าเรียน

"อัฟกานิสถานเป็นประเทศเดียวที่เด็กผู้หญิงไม่สามารถเรียนหนังสือสูงกว่า ป.6 (grade six) ได้" มาลาลา กล่าว

ตอลิบานเคยสัญญาว่าจะอนุญาตให้ผู้หญิงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหากแก้ไขปัญหาต่างๆ ลุล่วงแล้ว ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบว่าหลักสูตรต่างๆ "มีความเป็นอิสลาม" --- ทว่าคำมั่นสัญญาดังกล่าวก็ยังไม่เป็นจริง

เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ผู้หญิงอัฟกันยังถูกห้ามไม่ให้เข้ารับการฝึกเป็นหมอตำแยและพยาบาล ซึ่งเท่ากับปิดเส้นทางสุดท้ายที่จะนำพวกเธอเข้าสู่ระบบการศึกษาในประเทศนี้

ที่มา : บีบีซี


กำลังโหลดความคิดเห็น