xs
xsm
sm
md
lg

หมดกัน! เยอรมนียอมรับสู้ไม่ไหว ไร้ทางต่อกรขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ระบบป้องกันภัยทางอากาศของเยอรมนี ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปกป้องประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจากขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกใหม่ของรัสเซีย "โอเรสนิก" ตามรายงานของสำนักข่าวบิลด์ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว อ้างอิงผลการวิเคราะห์ภายในที่จัดเตรียมโดยกระทรวงการต่างประเทศเบอร์ลิน

โอเรสนิก ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวพิสัยปานกลาง ซึ่งสามารถบรรทุกหัวรบได้หลายชนิด ในนั้นรวมถึงหัวรบนิวเคลียร์ ถูกใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ครั้งที่รัสเซียโจมตีที่ตั้งอุตสาหกรรมทหารยูซมาสช์ของยูเครน ในเมืองดริโปร ในความเห็นเกี่ยวกับปฏิบัติการโจมตี ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย อ้างว่ามันสามารถพุ่งไปด้วยความเร็วเหนือเสียง 10 เท่า และไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศใดๆ ในปัจจุบันที่จะสามารถสกัดได้

ในบทความที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (27 ธ.ค.) หนังสือพิมพ์บิลด์ รายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาเป็นการภายใน เกี่ยวกับศักยภาพในการป้องกันภัยทางอากาศของเบอร์ลินและเคียฟ ที่อาจต้องเผชิญกับภัยคุกคามขีปนาวุธแบบทิ้งตัวหนึ่งๆ

บิลด์ระบุว่า ผลสรุปของการศึกษาคือ "เยอรมนีจะไร้ซึ่งหนทางป้องกันตนเองจากการถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธโอเรสนิก" ขณะที่ในเอกสารยังเตือนด้วยว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตที่ผลิตโดยสหรัฐฯ "ก็ไม่เหมาะสมสำหรับใช้ตอบโต้ขีปนาวุธแบบทิ้งตัวพิสัยไกล อย่างเช่นขีปนาวธโอเรสนิกเช่นกัน"

รายงานการวิเคราะห์ของกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีเน้นย้ำด้วยว่า "เนื่องจากความเร็วและการบินหลบหลีกของขีปนาวุธรัสเซีย ความเป็นไปได้ของการยิงสกัดใดๆ อาจจำเป็นต้องพึ่งพาโชคไม่น้อย"

อย่างไรก็ตาม รายงานะบุว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศแอร์โรว์ ที่ผลิตโดยอิสราเอล ที่ทางเบอร์ลินสั่งซื้อเมื่อปีที่แล้ว อาจช่วยปิดช่องโหว่ดังกล่าวได้

เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ธ.ค.) ปูติน บอกว่าแม้รัสเซียมีระบบโอเรสนิกไม่มากเท่าไหร่ และยังไม่เร่งรีบใช้งานมัน แต่มอสโกไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะใช้มันในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ถ้าจำเป็น กระนั้น ประมุขวังเครมลินระบุว่าขีปนาวุธรุ่นนี้ข้าสู่การผลิตแบบต่อเนื่องแล้ว และยืนยันว่าจะส่งหน่วยขีปนาวุธดังกล่าวจำนวนหนึ่งเข้าประจำการในเบลารุส พันธมิตรของรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "ผมคิดว่าเราจะได้ราว 10 หน่วยในตอนนี้ จากนั้นเราจะต้องรอดูอีกที"

เมื่อช่วงต้นเดือน ปูติน ระบุว่าความเคลื่อนไหวพัฒนาขีปนาวุธโอเรสนิก มีขึ้นเพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่ตัดสินใจประจำการขีปนาวุธพิสัยกลางในยุโรปตะวันตก

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น