xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำญี่ปุ่นขอคำอธิบายจากไบเดน กรณีขวางดีลควบรวมธุรกิจเหล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นขอคำอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจของ โจ ไบเดน ในการคัดค้านไม่ให้นิปปอน สตีลเข้าผนวกกิจการยูเอส สตีล รวมทั้งเรียกร้องวอชิงตันขจัดความกังวลที่ว่า การตัดสินใจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอนาคตระหว่างสองประเทศ

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศการตัดสินใจดังกล่าวโดยอ้างอิงความจำเป็นด้านยุทธศาสตร์ในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เรียกเสียงวิจารณ์รุนแรงจากทั้งสองบริษัท รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น

ทั้งนี้ คณะกรรมการของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุฉันทมติว่า การเข้าซื้อกิจการยูเอส สตีล มูลค่า 14,900 ล้านดอลลาร์จะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติหรือไม่ และส่งมอบอำนาจการตัดสินใจให้ไบเดนที่เหลือเวลาในทำเนียบขาวอีกเพียงไม่กี่วัน

วันจันทร์ (6 ม.ค.) นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ กล่าวว่า การตัดสินใจของไบเดนจุดชนวนความกังวลในหมู่ผู้ผลิตของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกาในอนาคต และแม้เป็นการไม่เหมาะสมที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัทที่กำลังถูกตรวจสอบภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นขอเรียกร้องอย่างจริงจังให้วอชิงตันดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อปัดเป่าความกังวลเหล่านี้ ตลอดจนถึงอธิบายอย่างชัดเจนว่า เหตุใดจึงมีความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หรือเหตุใดการหารือเพิ่มเติมจึงจะไม่ได้ผล ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและอเมริกาต่างเป็นนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญของกันและกัน

มีรายงานว่า นิปปอน สตีลจะจัดแถลงข่าวในวันอังคาร (7 ม.ค.) วันเดียวกับที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนญี่ปุ่นต่อจากทริปเกาหลีใต้

การตัดสินใจของไบเดนมีขึ้นภายหลังการถกเถียงยาวนานเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศ ข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจและการค้า

ไบเดนที่ฟื้นฟูฐานการผลิตของอเมริกา วิจารณ์ดีลนี้มานานหลายเดือนควบคู่กับการระงับการดำเนินการที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับโตเกียว

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ม.ค.) ไบเดนกล่าวว่า การซื้อกิจการยูเอส สตีลจะทำให้หนึ่งในผู้ผลิตเหล็กกล้าใหญ่ที่สุดของอเมริกาอยู่ภายใต้การควบคุมของต่างชาติ และทำให้เกิดความเสี่ยงกับความมั่นคง รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานสำคัญของประเทศ

สหภาพแรงงานยูไนเต็ด สตีลเวิร์กเกอร์สยินดีกับการประกาศของไบเดน โดยระบุว่า เป็นการดำเนินการที่กล้าหาญเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กกล้าภายในประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป

นิปปอน สตีล และยูเอส สตีลกลับมองว่า การตัดสินใจดังกล่าวสะท้อนการละเมิดหลักการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรมญี่ปุ่นวิจารณ์ว่า “ไม่สามารถเข้าใจได้”

นิปปอน สตีลยืนยันว่า การผนวกกิจการเป็นการช่วยเหลือยูเอส สตีลที่ผ่านยุครุ่งเรืองมานานแล้ว แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเตือนว่า นิปปอน สตีลอาจลอยแพพนักงาน

การตัดสินใจคัดค้านดีลนี้ได้รับความเห็นชอบจากทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันแบบที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และว่าที่รองประธานาธิบดี ไม่เห็นด้วยกับการขายกิจการยูเอส สตีลเช่นเดียวกัน

หอการค้าอเมริกาตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญและไว้วางใจได้สนับสนุนการสร้างงานเกือบ 1 ล้านตำแหน่งในอเมริกา และเตือนว่า การตัดสินใจของไบเดนอาจส่งผลกระทบแง่ลบต่อการลงทุนของประเทศต่างๆ ในอเมริกา

ริวโนซูเกะ ชิบาตะ นักวิเคราะห์ของเอสบีไอ ซีเคียวริตี้ส์ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ไม่ได้เข้าซื้อยูเอส สตีล แต่นิปปอน สตีลยังสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตประจำปีในระยะกลางได้ และในอนาคตบริษัทแห่งนี้อาจมีโอกาสเข้าซื้อบริษัทอเมริกันหรือลงทุนเพื่อสร้างฐานการผลิตในอเมริกา

เขายังบอกอีกว่า กลยุทธ์การเติบโตจากการลงทุนในอเมริกาของนิปปอน สตีลจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และบริษัทยังคงเสริมสร้างความสามารถในการผลิตในอินเดียต่อไป

เคอิไซ โดยุไค หนึ่งในสามกลุ่มธุรกิจใหญ่ของญี่ปุ่น ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการค้าที่อิงกับลัทธิกีดกันการค้ามีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นภายใต้คณะบริหารของทรัมป์ และสำทับว่า ในบริบทของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นควรเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวทางเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพิงอเมริกาทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น