xs
xsm
sm
md
lg

ยังเคืองไม่หาย! ทรัมป์เล็งถอน US จากอนามัยโลกตั้งแต่วันแรก แค้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมเปลี่ยนผ่านของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หวังถอนอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่วันแรกของรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเท่ากับเป็นการตัดกระแสเงินหลักที่ป้อนแก่หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส อ้างอิงพวกผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์

รายงานของไฟแนนเชียลไทม์สที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) ระบุคณะทำงานของทรัมป์ บอกกับพวกผู้เชี่ยวชาญว่าพวกเขามีความตั้งใจแถลงถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก ในวันสาบานตน วันที่ 20 มกราคม แม้บางส่วนในคณะทำงานอยากเห็นสหรัฐฯ อยู่ในองค์การอนามัยโลกต่อไป เพื่อผลักดันการปฏิรูปในองค์กร แต่อีกส่วนหนึ่งหวังตัดความสัมพันธ์ และมีข่าวว่าฝ่ายหลังได้รับชัยชนะในประเด็นโต้เถียงดังกล่าว

ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานอ้าง อาชิช จา อดีตผู้ประสานงานรับมือโควิด-19 ของทำเนียบขาว ระบุว่าคณะทำงานต้องการเห็น ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การอนามัยโลกตั้งแต่วันแรก เพราะมันจะได้เป็น "สัญลักษณ์" ย้อนศรความเคลื่อนไหวในวันสาบานตนของโจ ไบเดน เอง

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 ไบเดน กลับมาสานสัมพันธ์ใหม่กับองค์การอนามัยโลก หลังจาก ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีคนก่อนหน้าริเริ่มกระบวนการถอนสหรัฐฯ ออกจากหน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ ในกระบวนการที่เป็นไปตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของเขา ที่มีต่อการรับมือโรคระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในปี 2020 ขององค์การอนามัยโลก

"อเมริกากำลังทิ้งไว้ซึ่งสุญญากาศขนาดใหญ่ในเรื่องเงินทุนและความเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขโลก ผมไม่เห็นว่าจะมีใครเข้ามาเติมเต็มช่องโหว่นี้ได้" ลอว์เรนซ์ กอสติน ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขโลก แห่งสถาบันจอร์ทาวน์ ลอว์ ให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียลไทม์ส "แผนถอนตัวตั้งแต่วันแรก จะเป็นหายนะ"

องค์การอนามัยโลกเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ที่ทำหน้าที่ในฐานะองค์การประสานงานในประเด็นสาธารณสุขระหว่างประเทศ หน่วยงานแห่งนี้ได้รับเงินทุนจากค่าธรรมเนียมของรัฐสมาชิก เช่นเดียวกับการสนับสนุนโดยสมัครใจ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดขององค์การอนามัยโลกมานานหลายทศวรรษ ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด พบว่าปัจจุบัน อเมริกาเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในหมู่มวลสมาชิก

ในปี 2020 ทรัมป์ กล่าวหาองค์การอนามัยโลกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น กล่าวหาปักกิ่งกดดันองค์กรแห่งนี้ให้ "ชี้นำโลกผิดๆ" เกี่ยวกับไวรัส และประกาศสั่้งการให้อเมริกาหันไปมอบเงินทุนสนับสนุนองค์กรการกุศลด้านสาธารณสุขระดับโลกอื่นๆ แทน

ภายใต้มติของสภาคองเกรสในปี 1948 สหรัฐฯ สามารถถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกได้ แต่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี และต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทีมงานของทรัมป์ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยตรงเกี่ยวกับรายงานข่าวความเป็นไปได้ในการถอนตัว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ทรัมป์ เสนอชื่อ โรเบิร์ต เอฟ.เคนเนดี ผู้เคลือบแคลงต่อวัคซีนมาช้านาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนสหรัฐฯ โดย เคนเนดี เป็นหนึ่งในพวกที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิด-19 ที่บังคับใช้โดยรัฐบาลทั่วโลก ที่เรียกว่า "การล็อกดาวน์" เช่นเดียวกับคำแนะนำให้ใช้วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างเร่งด่วน

(ที่มา : ไฟแนนเชียลไทม์ส/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น