ฮอนด้า-นิสสัน ตกลงเริ่มการเจรจาควบรวมกิจการ โดยที่มิตซูบิชิ มอเตอร์อาจร่วมวงด้วยในภายหลัง นับเป็นจุดหักเหครั้งประวัติศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ก็เป็นการตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในวงการรถยนต์โลก ซึ่งพวกบริษัทอีวีจีนที่ขี่กระแสยานยนต์เทคโนโลยีใหม่ กำลังเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของพวกผู้ผลิตรถยนต์หน้าเดิมชื่อดังที่สุดหลายๆ แห่ง
การควบรวมระหว่างฮอนด้ากับนิสสันที่อาจเกิดขึ้นมา จะทำให้เกิดกลุ่มกิจการยานยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกในแง่ยอดขาย รองจากโตโยต้าของญี่ปุ่น และโฟล์คสวาเกนแห่งเยอรมนี โดยที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทญี่ปุ่นทั้ง 2 รายนี้ ได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดรุนแรงจากพวกบริษัทรถอีวี ไม่ว่าจะเป็นเทสลา ของอีลอน มัสก์ หรือพวกคู่แข่งจีนอย่างเช่นบีวายดี ที่มีความปราดเปรียวคล่องตัวสูง
การควบรวมกิจการระหว่างสองแบรนด์ดังคือ ฮอนด้าและนิสสัน ค่ายรถอันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่น ยังจะเป็นการปรับโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์โลกครั้งใหญ่ที่สุดนับจากการควบรวมระหว่างเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิล กับ พีเอสเอในปี 2021 ที่กลายมาเป็นค่ายสเตลแลนทิส ภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 52,000 ล้านดอลลาร์
จากคำแถลงร่วมเมื่อวันจันทร์ (23 ธ.ค.) ฮอนด้าและนิสสันระบุว่าได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อเริ่มต้นการหารือในการควบรวมกิจการ และมิตซูบิชิ มอเตอร์ ที่เวลานี้นิสสัน เป็นผู้ถือหุ้นสำคัญ ก็กำลังพิจารณาเข้าร่วมด้วย
โทชิฮิโร มิเบะ ซีอีโอฮอนด้า ยอมรับว่า การผงาดขึ้นมาของพวกบริษัทรถจีนและผู้เล่นใหม่ๆ ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนแปลงไปมาก บริษัทจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นเหล่านั้นภายในปี 2030 ไม่เช่นนั้นอาจแพ้ราบคาบ
ฮอนด้าและนิสสันคาดว่า กิจการที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมจะมียอดขาย 30 ล้านล้านเยน (91,000 ล้านดอลลาร์) และกำไรจากการดำเนินงานกว่า 3 ล้านล้านเยน โดยเล็งว่าจะสรุปการหารือภายในเดือนมิถุนายนปีหน้า และจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งในเดือนสิงหาคม ซึ่งถึงตอนนั้นทั้งสองบริษัทจะถอนหุ้นออกจากตลาด
ทั้งนี้ ฮอนด้ามีมูลค่าตามราคาตลาดกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนนิสสันราว 10,000 ล้านดอลลาร์
เมื่อปี 2023 ฮอนด้าผลิตรถได้ 4 ล้านคัน นิสสัน 3.4 ล้านคัน และมิตซูบิชิ มอเตอร์กว่า 1 ล้านคัน
เบื้องต้นนั้นฮอนด้าจะเป็นผู้แต่งตั้งประธานของบริษัทโฮลดิ้ง รวมถึงสมาชิกส่วนใหญ่ในคณะกรรมการบริหาร แต่จะยังคงหลักการและแบรนด์ของแต่ละบริษัทเอาไว้
ซีอีโอฮอนด้าชี้ว่า มีหลายประเด็นที่ยังต้องศึกษาและหารือร่วมกัน รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่การควบกิจการอาจไม่เกิดขึ้น เขายังยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การเข้าอุ้มนิสสันที่เมื่อเดือนที่แล้วประกาศปลดพนักงาน 9,000 คน และรายงานกำไรสุทธิช่วง 6 เดือนแรกดิ่งลงถึง 93% แต่เป็นการเติมเติม “แผนการพลิกฟื้นธุรกิจ” ของนิสสัน
ด้าน มาโกโตะ อูชิดะ ซีอีโอนิสสัน ยกย่องความคล่องตัวและความสามารถของฮอนด้าในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม และการเป็นหุ้นส่วนที่สามารถร่วมกันรับมือวิกฤตเกี่ยวกับอนาคต
อูชิดะยอมรับว่า สถานการณ์ของนิสสัน “รุนแรง” พร้อมยืนยันว่า บริษัทไม่ได้รับการติดต่อโดยตรงจากฟ็อกซ์คอนน์ แห่งไต้หวัน
ก่อนหน้านี้ มีข่าวแพร่สะพัดทว่ายังไม่มีการยืนยันว่า การที่ ฮอนด้า และนิสสัน จับมือหารือเพื่อกระชับความร่วมมือใกล้ชิดยิ่งขึ้นอีกคราวนี้ ส่วนหนึ่งได้แรงกระตุ้นจากการที่ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตไอโฟนให้แอปเปิล พยายามติดต่อขอซื้อหุ้นนิสสันจากเรโนลต์ของฝรั่งเศส ที่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของนิสสัน
สำหรับท่าทีของเรโนลต์ต่อความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ แหล่งข่าวเผยว่า เรโนลต์เปิดกว้างในหลักการสำหรับข้อตกลงระหว่างฮอนด้ากับนิสสัน
สื่อหลายสำนักพากันรายงานตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ฮอนด้าและนิสสันกำลังสำรวจแนวทางต่างๆ เพื่อขยายการร่วมมือที่รวมถึงการควบรวมกิจการ
ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนมีนาคม ทั้งสองบริษัทเผยว่า กำลังพิจารณาร่วมมือกันในการพัฒนาอีวีและซอฟต์แวร์ ต่อมาในเดือนสิงหาคมนิสสัน ฮอนด้า และมิตซูบิชิประกาศใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน รวมทั้งร่วมกันวิจัยซอฟต์แวร์สำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติเพื่อปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่รวมศูนย์ที่อีวี
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันจันทร์ คาร์ลอส โกส์น อดีตประธานกรรมการคนดังของนิสสัน ได้จัดแถลงข่าวออนไลน์ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น โดยบอกว่า การจับมือกับฮอนด้าฟ้องว่า นิสสันอยู่ในโหมด “ตื่นตระหนก” และเขาไม่เชื่อว่า แผนการนี้จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากทั้งสองบริษัทไม่ได้เติมเต็มกันและกัน
โกส์น ถูกทางการญี่ปุ่นจับกุมเมื่อปี 2018 ข้อหากระทำผิดทางการเงิน ฉ้อโกง และใช้ทรัพย์สินของนิสสันผิดวัตถุประสงค์ แต่ได้หลบหนีระหว่างได้รับการประกันตัว โดยเวลานี้ไปอาศัยอยู่ในเลบานอนซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอพี)