ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เรียกประชุมระดับสูงเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อเมริกาจะปฏิบัติการทางทหารกับที่ตั้งนิวเคลียร์ของอิหร่าน ตามรายงานของ Axios เว็บไซต์ข่าวสัญชาติอเมริกา อ้างอิงแหล่งข่าวหลายคน
รายงานข่าวของ Axios ระบุว่า การหารือเกี่ยวกับเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนฉุกเฉินรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในขณะที่อิหร่านขยับเข้าใกล้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก่อน ไบเดน จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม
แหล่งข่าวระบุว่า เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ นำเสนอทางเลือกต่างๆ แก่ ไบเดน ระหว่างการประชุม แต่ประธานาธิบดีรายนี้ไม่ได้อนุมัติความเคลื่อนไหวใดๆ และไม่ได้หารือด้วยความกระตือรือร้นเกี่ยวกับปฏิบัติการโจมตีทางทหาร
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ชี้แจงว่าการประชุมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากข่าวกรองใหม่ๆ แต่มีเป้าหมายเพื่อประเมิน "แผนการในกรณีต่างๆ อย่างรอบคอบ" หากอิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมสู่ระดับเกรดอาวุธ
Axios ระบุคณะที่ปรึกษาของไบเดน หารือกันว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางมีความชอบธรรมที่จะเข้าแทรกแซงแล้วหรือไม่ หรือ ไบเดน มีความจำเป็นหรือเหมาะสมแล้วหรือเปล่า ที่จะทำการโจมตี ทั้งนี้แม้บางส่วนภายในที่ประชุมจะโต้แย้งอยากให้ลงมือโจมตีอย่างฉับพลัน ในขณะที่การป้องกันตนเองและอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคอ่อนแอลง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่มีคำชี้แนะใดๆ
หนังสือพิมพ์ไทม์สออฟอิสราเอล รายงานว่า อิสราเอล เชื่อเช่นกันว่าอิหร่านกำลัง "โดดเดี่ยว" ตามหลังประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียถูกขับไล่ และฮิซบอลเลาะห์ พันธมิตรหลักของพวกเขาในภูมิภาคประสบความอ่อนแอลงอย่างมาก จากการรุกรานของกองกำลังป้องกันตนเองแห่งอิสราเอลเมื่อเร็วๆ นี้ สถานการณ์ดังกล่าวอาจผลักให้อิหร่านเร่งโครงการนิวเคลียร์ และอิสราเอลควรใช้โอกาสนี้ทำการชิงลงมือโจมตีก่อน
เมื่อวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.) รัฐบาลอิหร่านเน้นย้ำจุดยืนว่าพวกเขากำลังแสวงหาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พร้อมเปิดกว้างสำหรับเจรจารอบใหม่ ตราบใดที่เตหะรานได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ จากคำยืนยันของอับบาส อารักชี รัฐมนตรีต่างประเทศ
รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน เตือนว่ามาตรการคว่ำบาตรจะไม่ได้ผลกับสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย "กดดันขั้นสูงสุด" ที่เคยถูกใช้ครั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาในสมัยแรก
"ยิ่งพวกเขากำหนดมาตรการคว่ำบาตรและกดดันอิหร่านมากเท่าไหร่ อิหร่านก็จะยิ่งแสดงความขัดขืนมากขึ้น" อารากชีกล่าว พร้อมเรียกร้องให้บรรดาชาติตะวันตกปฏิบัติกับประเทศของเขาด้วยความจริงใจ "ถ้าพวกเขาเลือกที่จะเจรจาอย่างยุติธรรมและให้เกียรติ และพูดจาด้วยความเคารพ เราจะตอบสนองแบบเดียวกัน"
อิหร่านปฏิเสธมาช้านานว่าไม่มีความทะเยอทะยานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เน้นย้ำว่ากิจกรรมนิวเคลียร์ของพวกเขามีจุดประสงค์รับใช้พลเรือน ในปี 2015 เตหะรานบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับบรรดาชาติมหาอำนาจ ที่เรียกว่า ข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม(Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) ซึ่งจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แลกกับการปลดเปลื้องมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น ถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว นับตั้งแต่นั้น อิหร่าน ได้ยกระดับศักยภาพเสริมสมรรถนะยูเรเนียม และจนถึงตอนนี้ความพยายามกอบกู้ข้อตกลงดังกล่าวประสบความล้มเหลว
เมื่อเดือนที่แล้ว ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ เน้นย้ำว่า อิหร่านเร่งเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ขึ้นอย่างมาก สู่ระดับความบริสุทธิ์ 60% พร้อมเรียกมันว่าเป็นพัฒนาการที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)