อินโดนีเซียเมื่อวันพุธ (8 ม.ค.) ยึดตามคำสั่งเดิมที่ห้ามวางจำหน่ายไอโฟน 16 แม้แอปเปิลประกาศลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 34,000 ล้านบาท) ในประเทศแห่งนี้ หลังจากการเจรจาเข้าสู่ทางตัน อ้างว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อบังคับต่างๆ ในตลาดภายในประเทศ
เมื่อเดือนตุลาคม อินโดนีเซียห้ามทำการตลาดและวางจำหน่ายไอโฟน 16 ต่อกรณีที่บริษัทแอปเปิลล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อบังคับด้านการลงทุนท้องถิ่น ที่กำหนดให้สมาร์ทโฟนที่ขายในอินโดนีเซียต้องประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% ในขณะที่ประเทศแห่งนี้หาทางกระตุ้นการลงทุนจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งหลาย
โรซาน โรเอสลานี รัฐมนตรีการลงทุนบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในวันอังคาร (7 ม.ค.) แอปเปิล รับปากอย่างเต็มที่ว่าจะลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ติดตาม Airtag บนเกาะบาตัม ซึ่งคาดหมายว่าจะป้อนอุปทาน 65% จากอุปทานโลกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าข้อตกลงสร้างโรงงานดังกล่าวในเขตอุตสาหกรรมได้มีการลงนามไปแล้วหรือไม่
"Airtag เป็นอุปกรณ์เสริม ไม่นับว่าเป็นชิ้นส่วนหรือส่วนหนึ่งของไอโฟนที่ผลิตภายในประเทศ" อากุส กูมิวัง การ์ตาซัสมิตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย กล่าวระหว่างแถลงข่าวในวันพุธ (8 ม.ค.)
"จนถึงตอนนี้ ทางกระทรวงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะออกใบรับรองการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแอปเปิล โดยเฉพาะไอโฟน 16 เพราะโรงงานดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง" เขากล่าว พร้อมเสริมว่าทางกระทรวงจะนับเฉพาะชิ้นส่วนโทรศัพท์ไอโฟนเท่านั้น
อากุส พบปะกับตัวแทนของแอปเปิลในวันอังคาร (7 ม.ค.) แต่เขาบอกว่ายังไม่บรรลุข้อตกลง
เขาเผยว่าอินโดนีเซียยื่นข้อเสนอกลับไปยังแอปเปิล แต่ทางผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่แห่งนี้ยังไม่ตอบกลับใดๆ "ถ้าแอปเปิลอยากขายไอโฟน 16 เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันขึ้นอยู่กับพวกเขา กรุณาตอบกลับข้อเสนอที่ยื่นกลับไปของเราในทันที"
ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเคยเสนอเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซีย อีก 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,400 ล้านบาท) ในความพยายามขอให้ยกเลิกคำสั่งห้ามขายไอโฟน 16 แต่รัฐบาลอินโดนีเซียปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน
แม้ว่าห้ามจำหน่าย แต่รัฐบาลอนุญาตให้พกพาไอโฟน 16 เข้าไปยังอินโดนีเซีย ถ้าหากว่าไม่มีเจตนานำไปค้าขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลคาดหมายว่ามีการนำโทรศัพท์รุ่นนี้เข้ามายังประเทศของเขาแล้วราว 9,000 เครื่อง
(ที่มา : เอเอฟพี/เอเจนซี)