วังเครมลินกำลังจับตาใกล้ชิด ตามหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ตัดความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทางทหารยึดเกาะกรีนแลนด์ จากความเห็นของโฆษกรายหนึ่งเมื่อวันพฤหัสบดี (9 ม.ค.) พร้อมแสดงความโล่งใจที่ปัจจุบันมันยังเป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น
ระหว่างแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ทรัมป์ ไม่ตัดความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมเกาะในแปซิฟิกแห่งนี้ หลังจากก่อนหน้านี้เขาขู่กำหนดเพดานภาษีในระดับสูงเล่นงานเดนมาร์ก หากไม่ยอมสละดินแดนปกครองตนเองแห่งนี้ให้แก่สหรัฐฯ
"เรากำลังจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมากๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของสถานการณ์อันน่าตกใจ ซึ่งขอบคุณพระเจ้า ที่จนถึงตอนนี้มันยังอยู่แค่ในระดับของวาทกรรม" ดมิทรี เปคอฟ โฆษกวังเครมลินระบุ
โฆษกรายนี้บอกว่า "เราใส่ใจสันติภาพและเสถียรภาพในโซนนี้ และพร้อมดำเนินการร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ"
เขายังชี้แนะว่าควรปรึกษาหารือกับประชาชนของเกาะกรีนแลนด์ก่อน ว่าพวกเขาต้องการอะไร โดยอ้างว่าครั้งที่รัสเซียผนวก 4 แคว้นของยูเครน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปี 2022 ก็อยู่บนพื้นฐานของการทำประชามติ "เราควรแสดงออกถึงความเคารพแบบเดียวกัน ต่อความเห็นของประชาชนเหล่านี้" เปสคอฟกล่าว
บรรดาชาติตะวันตกและเคียฟต่างประณามรัสเซีย ต่อการผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบอกว่าประชามตินั้น "น่าอดสู"
เกาะกรีนแลนด์ เป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก สมาชิกของอียูที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่
นอกจากกรีนแลนด์แล้ว ทรัมป์ ในวันอังคาร (7 ม.ค.) ยังบ่งชี้ว่าอาจใช้กำลังทหารเข้าควบคุมคลองปานามา ที่สหรัฐฯ ส่งคืนแก่ปานามา ในสมัยอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ผู้ล่วงลับ และขู่ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจบีบให้แคนาดายอมเป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา
สำนักข่าวเอพีระบุว่า การพูดถึงการบ่อนทำลายพรมแดนซึ่งเป็นอธิปไตยของชาติและใช้กำลังทหารกับประเทศพันธมิตรกระทั่งเพื่อนชาติสมาชิกนาโต เท่ากับเป็นการละทิ้งบรรทัดฐานเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนที่ยึดถือมานับสิบปี อีกทั้งยังเป็นถ้อยแถลงที่ทำให้ศัตรูของอเมริกาฮึกเหิม เนื่องจากตีความได้ว่า วอชิงตันยอมรับการที่ประเทศต่างๆ จะใช้กำลังเพื่อร่างเส้นพรมแดนใหม่ ในขณะที่รัสเซียกำลังบุกหนักในยูเครน และจีนข่มขู่ไต้หวันที่พวกเขาบอกว่าเป็นดินแดนของตนเอง
(ที่มา : เอเอฟพี/เอพี)