รัฐสภาสิงคโปร์ผ่านกฎหมายซึ่งให้อำนาจตำรวจในการเข้าควบคุมบัญชีธนาคารของบุคคลซึ่งมีข้อพิสูจน์ได้ว่ากำลังถูกมิจฉาชีพล่อลวงให้โอนเงิน
กฎหมายซึ่งผ่านสภาในวันนี้ (8 ม.ค.) คาดว่าอาจจะเป็นครั้งแรกในโลกที่รัฐบาลของประเทศหนึ่งๆ นำมาตรการลักษณะนี้มาใช้
กฎหมายดังกล่าวจะอนุญาตให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่กรมกิจการพาณิชย์ (Commercial Affairs Department - CAD) ซึ่งเป็นหน่วยงานสอบสวนอาชญากรรมทางธุรกิจ (white-collar crime) ของสิงคโปร์สามารถสั่งระงับธุรกรรมของธนาคารได้ หากมีหลักฐานอันเป็นที่น่าเชื่อถือว่าเจ้าของบัญชีธนาคารดังกล่าวกำลังจะโอนเงินไปให้แก๊งมิจฉาชีพ --- แม้จะเป็นการโอนโดยสมัครใจก็ตาม
สำหรับบุคคลที่โดนคำสั่งจำกัดธุรกรรมทางการเงินจะถูกระงับบัญชีธนาคาร บัตรเอทีเอ็ม และสินเชื่อเครดิตต่างๆ แต่ยังคงสามารถขอถอนเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้
“จุดประสงค์ของกฎหมายนี้ก็เพื่อให้ตำรวจมีเวลามากขึ้นในการเข้าไปพูดคุยและทำให้บุคคลนั้นๆ ตระหนักว่าเขากำลังถูกหลอก ซึ่งอาจจะต้องให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามาช่วยด้วย” ซุน เซว่หลิง รัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์ แถลงต่อรัฐสภา
ซุน อธิบายด้วยว่า “คำสั่งจำกัดธุรกรรมจะถูกใช้เป็นวิธีสุดท้าย เมื่อไม่สามารถที่จะโน้มน้าวบุคคลดังกล่าวด้วยวิธีการอื่นๆ ได้แล้ว”
คำสั่งจำกัดธุรกรรมทางการเงินนี้ทำได้ไม่เกิน 30 วัน และสามารถต่ออายุได้สูงสุด 5 ครั้ง
ซุน ยังอ้างถึงกลุ่มผู้สูงอายุหรือคนที่โหยหาความรักที่มักจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ง่าย โดยยกตัวอย่างหญิงวัย 64 ปีคนหนึ่งที่ถูกหลอกให้โอนเงิน 400,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ให้กับมิจฉาชีพซึ่งเข้ามาลวงให้หลงรัก
เธอย้ำว่ามาตรการป้องกันเท่าที่มีอยู่ “ยังไม่เพียงพอ” และในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ปีที่แล้วมีผู้เสียหายถึง 86% ที่ถูกหลอกให้โอนเงินด้วยตนเอง และคิดเป็นวงเงินค่าเสียหายสูงถึง 94% ของทั้งหมด
ยูจีน ตัน นักวิเคราะห์ด้านการเมือง ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีวานนี้ (7) ว่า “ผมยังไม่เคยทราบว่ามีประเทศอื่นๆ ที่ออกกฎหมายลักษณะนี้... นี่เป็นกฎหมายพิเศษและถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงในสิงคโปร์”
“นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่า ทำไมสิงคโปร์ถึงได้ชื่อว่าเป็นรัฐพี่เลี้ยงเด็ก (nanny state)” ตัน ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัย Singapore Management University ระบุ
เจมัส ลิม ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคแรงงาน ออกมาแสดงความกังวลว่ากฎหมายนี้ “สะท้อนถึงการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมการเงิน” ทว่าก็ยังคงโหวตสนับสนุนอยู่ดี
ซุน บอกกับที่ประชุมสภาว่า ปัญหาการล่อลวงให้โอนเงินยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง พร้อมอ้างข้อมูลเบื้องต้นที่พบว่าจำนวนเหยื่อในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 10% ในปี 2024 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนมูลค่าความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นถึง 40%
กระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์แถลงเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่า มูลค่าความเสียหายจากการถูกหลอกให้โอนเงินสูงถึง 650 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2023
ที่มา : เอเอฟพี