นายกรัฐมนตรี โรเบิร์ต ฟิโก แห่งสโลวะเกียขู่จะตัดเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนกว่า 130,000 คน ท่ามกลางข้อพิพาทกับรัฐบาลเคียฟในเรื่องการลำเลียงก๊าซจากรัสเซียที่ทวีความรุนแรงขึ้น
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. รัฐบาลยูเครนได้ปิดท่อส่งก๊าซที่ถูกใช้ในการลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้ามายังภูมิภาคยุโรปกลางมานานหลายสิบปี
ที่ผ่านมา สโลวะเกียถือเป็นหนึ่งในจุดทางเข้าหลัก (main entry point) ของก๊าซจากรัสเซีย และคาดว่าจะต้องสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมทรานซิตนับร้อยๆ ล้านยูโร
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประเมินเมื่อเดือน ธ.ค. ว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวยูเครนอาศัยอยู่ในสโลวะเกีย 130,530 คน จากทั้งหมดที่กระจัดกระจายไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 6,813,900 คน
ฟิโก ซึ่งได้เดินทางไปเยือนมอสโกเมื่อเดือน ธ.ค. เพื่อหารือกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ออกมาประณามการกระทำของเคียฟว่าเป็นการ “ก่อวินาศกรรม” (sabotage) แถมยังขู่จะระงับการส่งออกไฟฟ้าไปยังยูเครน และจะหั่นเงินสนับสนุนผู้ลี้ภัยชาวยูเครนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศของตน “ลงอย่างมาก” ด้วย
ทั้งนี้ ผู้นำสโลวะเกียระบุว่าประเทศของเขาไม่ได้เสี่ยงเผชิญปัญหาขาดแคลนก๊าซ เนื่องจากได้เตรียมทางเลือกอื่นๆ ไว้แล้ว แต่การที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ตัดสินใจปิดท่อส่งก๊าซจะทำให้สโลวะเกียต้องสูญเสียค่าธรรมเนียมทรานซิตที่เคยได้จากประเทศอื่นๆ เป็นเงินถึง 500 ล้านยูโร
ฟิโก ระบุว่า พรรคของเขาเริ่มหารือความเป็นไปได้ที่จะ “ระงับส่งออกไฟฟ้า” ให้ยูเครน และจะ “ลดเงินสนับสนุนผู้ลี้ภัยยูเครนในสโลวะเกียลงอย่างมาก” ด้วย
“ทางเลือกเดียวสำหรับสโลวะเกียในฐานะรัฐเอกราชก็คือรื้อฟื้นการทรานซิต หรือไม่ก็เรียกร้องกลไกชดเชยเงินรายได้สาธารณะที่เราสูญเสียไป” เขากล่าว
เดือนที่แล้ว เซเลนสกี ออกมาวิจารณ์ผู้นำสโลวะเกียว่ากำลังช่วย ปูติน “หาเงินเป็นทุนทำสงคราม และบั่นทอนความเข้มแข็งของยูเครน”
รัฐบาลโปแลนด์ได้เสนอที่จะช่วยเหลือเคียฟในกรณีที่ถูกสโลวะเกียระงับส่งออกไฟฟ้าให้ โดยพลังงานไฟฟ้านั้นถือว่าสำคัญยิ่งยวดสำหรับยูเครน ซึ่งยังคงถูกรัสเซียยิงโจมตีโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
ข้อตกลงส่งผ่านก๊าซกรอบเวลา 5 ปีระหว่างรัสเซียและยูเครนหมดอายุลงเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเคียฟได้ประกาศย้ำมาหลายครั้งว่าจะไม่ต่ออายุข้อตกลงท่ามกลางสงคราม
ทั้งนี้ รัสเซียยังคงสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านทางฮังการี ตุรกี และเซอร์เบีย โดยใช้สายท่อส่งเติร์กสตรีม (TurkStream) ที่ข้ามผ่านทะเลดำ
ที่มา : BBC