(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Trump settles MAGA movement feud on tech visas
by David P Goldman
30/12/2024
ระบบการศึกษาสหรัฐฯที่อยู่ในสภาพผุพังเสียหายเวลานี้ ไม่สามารถผลิตวิศวกรในจำนวนที่มากเพียงพอเพื่อทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้ นี่เองเหตุผลที่ทำให้ทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ และ อีลอน มัสก์ ต่างมีความคิดเห็นว่าสมควรใช้มาตรการออกวีซ่าประเภท เอช -1บี เปิดทางให้คนงานต่างชาติซึ่งมีความรู้ความสามารถอพยพเข้ามา
หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะปลดเขาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2017 สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) ที่เวลานั้นเป็นนักยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี ได้ระเบิดอารมณ์เป็นฟืนเป็นไฟใส่ผู้เขียนคนนี้ (เดวิด พี โกลด์แมน) ซึ่งกำลังเสนอแนะว่า อุตสาหกรรมอเมริกันนั้นจำเป็นต้องนำเอาพวกวิศวกรชาวจีนเข้าประเทศมาใช้งาน
“พวกนั้นมันสายลับจีนทั้งหมดแหละ!” แบนนอนตะโกนลั่น ตอนนั้นเรากำลังนั่งอยู่ในคอกทำงานสภาพรกรุกรังของ แบนนอน ทางฝั่งเวสต์วิงของทำเนียบขาว พูดจากันเกี่ยวกับเรื่องการพลิกฟื้นชุบชีวิตอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ อเมริกานั้นมีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นวิศวกรเครื่องกลเพียง 34,000 คน และวิศวกรเคมีราวๆ 17,000 คนต่อปี ผมตั้งข้อสังเกต ขณะที่เราต้องการมากเหลือเกินที่จะฝึกอบรมผู้มีความรู้ความสามารถชาวอเมริกันขึ้นมา เราก็ไม่มีทางสามารถทำเช่นนั้นได้อย่างรวดเร็วเพียงพอจนกระทั่งตามทันฝีก้าวของจีนได้ ผมยกเหตุผลโต้แย้ง
การศึกษาด้านคณิตศาสตร์ในสหรัฐฯเวลานี้อยู่ในภาวะวิบัติหายนะ และปีกของแบนนอนในขบวนการ MAMG (ขบวนการ Make America Great Again) คือตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ ทั้งนี้ พวกคัดค้านไม่เอาด้วยกับการอนุญาตให้คนงานมีทักษะได้อพยพเข้ามาพำนักอาศัยในสหรัฐฯอย่างถูกกฎหมายนั้น ไม่สามารถเข้าใจได้หรอกว่าตัวเลขที่ผมหยิกยกขึ้นมาเหล่านี้ มันแสดงให้เห็นว่าอเมริกานั้นต้องการแรงงานมีทักษะเหล่านี้อย่างฉกาจฉกรรจ์ถึงขนาดไหน ข้างล่างนี้ยังจะมีตัวเลขเช่นนี้เพิ่มเติมอีก
แบนนอน ลุยเข้ามาในการถกเถียงอภิปรายแบบนี้อีกคำรบหนึ่งเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ด้วยการวิพากษ์โจมตี อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ที่แสดงความเห็นหนุนหลังโครงการออกวีซ่าแบบ เอช-1บี (H-1B) ซึ่งเปิดทางให้พวกบริษัทสหรัฐฯสามารถว่าจ้างวิศวกรชาวต่างชาติได้ แบนนอน ทวิตข้อความว่า โครงการ เอช-1บี “มันก็คือเรื่องการแย่งยึดเอาตำแหน่งงานของคนอเมริกันไป และการนำเข้าสิ่งที่โดยสาระสำคัญแล้วคือพวกซึ่งต้องกลายเป็นคนรับใช้ที่ต้องทำงานตามสัญญาด้วยค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า ... เรื่องนี้คืออุบายเจ้าเล่ห์อย่างหนึ่งของพวกออลิการ์ช (Oligarchs ผู้ทรงอำนาจทางการเงินและทางการเมือง) ในซิลิคอนแวลลีย์”
ทางด้าน มัสก์ ตอบโต้ โดยโพสต์บนแพลตฟอร์ม X ว่า “เหตุผลที่ทำให้ผมกำลังอยู่ในอเมริกา เคียงข้างกับผู้คนที่มีความสำคัญยิ่งยวดจำนวนมากเหลือเกินซึ่งเป็นผู้สร้าง สเปซเอ็กซ์, เทสลา, และบริษัทอื่นๆ อีกหลายร้อยแห่งที่ทำให้อเมริกาแข็งแกร่ง ก็เพราะ เอช 1 บี” ทั้งนี้โปรแกรมนี้เองที่นำเอา มัสก์ มายังอเมริกา จากบ้านเกิดของเขาในแอฟริกาใต้
“มีการขาดแคลนอย่างยาวนานถาวรในเรื่องผู้มีความรู้ความสามารถยอดเยี่ยมทางด้านวิศวกรรม มันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่กำลังสร้างข้อจำกัดขึ้นในซิลิคอนแวลลีย์” มัสก์ เขียนเช่นนี้ บน X ซึ่งเป็นการสะท้อนข้อสังเกตทำนองเดียวกันของ วิเวก รามาสวามี (Vivek Ramaswamy) ที่ปรึกษาอีกคนหนึ่งของ ทรัมป์ ที่มาจากแวดวงอุตสาหกรรมเทค จากนั้น แบนนอน ได้ตอบโต้อย่างกราดเกรี้ยวใส่ มัสก์ โดยบอกว่า “ใครก็ได้ช่วยแจ้ง ‘หน่วยพิทักษ์คุ้มครองเด็ก’ หน่อยเถอะครับ –จำเป็นต้อง ‘ตรวจเช็กความผิดปกติ’ ของหนูน้อยคนนี้แล้วครับ
(สิ่งที่ อีลอน มัสก์ โพสต์นี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://x.com/elonmusk/status/1871956518213656728)
(ดูเพิ่มเติมการโต้เถียงกันระหว่าง แบนนอน, มัสก์, และ รามาสวามี ได้ที่ https://economictimes.indiatimes.com/news/international/global-trends/elon-musk-a-toddler-steve-bannons-outburst-reveals-the-war-within-maga/articleshow/116746855.cms?from=mdr และ https://www.yahoo.com/news/steve-bannon-mocks-toddler-elon-171549549.html -ผู้แปล)
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเสาร์ (28 ธ.ค.) ทรัมป์ ซัดเปรี้ยงใส่ แบนนอนและพวกสาวกของเขา โดยบอกกับสื่อนิวยอร์กโพสต์ (New York Post) ว่า “ผมชื่นชอบวีซ่าประเภทนี้เสมอมานะครับ ผมนิยมชื่นชอบวีซ่าประเภทนี้เรื่อยมา มันจึงเป็นเหตุผลที่เราว่าจ้างพวกเขามาทำงานด้วย ผมมีคนที่ได้ (เข้ามาทำงานในสหรัฐฯด้วย) วีซ่า เอช-1 บี หลายคนเลย (ที่มาทำงานอยู่) ในทรัพย์สินของผม ผมเป็นคนที่เชื่อถือใน เอช-1 บี นะ ผมได้ใช้ (คนที่เข้ามาทำงานในสหรัฐฯเพราะโปรแกรมนี้) มาหลายครั้งแล้ว มันเป็นโปรแกรมที่ยอดเยี่ยม”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nypost.com/2024/12/28/us-news/donald-trump-backs-h-1b-visa-program-supported-by-elon-musk/)
ในแต่ละปี สหรัฐฯมอบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ราวๆ 230,000 ใบ เปรียบเทียบกับในจีนซึ่งมอบประมาณ 1.2 ล้านใบ ปัญหาใหญ่ที่สุดของพวกคณะวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหลายของสหรัฐฯ –จะมียกเว้นก็เฉพาะพวกคณะวิชาในสถาบันการศึกษาระดับท็อปเพียงสองสามแห่ง— ก็คือการเสาะหานักศึกษาซึ่งมีคุณภาพดีพอที่จะเล่าเรียนศึกษาวิชาเอกในสาขานี้ในระดับปริญญาตรี
เมื่อปี 2009 มีนักเรียนระดับเกรด 8 ของสหรัฐฯ (เทียบเท่า ระดับมัธยม 2 ของไทย- ผู้แปล) 34% ผ่านการทดสอบการประเมินผลความก้าวหน้าทางการศึกษาระดับชาติ (National Assessment of Education Progress test) โดยอยู่ในระดับ “เก่ง” (proficient) จำนวน 26% และในระดับ “ดีเยี่ยม” (advanced) จำนวน 8% แต่พอมาถึงปี 2020 ตัวเลขนี้ลดต่ำลงเหลือ 24% โดยเป็นระดับ “เก่ง”
20% และ ดีเยี่ยม 4% ทั้งนี้ตามตัวเลขของศูนย์กลางเพื่อสถิติทางการศึกษาแห่งชาติ (National Center for Education Statistics)
เครื่องชี้วัดหลักตัวหนึ่งในเรื่องที่ว่าพวกโปรแกรมศึกษาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของบรรดามหาวิทยาลัยภาครัฐเรตติ้งสูงทั้งหลาย มีความต้องการนักศึกษาเข้าเรียนมากน้อยขนาดไหน ก็คืออัตราส่วนของจำนวนผู้สมัครที่พวกเขารับเข้าเป็นนักศึกษา ปรากฏว่าในปัจจุบัน สำหรับพวกมหาวิทยาลัยภาครัฐระดับดีเลิศจำนวนมากทีเดียว อัตราการรับเข้าศึกษาอยู่ที่ระดับ 50% ของผู้สมัครหรือกระทั่งสูงกว่านั้นอีก จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจำนวนนักศึกษาที่จะให้คัดเลือก นั่นคือพวกที่ต้องการเข้าเรียนในวิชาเอกเหล่านี้มีอยู่น้อยเกินไป ทั้งนี้ นักศึกษาระดับปริญญาตรีของอเมริกันทั้งหมดมีเพียง 6% เท่านั้นที่อยู่ในวิชาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ เปรียบเทียบกับอัตราส่วน 33% ในจีนและรัสเซีย
พวกมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯนั้นว่าจ้างผู้บริหารจัดการต่างๆ หลากหลายมาก แทนที่จะว่าจ้างอาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ยกเว้นแต่พวกมหาวิทยาลัยระดับไอวี่ลีกที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ยาวนาน และสถาบันการศึกษาระดับท็อปอีกไม่กี่แห่งแล้ว มหาวิทยาลัยทั้งหลายล้วนแต่ไม่สามารถค้นพบเจอะเจอผู้สำเร็จการศึกษามัธยมปลายที่ทรงคุณภาพจำนวนมากเพียงพอสำหรับเติมเต็มโปรแกรมการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ของพวกเขา
ไอโอวา สเตท ซึ่งติดอันดับ 46 ในการจัดเรตติ้งคณะวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของนิตยสาร ยูเอสนิวส์ (U.S. News) ต้องยอมรับนักศึกษาในอัตราส่วน 91% ของผู้ยื่นสมัคร มหาวิทยาลัยมิสซูรี ที่เรตติ้งอยู่ในอันดับ 99 มีอัตรายอมรับนักศึกษาที่ 85% กระทั่ง เทกซัส เอแอนด์เอ็ม ซึ่งอยู่ในอันดับ 10 ทีเดียว อัตราส่วนการยอมรับนักศึกษาก็ยังอยู่ที่ 64%
ปัญหามันเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมแล้ว ในสหรัฐฯครูอาจารย์ที่สอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย มีจำนวนต่ำกว่า 250,000 คนเพียงเล็กน้อย ทว่าตามตัวเลขเมื่อปี 2021 มหาวิทยาลัยทั้งหลายมีพวกสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์เพียงแค่ 27,000 คนในแต่ละปี --แถมพวกเขาเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เลือกจะเป็นครูอาจารย์สอนคณิตศาสตร์
ในยุโรปนั้น ครูอาจารย์ที่จะสอนวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมได้ ต้องเป็นผู้ได้รับปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์ ส่วนพวกโรงเรียนอเมริกันใช้วิธีแก้ขัดโดยกำหนดให้ครูอาจารย์ที่เคยเรียนวิชา “ทางด้านการศึกษาทางคณิตศาสตร์” สักสองสามวิชา ก็มาสอนได้แล้ว
เพื่อเป็นการชักชวนให้พวกนักคณิตศาสตร์สนใจที่จะสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้มากขึ้น โรงเรียนมัธยมปลายทั้งหลายสมควรที่จะจ่ายค่าตอบแทนแก่พวกครูอาจารย์สอนวิชานี้ ในอัตราที่สูงกว่าครูอาจารย์ผู้สอนวิชาอื่นๆ อย่างเช่น ครูอาจารย์สอนพลศึกษา ทว่าปัจจุบันพวกเขาได้รับค่าจ้างเงินเดือนแทบจะเท่ากันเลย ขณะที่ทางพวกสหภาพครูอาจารย์ ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยยึดโยงอยู่กับหลักการที่ว่าการสอนทุกๆ รูปแบบล้วนแต่เท่าเทียมกันทั้งสิ้น จะต้องคัดค้านการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน
ยังมีอะไรที่เลวร้ายยิ่งกว่านี้อีก กล่าวคือ ในหลายๆ ส่วนของสหรัฐฯเวลานี้ การสอนคณิตศาสตร์ถูกทำให้คุณภาพย่ำแย่ลงอย่างจงใจโดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อ “ความเท่าเทียมกัน” โดยที่ซานฟรานซิสโกได้ยกเลิกการสอนคณิตศาสตร์แบบเร่งรัดในโรงเรียนระดับมัธยมตอนกลางและตอนปลายไปในปี 2014 จากนั้นพวกคณะกรรมการของโรงเรียนในเมืองทรอย รัฐมิสซูรี, เมืองทัลซา รัฐโอคลาโฮมา, เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมนซาชูเซตส์ และอื่นๆ อีกมากมายก็กระทำตาม
ในปี 2023 คณะกรรมการการศึกษารัฐแคลิฟอร์เนีย (California State Board of Education) เสนอให้ชะลอการสอนพีชคณิตออกไปจนกว่าจะถึงชั้นเกรด 9 (มัธยม 3) คระกรรมการชุดนี้อ้างว่า การเลื่อนช่วงเวลาสอนเสียใหม่เช่นนี้ “เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นผูกพันของแคลิฟอร์เนียในเรื่องการรับประกันให้เกิดความเท่าเทียมและความเป็นเลิศในการเรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนทุกๆ คน”
การที่จะเร่งเครื่องเรื่องการศึกษา จนกระทั่งมีวิศวกรชาวอเมริกันอย่างเพียงพอเพื่อจะได้ลดการพึ่งพาผู้อพยพจากนอกประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานกันเป็นแรมปีแม้กระทั่งภายใต้ข้อสมมุติฐานที่มองการณ์ในแง่ดีอย่างที่สุดแล้วก็ตามที ขณะที่โปรแกรมวีซ่า เอช-1บีในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นการกดลดเงินเดือนค่าตอบแทนที่พวกชาวอเมริกันผู้มีคุณภาพจะได้รับอย่างที่พวกวิพากษ์วิจารณ์โปรแกรมนี้ชักจูงยืนกราน อันที่จริงแล้ว เรื่องอย่างนี้ยังมีวิธีการง่ายๆ สำหรับการแก้ไขด้วยซ้ำไป หลายๆ ประเทศทีเดียว ตัวอย่างเช่นออสเตรเลีย กำหนดให้พวกนายจ้างที่เป็นผู้สปอนเซอร์ผู้อพยพทักษะสูงคนหนึ่งให้เข้าประเทศ จะต้องจ่ายเงินสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับตำแหน่งงานเดียวกับที่ให้ผู้อพยพผู้นี้ทำ
โมเดลแบบออสเตรเลียนี้ ออกแบบมา “เพื่อรับประกันว่าพวกคนงานจากต่างแดนไม่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าคนงานชาวออสเตรเลียที่กำลังทำงานอย่างเดียวกันนี้ พวกเขายังจะยุติโปรแกรมวีซ่าเหล่านี้เสียเลย เมื่อมันถูกใช้เพื่อลดค่าจ้างในตลาดแรงงานออสเตรเลีย” ทั้งนี้ พวกนายจ้างถูกกำหนดให้ต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้กำลังจ่ายค่าจ้างแรงงานแก่ผู้อพยพที่พวกเขาอุปถัมภ์ให้ได้วีซ่าเข้าประเทศ ในอัตราต่ำกว่าค่าจ้างที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://immi.homeaffairs.gov.au/visas/employing-and-sponsoring-someone/sponsoring-workers/nominating-a-position/salary-requirements)
โปรแกรม เอช-1บี ยังมีช่องทางซึ่งสามารถที่จะดำเนินการปรับปรุงยกระดับให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ทว่าสหรัฐฯไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ถ้าหากปราศจากการนำเข้าผู้มีความรู้ความสามารถ –อย่างน้อยก็ยังไม่สามารถกระทำได้ ในระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป