xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา ‘รัสเซีย’ส่งเที่ยวบินพิเศษเดินทางไป ‘วอชิงตัน’ ช่วงท้ายปี 2024 หรือเจรจาลับสหรัฐฯ-รัสเซียเพื่อยุติสงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้นแล้ว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


เครื่องบิน อิล-96 ลำที่เป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีรัสเซีย  หนึ่งในฝูงเครื่องบินซึงอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ “กองบินเที่ยวบินพิเศษรัสเซีย”
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A special Russian flight to Washington
by Stephen Bryen
31/12/2024

เที่ยวบินพิเศษที่ใช้เครื่องบินโดยสารแบบอิล-96 ซึ่งสังกัดอยู่กับกองบินเที่ยวบินพิเศษของรัสเซีย เดินทางจากแดนหมีขาวมายังสหรัฐฯโดยแวะที่นิวยอร์กและวอชิงตัน ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดข่าวลือสะพัดแบบตั้งข้อสงสัยว่า หรือการเจรจาลับระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซียเพื่อปิดฉากสงครามยูเครน กำลังเริ่มต้นขึ้นมาแล้ว?

เครื่องบิน อิล-96 (Il-96) ลำหนึ่งของกองบินเที่ยวบินพิเศษ (Special Flight Squadron) รัสเซีย เดินทางออกจากกรุงมอสโกเมื่อเวลา 09.19 น.ในตอนเช้า โดยมุ่งไปยังนครเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก และลงจอดที่นั่นในเวลา 10.16 น. พอถึง 12.15 น. มันก็ออกจากเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก เพื่อมาที่นิวยอร์ก เที่ยวบินนี้ใช้เวลา 11 ชั่วโมง 52 นาที โดยมาถึง ณ เวลา 12.10 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม

มันจะออกจากนิวยอร์กในเวลา 08.34 น. และมาถึงกรุงวอชิงตันเมื่อเวลา 09.27 น. หลังจากเดินทางโดยใช้เวลา 53 นาที เครื่องบินลำนี้จะอยู่ในกรุงวอชิงตันจนกระทั่งถึงช่วงบ่าย โดยออกจากท่าอากาศยานดัลเลส (Dulles Airport) ของเมืองหลวงสหรัฐฯ ในเวลา 16.49 น.


ตามการแถลงของ มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาว เที่ยวบินนี้จัดขึ้นมาเพื่อจัดส่งพวกนักการทูตรัสเซียเดินทางไปยังสหรัฐฯ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการดำรงตำแหน่งของพวกนักการทูตตามที่มีการกำหนดกันเอาไว้แล้ว

มีแง่คิดว่า ถ้าหากจริงๆ แล้ว เที่ยวบินนี้เป็นการนำเอาพวกคณะผู้เจรจาอย่างเป็นทางการระดับสูงของรัสเซียไปยังวอชิงตันเพื่อการพบปะพูดคุยกันกับฝ่ายสหรัฐฯ การพบปะเจรจาดังที่ว่านี้ก็อาจจะมีเวลาสนทนากันแค่ไม่เกินสองสามชั่วโมง เนื่องจากการเดินทางจากสนามบินดัลเลสไปยังแถวกลางกรุงวอชิงตันนั้นกินเวลาราว 50 นาทีเข้าไปแล้ว อย่างไรก็ดี การพบปะอาจจะจัดขึ้นที่ท่าอากาศยานเสียเลยก็ได้ ซึ่งเป็นการปิดกั้นการรั่วไหลที่อาจนำไปสู่การติดตามเสนอข่าวของสื่อมวลชนไปด้วยในตัว ถ้าหากฉากทัศน์นี้ปรากฏออกมาว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว มันก็จะมีเวลาราว 4 ชั่วโมงทีเดียวสำหรับการพบปะเจรจากัน รวมทั้งในช่วงของการรับประทานอาหารกลางวันด้วย


ไม่ว่าจะเป็นยังไง สิ่งที่พูดมานี้ก็ยังคงเป็นการคาดเดาอย่างสิ้นเชิงว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง กระนั้น เมื่อพิจารณาการพูดจาให้ความเห็นต่างๆ จากทั้งสองฝ่ายก็มีบางอย่างที่ระบุบ่งชี้ว่า บางทีอาจจะมีการตระเตรียมกันแล้วเพื่อจัดการพบปะหารือกันระหว่าง ทรัมป์ กับ ปูติน เสียตั้งแต่เนิ่นๆ โดยที่มีการเสนอสถานที่ต่างๆ หลายแห่งสำหรับการพบปะกันดังกล่าว แต่แน่นอนทีเดียวว่าไม่ว่าจะเป็นสถานที่แห่งไหน สิ่งซึ่งจำเป็นจะต้องกระทำให้ได้ก็คือว่า ผู้นำทั้งสองจะต้องได้รับความคุ้มครองป้องกัน ได้รับการรักษาความปลอดภัยระดับสูงมากๆ

นี่จึงทำให้เหลือเพียงทางเลือกซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมาแต่ไหนแต่ไร อาทิเช่น เจนีวา และเมืองอื่นๆ ที่รวมไปถึงกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ และกรุงอาบูดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ปูตินนั้นได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกมากในอาบูดาบีเมื่อเดือนธันวาคมปี 2023 เวลาเดียวกัน ฝ่ายรัสเซียตอนนี้ก็แสดงความใส่ใจบ่มเพาะสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับทางยูเออี และซาอุดีอาระเบีย

ในอีกด้านหนึ่ง กาตาร์ คือเจ้าบ้านที่ให้กองทัพอากาศสหรัฐฯเข้าไปตั้งฐานทัพใหญ่ที่ อัล-อูเดอิด (al-Udeid) ซึ่งทำหน้าที่เป็นกองบัญชาการส่วนหน้าของกองบัญชาการทหารด้านกลาง (CENTCOM) ของสหรัฐฯด้วย นี่อาจเป็นเหตุทำให้กาตาร์ถูกขีดฆ่าชื่อออกไป เนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคงปลอดภัยในสายตาของฝ่ายรัสเซีย

เครื่องบิน อิล-96 ที่ถูกส่งจากมอสโกมายังวอชิงตันลำนี้ สังกัดอยู่กับกองบินเที่ยวบินพิเศษรัสเซีย ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันดีเช่นกันในอีกชื่อหนึ่ง นั่นคือ หน่วยแยกด้านการบินที่ 235 (the 235th Separate Aviation Detachment)

หน่วยแยกหน่วยนี้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1956 ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการลอกเลียนแบบสหรัฐฯ ในการนำเอาเครื่องบินพาณิชย์มาดัดแปลงเป็นพิเศษเพื่อใช้สำหรับการเดินทางของพวกเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัสเซีย อันรวมไปถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ด้วย

ทั้งนี้ หน่วยแยกหน่วยนี้มีเครื่องบิน อิล-96 ที่มีพิสัยทำการไกลอยู่ในความดูแลเป็นจำนวน 13 ลำ และเครื่องบิน ตู-214 (Tu-214) อีก 5 ลำ ปกติแล้วหน่วยแยกนี้ตั้งฐานอยู่ ณ ท่าอากาศยานวนูโคโว (Vnukovo airport) ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมอสโก ตู-214 นั้นเป็นเครื่องบินสองเครื่องยนต์ลำตัวแคบพิสัยปานกลาง

อิล-96 แบบที่ใช้งานโดยปูตินนั้น ได้รับการขนานนามหมายเลขรุ่นเป็นการเฉพาะว่า อิล-96-300 พียู (Il-96-300PU) ถือเป็นเครื่องบินหลักสำหรับประธานาธิบดีของรัสเซีย เครื่องบินไอพ่นลำนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ 4 เครื่อง และมีลำตัวกว้าง การตกแต่งภายในมีการดัดแปลงอย่างเป็นพิเศษสำหรับรองรับการใช้งานของบุคคลระดับวีไอพี

เกี่ยวกับการหาทางยุติสงครามยูเครนนั้น เวลานี้ระหว่างวอชิงตันกับมอสโกยังคงมีช่วงห่างในความเข้าใจกันเป็นอย่างมาก มันไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการพบปะเจรจากันขึ้นมาได้เลย ถ้าหากไม่มีการหาทางลดทอนช่องว่างนี้เสียก่อน

ช่วงห่างดังกล่าวนี้ ครอบคลุมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการปรากฏตัวในระยะยาวของนาโต้ในยูเครน, ประเด็นปัญหาทางด้านดินแดน, การลดทอนกำลังทหารของยูเครน, การปฏิบัติต่อพวกผู้คนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครน, สถานะของคริสตจักรออโธดอกซ์รัสเซีย (Russian Orthodox Church) ในยูเครน, และการใช้ท่าเรือและสนามบินต่างๆ ในยูเครนสำหรับการส่งออกธัญพืชของยูเครน ตลอดจนการขนส่งก๊าซและน้ำมันรัสเซียผ่านทางสายท่อส่งซึ่งพาดผ่านยูเครน เพื่อไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป, การกำหนดเส้นเขตแดนแสดงอาณาเขตระหว่างยูเครนกับรัสเซีย, และกรอบโครงของความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียในอนาคต, รวมไปทั้งความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับสหภาพยุโรป

ไม่เพียงเท่านี้ เรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ยังรวมไปถึงมาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรที่สหรัฐฯกับยุโรปประกาศใช้เล่นงานรัสเซีย ตลอดจนประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงหลายหลากที่เกี่ยวข้องกับนาโต้และรัสเซีย

เรายังควรคาดหมายเอาไว้ด้วยว่าจะต้องมีการทำข้อตกลงซึ่งรวมเอาขั้นตอนต่างๆ ที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องกระทำ เพื่อเป็นการลดทอนขนาดขอบเขตของการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ลงมา นี่ย่อมครอบคลุมถึงข้อตกลงที่รัสเซียจะต้องยุติการถล่มโจมตีทางอากาศใส่โครงสร้างพื้นด้านด้านพลังงานของฝ่ายยูเครน และการที่ฝ่ายยูเครนต้องยุติการโจมตีเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย (รวมทั้งอาจจะต้องครอบคลุมถึงข้อเรียกร้องให้ถอนกำลังทหารยูเครนออกมาจากแคว้นคูร์สก์ ของรัสเซีย)

มาตรการเหล่านี้จะเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างพวกผู้มีบทบาทหลักในการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ อย่างไรก็ดี เอาเข้าจริงแล้ววอชิงตันสามารถควบคุมยูเครนได้มากน้อยแค่ไหน ยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบชัดเจน

วอชิงตันนั้นจำเป็นที่จะต้องสร้างเสถียรภาพขึ้นมาในยุโรปตะวันตก ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคดังกล่าวกำลังใกล้ที่จะพังครืน โดยเฉพาะทางเยอรมนีที่ถึงขั้นกำลังใกล้ที่จะต้องปิดทำการพวกโรงงานผลิตรถยนต์กันแล้ว ทั้งนี้ประเด็นปัญหาสำคัญยิ่งยวดก็คือการจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาอยู่ในระดับสามารถแบกรับไหวมาใช้งาน

สายท่อส่งก๊าซ นอร์ดสตรีม (Nord Stream) ที่ถูกทำลายเสียหายไปนั้น หลายๆ ส่วนสามารถที่จะซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ ถ้าหากสหรัฐฯต้องการที่จะเดินหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อลดทอนแรงบีบคั้นที่เยอรมนีกำลังเผชิญอยู่ ในทำนองเดียวกัน การขนถ่ายก๊าซรัสเซียผ่านสายท่อส่งซึ่งสร้างพาดผ่านยูเครนก็จำเป็นที่จะต้องกลับมาเปิดบริการใหม่โดยเร็ว ทรัมป์นั้นสามารถที่จะเดินหน้าต่อรองจัดทำข้อตกลงขึ้นมาซึ่งเป็นการฟื้นชีพการให้บริการต่างๆ เหล่านี้บางส่วนให้กลับใช้งานได้ใหม่ รวมทั้งยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นบางอย่างบางประการ ในฐานะเป็นมาตรการแห่งการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับปูติน

มีไพ่จำนวนมากทีเดียววางอยู่โต๊ะ ที่สามารถนำมาใช้ต่อรองหาช่องรอมชอมกันได้ ถ้าหากพวกผู้เข้าเจรจามีความพรักพร้อมที่จะทำดีลกัน ฝ่ายรัสเซียเวลานี้ใกล้เต็มทีที่จะเข้ายึดเมืองชาซิฟ ยาร์ (Chasiv Yar) รวมทั้งไม่ได้อยู่ห่างจากเมืองโปครอฟสก์ (Pokrovsk) ฮับการขนส่งแห่งสำคัญ เวลานี้ดูเหมือนว่ารัสเซียจะเร่งผลักดันหนักเพื่อให้ฝ่ายยูเครนประสบความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ในทั้งสองเมืองนี้ บางทีอย่างมากที่สุดอาจจะภายในระยะเวลาสองสามสัปดาห์นับจากนี้

หากรัสเซียทำได้สำเร็จ มันก็จะทำให้ ปูติน มีความได้เปรียบอย่างสำคัญมากในการเจรจาต่อรอง และกระตุ้นให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องพยายามเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อนำสงครามคราวนี้เข้าสู่จุดจบ ก่อนที่รัฐบาลเซเลนสกีจะล้มคว่ำลงในที่สุด

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ

ข้อเขียนนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น